โดย ป๋วย อุ่นใจ
เปิดงานวิจัยเล็บงามจากแดนผู้ดี บ่งชี้ชัดว่าหมาหน้าสั้น มักจะอายุสั้นตามหน้า ในขณะที่หมาหน้าทู่อย่างบูลด๊อก (Bulldog) และหมาหน้ากำปั้นอย่างปั๊ก (Pug) มีความเสี่ยงสารพัดโรค
เชื่อกันว่าสุนัขตัวแรกน่าจะมีบรรพบุรุษมาจากสุนัขป่าโบราณ และถ้าว่ากันตามสายวิวัฒนาการ น้องหมาน่าจะแยกออกมาจากหมาป่าเมื่อราว ๆ สามหมื่นถึงสี่หมื่นปีก่อน พวกมันคือสัตว์นักล่าตัวแรกที่สยบยอมเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์
แต่จากหลักฐาน การฝังศพสุนัขตัวแรกนั้นมีมาตั้งแต่เมื่อราว ๆ หนึ่งหมื่นหกพันปีก่อน นั่นหมายความว่ามนุษย์น่าจะรับเอาน้องหมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่ยุคก่อนหน้านั้น คาดว่าน่าจะตั้งแต่ยุคที่มนุษย์ยังเป็นนัก “เก็บของป่า-ล่าสัตว์ (hunter-gatherer)” กันอยู่
แต่แม้จะคุ้นเคยและอยู่ด้วยกันมานานนับหมื่นปี มนุษย์ในอดีตก็แทบจะไม่ได้ทำอะไรกับสายพันธุ์ของสุนัขบ้าน อาจจะด้วยความรู้ที่จำกัดด้านพันธุศาสตร์ และยังไม่เข้าใจเทคนิคในการปรับปรุงพันธุ์ จนเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เองที่มนุษย์เริ่มที่จะให้ความสำคัญในการพัฒนาสายพันธุ์ของน้องหมา จนมีน้องหมาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ด้วยเทคนิคการเลือกผสมพันธุ์อย่างช่ำชอง นักผสมพันธ์ุสุนัขสามารถผสมพันธ์ุสุนัขเลี้ยงออกมาได้สารพัดรูปแบบ ทั้งปากสั้น ปากยาว ตัวใหญ่ ตัวน้อย แบ่งเป็นสายพันธุ์แท้ที่มีลักษณะและพันธุกรรมที่แตกต่างกันชัดเจนกว่าสี่ร้อยสายพันธุ์ในปัจจุบัน
บางพันธุ์ก็ดูดุดัน เป็นนักสู้ บางพันธุ์ก็ดูตะมุตะมิ น่ารักเป็นสุนัขคอมพาเนี่ยนไว้พกพา หยอกเล่นแก้เหงาใจ บางพันธุ์ก็ฉลาดหลักแหลม ฝึกใช้งานได้สารพัดทั้งล่าสัตว์ ดมกลิ่นหาของผิดกฎหมาย ไปจนถึงช่วยนำทางคนตาบอด
แต่บางทีก็ออกมาดูไม่ค่อยสมประกอบ อย่างพวกหมาหน้าสั้น เช่น ปั๊ก ที่เชื่อกันว่าได้ชื่อสายพันธุ์มาจากคำภาษาละตินว่า “Pugnus” ที่แปลว่า ”กำปั้น” เพราะหน้าตาที่สั้นมู่ทู่ละม้ายคล้ายคลึงกับกำปั้นมนุษย์
หรือสุนัขบูลด๊อกผสมพันธ์ุขึ้นมาเมื่อหลายร้อยปีก่อนเพื่อเป็นหมาสู้วัว รูปร่างสันทัด กำยำล่ำสันและที่สำคัญ หน้าต้องสั้น เพื่อจะได้ขย้ำวัวได้อย่างเต็มปากเต็มเขี้ยว เพราะพวกปากยาว เจอตัววัวตัน ๆ ใหญ่ ๆ อาจจะงับไม่ถนัด โดนวัวสะบัดก็กระเด็น
ว่ากันว่าในอดีตสุนัขอิงลิชบูลด๊อกขนาด 30-40 กิโลกรัมที่ดุร้าย สามารถล้มวัวน้ำหนักตัวเป็นตันได้สบาย ๆ ในสนามสู้วัว
แต่การผสมให้ได้ลักษณะตามต้องการอาจจะไม่ได้ดีเสมอไปกับสายพันธุ์ เพราะต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงของโรคร้ายสารพัด หน้าที่สั้นทำให้เป็นปัญหากับระบบหายใจ ตาที่โปนเพิ่มความเสี่ยงโรคตาติดเชื้อ ตาอักเสบ ส่วนหนังที่ย่นก็เพิ่มโอกาสการเกิดโรคผิวหนัง
ในปี พ.ศ. 2565 แดน โอนีล (Dan O Neill) และทีมจากวิทยาลัยสัตวแพทย์หลวง (Royal Veterinary College) ในประเทศอังกฤษ ทำวิจัยวิเคราะห์โรคในน้องหมาในสหราชอาณาจักรกว่าเก้าแสนตัว และคอนเฟิร์มว่า “น้องหมาหน้าสั้น อิงลิชบูลด๊อกมีโอกาสป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าน้องหมาสายพันธุ์อื่นถึง 30 เท่า”
และอายุขัยของบูลด๊อกคือแค่ราว 7.2 ปี ซึ่งสั้นมากถ้าเทียบกับสายพันธุ์อื่น และถ้าเทียบกับอายุคนคือแค่ราว 40 กว่าปีเท่านั้น
งานวิจัยของแดนและทีมเปิดตัวอย่างโด่งดังในวารสาร Canine Medicine and Genetics
และถ้าดูจากกายวิภาค งานวิจัยของแดนน่าจะใช้อธิบายได้กับหมาหน้าสั้นทั้งตระกูล ทั้งปั๊ก ชีตซู หรือที่เราเรียกว่า ชิสุ (Shih Tzu) และชาเป่ย (Shar-Pei คนจีนออกเสียง ชาผี) ก็น่าจะไม่ต่างกัน…
สำหรับแดน ปัญหาคือการที่คนตัดสินทุกอย่างจากรูปลักษณ์ภายนอก เพราะในตอนนี้ก็ไม่ (น่าจะ) มีใครเอา “น้องหมาบูลด๊อกไปสู้วัว” แล้วไหม แล้วทำไมเราจึงยังต้องผสมพันธ์ุน้องออกมาให้อ้วน สั้น เตี้ย ตันตึ้ก ดูพิกลพิการอีก หรือเพียงแค่เพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของสังคม ให้คนมองว่าสวย สายพันธุ์ดีแค่นั้น
“ส่วนใหญ่น้องหมาก็ถูกผสมพันธ์ุออกมาเหมือนสินค้าเพื่อวางขาย มันคือการตัดสินใจเลือกซื้อของเรานี่แหละ ที่จะชี้ชะตาว่าน้องหมาพันธุ์ไหนที่จะยังอยู่และจะพิกลพิการขนาดไหน” แดนกล่าว “จุดมุ่งหมายหนึ่งที่ทำงานนี้ขึ้นมา ก็เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนค่านิยมในสังคมให้ใส่ใจในเรื่องสุขภาพน้องมากกว่าเรื่องความงามในน้องหมาอิงลิชบูลด๊อก”
ซึ่งคงไม่ง่าย เมื่อพูดถึงพลพรรคหน้าสั้น ถ้าหน้าไม่สั้นก็หมดท่า เพราะตามค่านิยมที่ปลูกฝังกันมา ความย่น ๆ ยับ ๆ นั่นแหละคือเสน่ห์ของน้อง…
ทว่าโอกาสเสี่ยงโรคที่สูงอาจจะไม่ได้หมายความถึงอายุขัยที่สั้น เพราะถ้าเลี้ยงดี ๆ ดูแลประคบประหงม ไม่แน่น้องอาจจะอายุยืนก็ได้ เพราะในการสำรวจจากหลายสำนักก็มีรายงานที่ขัดแย้งกับผลการวิจัยของแดนอยู่พอสมควร คือมีตั้งแต่ 8 ปี ไปจนถึง 10 ปี ไปจนถึง 12 ปี
และมีข่าวลือที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าบอกว่ามีบูลด๊อกที่อาศัยอยู่ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ชื่อโอลิเวอร์ (Oliver) ที่มีอายุยืนยาวได้ถึง 20 ปี
เพื่อที่จะช่วยหาทางวางนโยบายช่วยเหลือและสนับสนุนสุขภาวะของน้องหมาให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและอายุขัยของหมาแต่ละสายพันธุ์ เคิร์สเทน แมคมิลแลน (Kirsten McMillan) และทีมนักวิจัยจากกองทุนสุนัข (Dogs Trust) ในลอนดอนจึงได้ริเริ่มโครงการศึกษาอายุขัยน้องหมา โดยรวมรวมข้อมูลต่าง ๆ ของน้องหมาทุกเพศทุกวัยในสหราชอาณาจักรจำนวนเกือบหกแสนตัว จาก 155 สายพันธุ์ (โดยที่ราวสามแสนตัวยังมีชีวิตอยู่) และพวกเขาก็ได้ผลที่น่าสนใจมาก
ทีมของเคิร์สเทนเปิดเผยผลการศึกษาของพวกเธอออกมาในวารสาร Scientific Reports ในปี พ.ศ.2567
โดยเฉลี่ยน้องหมาจะมีอายุขัยราว 12 ปีครึ่ง ตัวเมียจะมีอายุยืนยาวกว่าตัวผู้เล็กน้อย อายุขัยของตัวเมียจะอยู่ที่ 12.7 ปี ในขณะที่ตัวผู้จะอยู่ที่ 12.3 ปี
และสายพันธุ์ที่อายุยืนที่สุดคือพวกตัวเล็ก หน้ายาว อย่างพันธ์ุดัคส์ฮุนท์ หรือที่คนไทยเรียก ดัชชุน (Dachshund) และพันธ์ุชิบะ (Shiba) ที่มีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวถึงราว 13 ปีครึ่ง
และเป็นไปดังที่คาด เคิร์สเทนเผย “สายพันหน้าสั้นหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะตัวใหญ่หรือว่าตัวเล็ก ผลออกมาดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทั้งเฟรนช์บูลด๊อก (French Bulldog) เซนต์เบอร์นาร์ด (Saint Bernard) และเปรซากานาริโอ (Presa Canario)” โดยมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่แค่ราว 9 ปีครึ่งเท่านั้น
แต่ที่แย่ที่สุดคือพันธ์ุรอตต์ไวเลอร์ (Rottweiler) ที่มีอายุขัยเฉลี่ยแค่ 8 ปีหน่อย ๆ
แต่ผลบางอย่างก็น่าแปลกใจ เช่น ผลออกมาว่าพันธ์ุแท้จะอายุยืนกว่าพันธ์ุทาง ซึ่งขัดแย้งกับสามัญสำนึกและแนวคิดปกติของแทบทุกสำนัก
ออเดรย์ รูเพิล (Audrey Ruple) นักวิจัยจากสถาบันโพลีเทคนิคเวอร์จิเนีย (Virginia Polytechnic Institute) หรือเวอร์จิเนียเทค (Virginia Tech) เน้น “นี่เป็นเรื่องที่แปลกเพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเราเชื่อกันมาตลอดว่าลูกผสมจะมีอายุยืนกว่าพันธ์ุแท้ ด้วยเหตุผลเรื่องลักษณะดีเด่นในลูกผสม (hybrid vigor)”
ลักษณะดีเด่นในลูกผสม (เรียกอีกอย่างว่า เฮเทโรสิส (heterosis)) คือ การที่รุ่นลูกที่เป็นลูกผสมได้ลักษณะดีเด่นมาจากพ่อแม่ต่างสายพันธุ์ จนมีลักษณะที่ดีเด่นกว่ารุ่นพ่อแม่ ซึ่งเป็นอะไรที่นักผสมพันธ์ุอยากได้
คำนี้จะตรงข้ามกับลักษณะถดถอยจากภาวะเลือดชิด (inbreeding depression) ซึ่งหมายถึงการที่รุ่นลูกที่ได้มาจากการผสมพ่อแม่สายพันธุ์ใกล้ชิดกันมีโอกาสในการอยู่รอด (fitness) ต่ำลง ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่พึงประสงค์ในการคัดเลือกผสมพันธ์ุ
และถ้าคิดในอีกมุม พวกพันธุ์แท้ก็น่าจะมีปัญหาภาวะเลือดชิดมากกว่าพันธ์ุทางอยู่ดี
แต่ผลการทดลองของเคิร์สเทนที่ออกมากลับตาลปัตร ทำให้ออเดรย์สนใจ “นี่เป็นเรื่องที่น่าจะต้องศึกษาต่อไป” ออเดรย์กล่าว
แต่สำหรับเคิร์สเทน ผลพวกนี้ก็เป็นแค่ข้อมูลเบื้องต้น ที่แม้จะน่าสนใจ แต่ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกมาก และสิ่งแรกคือกระทุ้งให้เกิดการขับเคลื่อนในด้านงานวิจัยเพื่อพัฒนาสุขภาวะของน้องหมาให้ดียิ่งยิ่งขึ้นไป
“หวังว่างานวิจัยนี้จะจุดประกายให้เกิดงานวิจัยที่ระบุชี้ชัดลงไปได้ว่าทำไมน้องหมาบางสายพันธุ์ถึงอายุสั้น และจะทำยังไงให้คุณภาพชีวิตของน้องดีกว่านี้”
ก่อนจบ อยากกระซิบว่าเรื่องนี้น่าติดตามต่อ เพราะองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) เพิ่งอนุมัติ “LOY-101” ยาเพิ่มอายุขัยของน้องหมาตัวแรกของโลกไปหมาด ๆ เมื่อเดือนพฤจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา
เล่นเอาทีมวิจัยจากบริษัทสตาร์ตอัปลอยัล (Loyal) ในซานฟรานซิสโกที่พัฒนายานี้ขึ้นมาตื่นเต้นกันยกใหญ่
ตอนนี้ก็ได้แต่ลุ้นและรอดูต่อไปว่ายานี้จะเริ่ดเพียงไร ไม่แน่สำรวจครั้งหน้า อายุขัยเฉลี่ยของน้อง อาจจะเกินสิบห้าปีก็เป็นได้ !!