ม.มหิดล ยกระดับ ‘วิจัยมวลรวม’ ของชาติ ขึ้นแท่น ‘ผู้นำตรวจสุขภาพสัตว์ทดลอง’

          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “รายได้มวลรวม” ส่วนใหญ่มาจาก “งานวิจัยมวลรวม” ของชาติ และ “งานวิจัยชั้นเลิศ” จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาด “สัตว์ทดลองที่ดีมีคุณภาพ”

          นายสัตวแพทย์สุรชัย จันทร์ทิพย์ ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงภารกิจสำคัญของศูนย์ฯ ในปัจจุบัน ได้ยกระดับสู่การเป็น “ศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลองแห่งประเทศไทย” ซึ่งตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติทั้งในด้านยา วัคซีน และเครื่องมือแพทย์ ที่ต้องอาศัยสัตว์ทดลองที่ดีมีคุณภาพเป็นปัจจัยหลักในการวิจัยและทดสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “การทดสอบทางด้านพิษวิทยา” ที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง


นายสัตวแพทย์สุรชัย จันทร์ทิพย์
ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการดำเนินงานที่จะยกระดับการเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลองให้สามารถตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลอง ในระดับสัตว์ทดลองปลอดเชื้อจำเพาะ (Specific Pathogen Free; SPF animal) ด้วยวิธีที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสอดคล้องตามมาตรฐาน AAALAC International (American Association for Accreditation of Laboratory Animal Care; AAALAC) สหรัฐอเมริกา

          นอกจากนี้ ภายใต้มาตรฐานการบริหารจัดการด้านคุณภาพและความปลอดภัย (ISO 9001 และ ISO 45001) ที่ศูนย์ฯ ได้รับการรับรองอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ยิ่งทำให้สาธารณชนเชื่อมั่นได้ถึงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลองที่ศูนย์ฯ ผลิตและให้บริการแก่หน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศว่า “มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม”

          ซึ่งหากพบการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในสัตว์ทดลอง ภายในศูนย์ฯ ก็จะมีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าวได้อย่างสอดคล้องกับชนิดและความรุนแรงของเชื้อก่อโรค ด้วยวิธีที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมีการดำเนินการทดแทนสัตว์ทดลองที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรคนั้น ด้วยสัตว์ทดลองคุณภาพสูงชุดใหม่ที่เก็บรักษาไว้ในธนาคารตัวอ่อนได้ทันที ในขณะที่หากเป็นสัตว์ทดลองซึ่งส่งตรวจมาจากภายนอก จะมีการส่งรายงานผลการตรวจกลับไปโดยละเอียด เพื่อให้หน่วยงานนั้นทราบ และนำผลการตรวจไปดำเนินการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ก้าวต่อไป ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมขยายความสามารถการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลองในระดับที่สูงกว่า “สัตว์ทดลองระดับ Monitor หรือ Strict Hygienic Conventional” นั่นคือ สามารถตรวจสอบคุณภาพสุขภาพ “สัตว์ทดลองระดับปลอดเชื้อจำเพาะ” โดยจะสามารถตรวจการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ได้มากกว่า 20 ชนิด

          ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลอง ที่มีการนำมาใช้ในการวิจัยและทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ระดับปรีคลินิก (Pre-clinical) ก่อนที่จะนำไปสู่การใช้จริงในการรักษาโรคได้ต่อไป

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ภาพถ่ายโดย
นายสมบูรณ์ มาตรศรี
นักวิชาการโสตทัศนศึกษา (ผู้ชำนาญการ)
หัวหน้างานสนับสนุนทั่วไป ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติมหาวิทยาลัยมหิดล

About Author