ชั้นบรรยากาศ (Layers of atmosphere)

ชั้นบรรยากาศ คือส่วนที่ปกคลุมผิวโลก โดยมีขอบเขตนับจากระดับน้ำทะเลขึ้นไปประมาณ 1,000 กิโลเมตร ที่บริเวณใกล้ระดับน้ำทะเลอากาศจะมีความหนาแน่นมากและความหนาแน่นของอากาศจะลดลงเมื่อสูงขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล โดยชั้นบรรยากาศมีหน้าที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันรังสีที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์และวัตถุต่างๆ ในอวกาศ ซึ่งภายในชั้นบรรยากาศจะประกอบไปด้วย ไอน้ำ ความร้อน อากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น

  • แก๊สไนโตรเจน 78%
  • แก๊สออกซิเจน 21%
  • แก๊สอาร์กอน 0.93%
  • แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 0.03%
  • และแก๊สอื่นๆ 0.04 ชั้นบรรยากาศโลกถูกแบ่งออกเป็น 5 ชั้น โดยอาศัยอุณหภูมิและคุณสมบัติของแก๊สเป็นเกณฑ์แบ่ง

 

ชื่อชั้นบรรยากาศ
ระดับความสูง (กม.)  ลักษณะ
 1. ชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere)  0-12   มีไอน้ำมหาศาล ก่อให้เกิดเมฆ หมอก พายุ และฝน
 2. ชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere)  12-50  มีไอน้ำเล็กน้อย ไม่มีเมฆ อากาศมีการเคลื่อนตัวอย่าวช้าๆ จึงเหมาะกับการเดินทางทางอากาศ แก๊สสำคัญในชั้นนี้ คือ แก๊สโอโซน ซึ่งช่วยดูดซับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ อุณหภูมิของชั้นนี้อยู่ระหว่าง -60 ถึง 10 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเมื่อระดับความสูงเพิ่มขึ้น
 3. ชั้นมีโซสเฟียร์ (Mesosphere)  50-80  มีอากาศเบาบางมาก แต่ก็มากพอที่จะทำให้ดาวตกเกิดการเผาไหม้ และเป็นชั้นที่ช่วยดูดซับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ อุณหภูมิในชั้นนี้จะลดลงมาอยู่ที่ -120 องศาเซลเซียส
 4. ชั้นไอโอโนสเฟียร์ (Ionosphere)  80-700  มีอากาศเบาบางมากกว่าชั้นมีโซสเฟียร์ แต่เป็นชั้นหลักที่ช่วยดูดซับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ ทำให้มีอุณหภูมิในชั้นนี้มากถึง 2,000 องศาเซลเซียส ที่ระดับความสูง 700 กม. อนุภาคในชั้นนี้เป็นอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าที่เรียกว่า “อิออน” ที่เกิดจากการแตกตัว เมื่ออนุภาคในสภาวะปกติถูกกระตุ้นด้วยรังสี  UV จากดวงอาทิตย์ อิออนเหล่านี้จะมีคุณสมบัติสะท้อนคลื่นวิทยุได้ จึงเป็นชั้นที่ใช้ส่งสัญญาณวิทยุสื่อสาร รวมถึงการเกิดแสงเหนือและแสงใต้ หรือ “ออโรรา”
 5. ชั้นเอ็กโซสเฟียร์ (Exosphere)  700-800  อากาศค่อยๆ เจือจางลง เมื่อความสูงเพิ่มขึ้น และเจือจางจนเข้าสู่อวกาศ

 


เรียบเรียงจาก
สุปราณี สิทธิไพโรจน์กุล, ยงยุทธ บัลลพ์วานิช และอาภาภรณ์ บุญยรัตนพันธุ์. เทคโนโลยีอวกาศ ระดับมัธยมศึกษา. ปทุมธานี : ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2552. (หน้า 24-25)

About Author