ชีวิตสับสน : Lion, Tiger, Liger กับจุดจบของ Liar

จากข่าวพบลูกเสือโคร่งออกมาเดินเพ่นพ่านในย่านชุมชนจนผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกหลากหลาย ทั้งตกใจ ทั้งเอ็นดู ทั้งกังวล ทั้งฉงน ว่าเจ้าลูกเสือน้อยนี้มาจากไหน มาจากป่าธรรมชาติ…ก็ไม่น่าใช่ หรือว่ามีเจ้าของแล้วหลุดมา หรือโดนเอามาปล่อยรึเปล่า ซึ่งสุดท้ายก็สรุปว่าน้องมีเจ้าของแหละ แต่เรื่องมันกลับซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อเจ้าของบอกว่าน้องไม่ใช่ลูกเสือโคร่งนะ น้องเป็น “ไลเกอร์” (liger) ที่คอสเพลย์เป็นเสือโคร่งเพื่อไปเข้าฉากถ่ายทำภาพยนตร์

เชื่อว่าคนที่เห็นภาพข่าวแล้วไม่มีใครเชื่อแน่ เพราะเจ้าลูกเสือโคร่งกับเจ้าไลเกอร์ที่ปรากฏในภาพข่าวนั้นคนละทรงกันเลย (แม้ในข่าวจะมีการเบลอหน้าคาดตาเจ้าไลเกอร์) เจ้าของจะบอกว่าน้องเป็นไลเกอร์ไปเพื่ออะไร บอกว่าเป็นลูกเสือโคร่งแล้วมันเสียหายตรงไหน ทำไมต้องย้อมแมว ?

ก่อนจะไปถึงสาเหตุที่ทำให้เจ้าของต้องอ้างอะไรที่แปลก ๆ แปร่ง ๆ นี้ขึ้นมา เราไปทำความรู้จักกับสัตว์ในวงศ์เสือและแมว (Family Felidae) กันสักนิดก่อน

วงศ์เสือและแมวแบ่งออกเป็น 2 วงศ์ย่อย คือ วงศ์ย่อยเสือใหญ่ (Subfamily Pantherinae) มี 2 สกุล คือ สกุล Panthera ได้แก่ สิงโต เสือโคร่ง เสือจากัวร์ เสือดาว เสือดาวหิมะ และสกุล Neofelis ได้แก่ เสือลายเมฆ เสือลายเมฆบอร์เนียว ส่วนอีกวงศ์ย่อยคือ วงศ์ย่อยแมว (Subfamily Felinae) มีถึง 11 สกุล จะขออนุญาตยกเฉพาะชนิดที่พอคุ้นเคยและเป็นที่รู้จักกัน เช่น เสือพูมา เสือชีตาห์ เสือไฟ ลิงซ์ แน่นอนว่าแมวเหมียวของเหล่าทาสก็อยู่ในวงศ์ย่อยนี้ด้วย

ในป่าธรรมชาติของประเทศไทย เราพบสัตว์ในวงศ์เสือและแมวทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ เสือกระต่าย เสือปลา แมวดาว แมวป่าหัวแบน และแมวลายหินอ่อน ทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ยกเว้นแมวลายหินอ่อนที่พิเศษขึ้นอีกระดับคือเป็นสัตว์ป่าสงวน นั่นหมายความว่าสัตว์ที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้เป็นสัตว์ที่ “ห้ามครอบครอง” ยกเว้นในกิจการสวนสัตว์ที่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เมื่อห้ามครอบครอง แต่มีอยู่ในครอบครอง ก็เท่ากับ “ผิดกฎหมาย” เจ้าของลูกเสือโคร่งจึงต้องย้อมแมวโดยบอกว่า จริง ๆ น้องเป็นไลเกอร์ จะได้ไม่มีความผิด ว่าแต่ไลเกอร์มันคือตัวอะไรกัน แล้วครอบครองได้แน่นะ

ไลเกอร์เป็นสัตว์ลูกผสมที่เกิดจาก “พ่อสิงโต (lion)” กับ “แม่เสือโคร่ง (tigress)” รูปร่างหน้าตาก็แบบลูกครึ่ง มักมีสีไปทางพ่อ บางตัวมีแผงคอเบา ๆ มีลายของแม่ปรากฏที่ตัวด้วยแบบจาง ๆ เมื่อโตเต็มวัยแล้วจะมีขนาดตัวใหญ่กว่าพ่อแม่อย่างเห็นได้ชัด ไลเกอร์ตัวผู้จะเป็นหมัน แต่ตัวเมียไม่เป็น มีกรณีที่แม่ไลเกอร์ผสมพันธุ์กับพ่อสิงโต แล้วได้ลูกออกมาเป็น “ไลไลเกอร์” และผสมพันธุ์กับพ่อเสือโคร่ง ได้ลูกออกมาเป็น “ไทไลเกอร์”

กลับมาที่เรื่องการครอบครอง เรารู้แล้วว่าแม่ของไลเกอร์เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แล้วพ่อล่ะเหมือนกันไหม คำตอบคือ สิงโตไม่ใช่สัตว์ที่พบในประเทศเรา ต้องนำเข้ามาเลี้ยง จึงมีสถานะเป็นสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก (กลุ่มสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ ดุร้าย) ใครอยากครอบครองก็ต้องแจ้งกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชก่อน หมายความว่าประชาชนครอบครองได้ ถ้าดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ทีนี้ตัวไลเกอร์เองเป็นสัตว์ลูกผสมซึ่งไม่ใช่ทั้งสิงโตและเสือโคร่ง กฎหมายไม่ได้ระบุเกี่ยวกับสัตว์ลูกผสมไว้ จึงไม่ต้องแจ้งครอบครองเหมือนกับสิงโตซึ่งเป็นสัตว์ป่าควบคุม ตามที่มีบันทึกในบัญชีรายชื่อสัตว์ในสวนสัตว์ของประเทศไทยพบว่ามีไลเกอร์อยู่ในสวนสัตว์บางแห่ง ถ้าน้องเป็นไลเกอร์จริง เจ้าของก็อาจจะไม่ได้มีความผิดเรื่องการครอบครอง

แต่เรื่องมันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะน้องไลเกอร์ที่เจ้าของกล่าวอ้างดันไม่มีอยู่จริง เจ้าลูกเสือโคร่งพุงย้อยที่ชาวบ้านเจอก็เป็นลูกเสือโคร่งจริง ไม่ใช่ไลเกอร์คอสเพลย์เป็นเสือโคร่ง ส่วนเจ้าไลเกอร์ในข่าวแท้จริงแล้วก็เป็นลูกสิงโต ซึ่งเจ้าของยังไม่ได้แจ้งครอบครองอีกต่างหาก บทสรุปจึงจบลงที่ทั้งลูกเสือลูกสิงโตโดนอายัดเป็นของกลาง ส่วนเจ้าของโดนแจ้งข้อหากระทำความผิดตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไป 3 กระทง คือ ครอบครองลูกเสือโคร่งซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 17) ปล่อยเป็นอิสระซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองพ้นจากการดูแลของตน (มาตรา 15) และครอบครองลูกสิงโตซึ่งเป็นสัตว์ป่าควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 19) แถมฟาร์มที่ขายลูกสิงโตให้ก็โดนหางเลขไปด้วยฐานไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้ง การรับแจ้ง (มาตรา 19 วรรคสอง)

ดังนั้นก่อนจะเลี้ยงสัตว์ป่า/สัตว์แปลก สัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงทั่วไป ควรศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองสัตว์เหล่านี้ให้ดี เข้าไปศึกษาหรือติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


ขอขอบคุณ

คุณธานี วงศ์นาค ผู้อำนวยการส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำหรับข้อมูลด้านการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่า

About Author