“โรคลิชมาเนีย” (Leishmaniasis) ได้รับการประกาศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่สำคัญของมนุษย์ ซึ่งมีการแพร่ระบาดในเขตร้อนชื้น และเขตอบอุ่นของโลก รวมไปถึงบริเวณป่าที่มีฝนตกชุก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช ศิริพัฒนพิพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับทีมวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ค้นพบเชื้อโปรโตซัวก่อโรคลิชมาเนียสายพันธุ์ใหม่ “Leishmania orientalis” ครั้งแรกของโลก
จากการศึกษาด้านระบาดวิทยาของเชื้อสายพันธุ์นี้เป็นเวลากว่า 10 ปี ปัจจุบันยังพบการแพร่ระบาดเฉพาะในประเทศไทย โดยเฉพาะแถบภาคเหนือและใต้
นับตั้งแต่การประกาศการค้นพบเชื้อโปรโตซัวก่อโรคลิชมาเนียสายพันธุ์ใหม่ ทีมวิจัยได้ทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเชื้อสายพันธุ์นี้อย่างต่อเนื่อง จนได้นำไปสู่การพัฒนาการตรวจการติดเชื้อด้วยเทคนิคระดับโมเลกุล โดยเป็นผลงานภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหิดลและวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Scientific Reports” เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
ในเบื้องต้นสามารถตรวจการติดเชื้อจากเลือดผ่านหลอดทดลองทางห้องปฏิบัติการ และถัดมาทีมวิจัยได้มีการพัฒนาสู่นวัตกรรมที่ทำให้สามารถตรวจการติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวได้ง่ายขึ้นในแบบของ “แถบตรวจเชื้อก่อโรคลิชมาเนีย” ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้จับมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (The University of Glasgow) สหราชอาณาจักร เพื่อขยายความร่วมมือสู่ระดับโลก ทำการศึกษาวิจัยในเชิงลึกต่อไป
ผู้ป่วยโรคลิชมาเนียมีอาการแสดงของโรคได้หลายแบบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อที่ติด มีทั้งลักษณะแผลเปื่อยบริเวณผิวหนัง (Cutaneous leishmaniasis) ซึ่งสามารถหายได้เอง ไปจนถึงเยื่อบุบริเวณปากและจมูก (Mucocutaneous leishmaniasis) แต่โรคลิชมาเนียที่มีอาการรุนแรงที่สุด คือ การติดเชื้อที่อวัยวะภายใน (Visceral leishmaniasis) โดยผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ตับและม้ามโตขึ้น และเซลล์เม็ดเลือดต่ำลงผิดปกติ ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลารักษาตัวภายในโรงพยาบาลนานถึง 3 สัปดาห์
โดยทั่วไปคนสามารถติดเชื้อลิชมาเนียผ่านการถูกแมลงพาหะ “ริ้นฝอยทราย” (Sandfly) กัด แต่จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นพบว่า “ริ้นน้ำเค็ม” (Biting midges) ซึ่งพบในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาจสามารถเป็นพาหะนำโรคลิชมาเนียได้ด้วย นอกจากนี้ สัตว์จำพวกสัตว์เลี้ยง และสัตว์ปศุสัตว์ ยังสามารถเป็น “รังโรค” ซึ่งอาจทำให้การระบาดของเชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็วหากไม่มีการเฝ้าระวังที่ดี
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช ศิริพัฒนพิพงษ์ และทีมวิจัยได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ที่ได้รับเชื้อลิชมาเนีย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ว่าอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ การศึกษาเพื่อให้ทราบถึงความชุกของโรคที่แท้จริง
ด้วยวิธีการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำจะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล หวังให้งานวิจัยดังกล่าวส่งผลให้สังคม เกิดความตระหนักในการเฝ้าระวัง ตลอดจนขยายผลสู่การออกมาตรการป้องกันในระดับนโยบายตามแนวทาง ”One Health” ต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210