สื่ออวกาศฉบับแฟนพันธุ์แท้: กรทอง ช่อง KornKT

โดย กองบรรณาธิการ


          ด้วยความหลงใหลใคร่รู้ของเด็กชายคนหนึ่งถึงเรื่องราวของดวงดาวที่เฝ้ามองดูในยามค่ำคืน ส่งเป็นแรงผลักดันให้เขาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม จนกลายมาเป็นตัวตนของ “กรทอง วิริยะเศวตกุล” ในทุกวันนี้

          ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2557 กรทองในวัย 13 ปี ได้ผ่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย รายการแฟนพันธุ์แท้ ตอนระบบสุริยะ กลายเป็นผู้เข้าแข่งขันที่อายุน้อยที่สุดในตอนนั้น และด้วยประสบการณ์อันล้ำค่าที่เกิดขึ้นจากการแข่งขัน ได้หล่อหลอมให้เขาก้าวเข้าสู่เส้นทางของ content creator ผู้สร้างสรรค์ผลงานสื่อออนไลน์ด้านดาราศาสตร์และอวกาศ จนกลายมาเป็นช่อง KornKT ที่มีผู้ติดตามนับแสนในวันนี้

  • ชีวิตในวัยเด็กของเด็กชายกรทองเป็นอย่างไร ?


ภาพจาก Twitter KornKT (@kornkt)

          อันที่จริงชีวิตวัยเด็กผมค่อนข้างเป็นเด็กหลังห้องครับ เราเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้เก่งอะไรมากนัก รู้แค่ว่าชอบดูบอล ชอบดูดาว แต่ยังไม่รู้ว่าจะเอาความชอบเหล่านี้ไปต่อยอดอย่างไร เพราะคงไม่ได้เก่งถึงขั้นไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพหรือขึ้นไปเป็นนักบินอวกาศอยู่นอกโลกได้

          ตอนนั้นเริ่มจากการค้นหาข่าวไปเรื่อย ๆ ก่อนจะเปิดมาเจอรายการแฟนพันธุ์แท้ทางสถานีโทรทัศน์ ททบ. 5 และคิดในใจว่าทางรายการน่าจะมีเรื่องที่เกี่ยวกับอวกาศบ้าง จนไปเจอโดยบังเอิญว่ากำลังเปิดรับสมัครแฟนพันธุ์แท้ ตอนระบบสุริยะอยู่ และก็ไม่รู้ว่าอะไรมาดลใจให้ผมรวบรวมความกล้าไปสมัคร เพราะปกติผมเป็นคนขี้อายมาก แต่ท้ายที่สุดก็ได้เข้าร่วมการแข่งขัน หลังผ่านทั้งข้อเขียนและการสัมภาษณ์ ตอนนี้ก็ยังตื่นเต้นไม่หายครับที่ผ่านเข้ามาถึงรอบ 5 คนสุดท้าย และได้ออกอากาศอย่างที่หลายคนได้รับชมกัน

  • หลังจากนั้นมารวมตัวกับเพื่อน ๆ ที่มีความชื่นชอบดาราศาสตร์และอวกาศ ก่อตั้งเพจอวกาศที่ชื่อ Spaceth.co ขึ้นมาได้อย่างไร ?


ภาพจาก
https://spaceth.co/ignition/

          ผมมองว่าเพื่อน ๆ กลุ่มนี้เป็นคนที่มีความชอบในเรื่องอวกาศ เรียกว่าเป็นเนิร์ดที่คลั่งไคล้ในเรื่องเหล่านี้ เราศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง และมองว่าเราสามารถนำเรื่องราวตรงนี้มาถ่ายทอด เพื่อส่งต่อองค์ความรู้กับแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่นได้ครับ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ Spaceth ขึ้นมา

  • อะไรคือแรงบันดาลใจให้ออกมาทำสื่อออนไลน์ชื่อ KornKT ในแนวทางของตนเอง ?

          มีหลายปัจจัยครับ แต่หลัก ๆ คือมองว่าเราเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาสานต่อ Spaceth และทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะมีคนเก่งอยู่อีกมากมายที่เข้ามาสานต่อและนำ Spaceth ให้ก้าวเดินต่อไปได้

          ผมมองว่าเป้าหมายของทุกคนที่ทำงานด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์หรือสื่อสารดาราศาสตร์ ก็คือการนำข้อมูลมาถ่ายทอดอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะครับ ดังนั้นสุดท้ายเราก็ยังช่วยกันผลักดันวงการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในไทยกันอยู่ดี ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรือจุดไหนก็ตาม

  • ช่วงทำวิทยานิพนธ์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับ ดร.นีล เดอแกรสส์ ไทสัน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง ?

          ตื่นเต้นมากครับที่ตอนนั้นได้โอกาสสัมภาษณ์ ดร.ไทสัน เขาคือหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ผมทำงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังเลย ตอนรู้ว่าได้สัมภาษณ์คือทั้งตื่นเต้น ทั้งดีใจ และพยายามคิดว่าต้องทำให้ดีที่สุดครับ

          พอได้พูดคุยคือรู้เลยว่าเขาเก่งมาก การที่นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์สามารถย่อยประเด็นที่ซับซ้อน มาสรุปให้เห็นภาพได้ง่ายและชัดเจน แถมยังมีวิธีการตอบคำถามที่น่าฟัง น่าติดตามต่อ ส่วนนี้คือจุดที่จะพยายามนำมาปรับใช้ครับ เหมือนได้บทเรียนจากนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลกมาให้เราได้นำไปใช้ต่อเลย

          อีกเรื่องที่เรารู้สึกว่าโชคดีและเป็นเกียรติมาก ๆ คือการได้คุยกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกหลายท่าน เป็นโอกาสที่บางทีอาจมีแค่ครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น ดังนั้นจึงพยายามทำทุกครั้งให้ดีที่สุดครับ และเอามาเป็นบทเรียนไปพัฒนาตัวเอง เพื่อที่เราจะนำองค์ความรู้เหล่านี้มาถ่ายทอดให้กับคนดู ให้กับสาธารณะได้ศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมได้ครับ

  • อยากให้วงการดาราศาสตร์และอวกาศของไทยพัฒนาเรื่องอะไร ?

          ผมมองว่าวงการดาราศาสตร์ไทยมีความพร้อมทางด้านบุคลากร องค์ความรู้ คือเรามีคนเก่งเยอะมาก มีเด็กที่พร้อมเติบโตขึ้นมาขับเคลื่อนวงการนี้อยู่ตลอดเวลา และยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่คอยสนับสนุน ทั้ง NARIT (สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)), GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)), สวทช. และอื่น ๆ อีกมากมาย

          แต่ถึงกระนั้นผมมองว่าเรื่องอวกาศยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากนัก เหมือนยังถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว เลยทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเช่นเดียวกัน คือเรื่องอวกาศมักเป็นกระแสแค่เวลามีข่าวดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก พบเรื่อง UAP (unidentified anomalous phenomena หมายถึง ปรากฏการณ์ทางอากาศที่ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้) หรือข่าวลือชีวิตต่างดาว และปรากฏการณ์อย่างสุริยุปราคาหรือฝนดาวตก ซึ่งที่จริงแล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น และประเทศไทยมีความสามารถจะก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าได้ ทั้งเรื่องของทรัพยากรและองค์ความรู้ครับ

  • การสื่อสารเรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ หรือความรู้วิทยาศาสตร์ทั่ว ๆ ไปของประเทศไทยเป็นอย่างไร ควรจะปรับแก้จุดไหน ?

          ถ้าปัญหาหลักที่ผมเจอมาคือบางทีสื่อกระแสหลักอาจไม่ได้มีความเข้าใจในเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ได้ครบทั้งหมด และอาจมีเนื้อหาบางอย่างที่ถูกบิดเบือนไปจากการแปลและนำเสนอผิดพลาดได้ จนทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดครับ

          ปัจจุบันมีหลายคนที่มาทำงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์แบบจริงจัง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีครับ เพราะมันคือการปรับชุดความคิดจากการแปลข่าวมาทุกตัวอักษร เป็นการถ่ายทอดข้อมูลผ่านองค์ความรู้ที่แต่ละคนถนัดและเชี่ยวชาญ ซึ่งจะถูกต้อง ครอบคลุมและเข้าใจได้ง่ายดายขึ้น

          ส่วนตัวผมมองว่าเรามีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มาทำหน้าที่เชื่อมระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับสาธารณชนได้ครับ เพราะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาวิธีเรียบเรียงและถ่ายทอดข้อมูลได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถทำงานของพวกเขาต่อไปได้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างช่วยกันไป คือผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีถ้านักวิทยาศาสตร์มีทักษะนี้ แต่ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทุกคนต้องทำได้ครับ ต่างคนต่างมีความถนัดไม่เหมือนกัน

  • ตอนนี้ KornKT สามารถติดตามได้ช่องทางไหนบ้าง ?

          ตอนนี้ KornKT มีงานเขียนและวิดีโอลงทุกช่องทางบนโลกออนไลน์เลยครับ ยอดผู้ติดตามรวมทุกช่องทางมากกว่า 700,000 บัญชี สามารถค้นด้วยคำว่า KornKT แล้วจะเจอเลยครับ

          นอกจากนี้ยังมีงานเขียนลง THE STANDARD และงานเขียนเรื่องราวกีฬาที่เป็นความชอบอีกหนึ่งอย่างของผมลงกับ Main Stand ด้วยครับ

  • วางแผนอนาคตของช่อง KornKT ไว้อย่างไร ?

          ผมคงทำงานด้านการสื่อสารดาราศาสตร์ไปเรื่อย ๆ ครับ เหมือนเราติดตามมาตั้งแต่เด็กแล้ว และก็ยังอยากติดตาม หาประเด็นมาเล่าให้ทุกคนฟังอยู่ทุกวัน ถ้าหวังไว้แบบลึก ๆ ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันวงการดาราศาสตร์และอวกาศในประเทศไทยให้เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึง พูดคุยสนทนากันได้ในทุกวันครับ

          ถ้าถามอนาคตของช่อง ก็หวังว่าจะไปถึงล้านผู้ติดตามครับ (หัวเราะ) เพราะส่วนตัวคือตอนเด็กผมพูดไม่ชัด ขี้อาย กลัวกล้อง แต่ฝันอยากมีช่องเป็นของตัวเอง ตอนนี้ก็เหมือนใช้ชีวิตตามฝัน ที่มีทั้งรสชาติขมขื่นและความเจ็บปวดต่าง ๆ มากมาย แต่ก็เป็นฝันที่คอยผลักดันให้เราต้องพยายามอะไรอยู่ตลอดเวลา

          และนี่คือตัวตนของคนรุ่นใหม่ที่ชื่อ “กรทอง วิริยะเศวตกุล” ชายผู้หวังจะเปลี่ยนแปลงวงการสื่อสารดาราศาสตร์และอวกาศในประเทศไทย ให้เป็นสังคมที่ทุกคนพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันได้อย่างสนุกและสร้างสรรค์ เป็นสังคมที่มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีรวมถึงความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างถูกต้องต่อไป …

About Author