ครั้งแรกของประเทศไทย ม.เกษตรศาสตร์ ร่วม GISTDA เปิดตัวโครงการร่วม NASA ทำวิจัยการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ

          เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จัดงานฉลองบันทึกความเข้าใจ (MOU) Kasetsart-NASA Memorandum of Understanding Celebration Ceremony พร้อมกับเปิดแถลงข่าวโครงการความร่วมมือวิจัย Liquid Crystal หรือ การศึกษาผลึกเหลว ในอวกาศ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) นับเป็น MOU แรกที่ NASA ลงนามร่วมกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี
 
          ผู้เข้าร่วมพิธี ได้แก่
          – ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
          – Dr.Craig Kundrot Director of Biological and Physical Sciences Division, NASA
          – ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
          – Dr.Kirt Costello Chief Scientist of the International Space Station (ISS), NASA
          – Mr. James Wayman Acting Deputy Chief of Mission, The United States Embassy in Bangkok Dr.Francis Chiaramonte Program Scientist for Physical Sciences at NASA
          – รศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
          – ผศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม อาจารย์ผู้วิจัยหลักในโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยในอวกาศ
 
 
          บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) ในการศึกษาผลึกเหลว หรือ Liquid Crystal ในอวกาศ เป็น MOU แรกที่ NASA ลงนามร่วมกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นผู้สร้างและทดสอบชุดอุปกรณ์การทดลองที่จะถูกส่งขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station, ISS) ซึ่ง NASA จะเป็นผู้รับผิดชอบในการขนส่งชุดอุปกรณ์นี้ขึ้นไปบน ISS เพื่อให้นักบินอวกาศของ NASA เป็นผู้ทำการทดลองภายใต้การควบคุมการทดลองโดยทีมนักวิจัยจากประเทศไทย โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีม
 
          ผู้ร่วมวิจัยในทีมประกอบด้วย ผศ.ดร.อภิชาติ พัฒนโภครัตนา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล จาก GISTDA โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นผู้รับผิดชอบ scientific part ของการทดลองนี้ และ GISTDA จะเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างและทดสอบชุดอุปกรณ์ โดยจะมีทีมวิศวกรจาก NASA เป็นผู้กำกับดูแลร่วมกับทีมวิศวกรไทยในการสร้างอุปกรณ์ทั้งหมด ซึ่งการทดลองนี้จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะได้สร้างอุปกรณ์ขนาดใหญ่เพื่อให้นักบินอวกาศเป็นผู้ทดสอบและทดลองในอวกาศ โดยการสร้างอุปกรณ์นี้ต้องสอดคล้องกับ safety criteria ของการทดลองที่มีมนุษย์เป็นผู้ควบคุมในอวกาศ การทดลองนี้จะเป็นพื้นฐานให้ทีมอวกาศไทยสามารถต่อยอดเพื่อสร้างจรวดส่งไปในอวกาศได้เองในเวลาอันใกล้นี้
 
 
          สำหรับผลึกเหลวหรือ Liquid crystal นั้นเป็นสสารที่ใช้เป็นหลักในหน้าจอ Liquid Crystal Display หรือ LCD ซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ทีวี และคอมพิวเตอร์ โดยอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย จึงเป็นที่สนใจของ NASA มากว่า 20 ปีแล้วในการจะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอวกาศ
 

ผศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม อาจารย์ผู้วิจัยหลักในโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยในอวกาศ
 
          ผศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานของทีมวิจัยไทยร่วมกับองค์กร NASA มานานกว่า 20 ปีทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ GISTDA มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทีมนักวิจัยไทยจะสามารถสร้างชุดอุปกรณ์การทดลองนี้ได้สำเร็จ และทำการทดลองร่วมกับนักบินอวกาศจาก NASA เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับอนาคต
 
 
          นอกจากนี้ ยังได้อธิบายถึงการทดลอง Liquid Crystal บนสถานีอวกาศนานาชาติ อีกว่า ในการทดลองนี้นักวิจัยไทยจะทำการศึกษาผลึกเหลวหรือ Liquid Crystal ซึ่งเป็น complex fluid หรือของไหลที่ซับซ้อนเพื่อให้เข้าใจคุณสมบัติทางความร้อนโดยละเอียดในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง สิ่งที่สนใจในการศึกษาครั้งนี้ คือการสร้างฟิล์มบางของผลึกเหลวเพื่อศึกษาจุดพร่องหรือ defect ในโครงสร้างของผลึกเหลวซึ่งเกิดจากผลของการเปลี่ยนแปลงของความร้อนในทันที จุดพร่องที่ศึกษานี้เป็นสิ่งที่เกิดอยู่เสมอในหน้าจอแอลซีดี การเข้าใจจุดพร่องซึ่งเป็นปัญหาหลักของแอลซีดีเป็นหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกันทั่วโลก การที่ทีมวิจัยได้มีโอกาสศึกษาจุดพร่องเหล่านี้ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง จะทำให้สามารถกำจัดผลของแรงโน้มถ่วงปัจจัยของแรงอย่างหนึ่งในการสร้างให้เกิดจุดพร่องนี้ และจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของการเกิดจุดพร่องเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถกำจัดจุดพร่องเหล่านี้ออกจากเทคโนโลยีแอลซีดีที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันได้ อันจะทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีแอลซีดีนี้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดให้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมหน้าจอแอลซีดีซึ่งมีมูลค่ากว่า 300,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน
 
          ภายในงานแถลงข่าว ผู้วิจัยได้นำผลงานการวิจัยจาก Liquid Crystal มาแสดง ได้แก่ เทคโนโลยีแอลซีดี แสดงการทำงานของ pixel พื้นฐานของหน้าจอแอลซีดี การนำเสนอตัวอย่าง smart glass หรือกระจกอัจฉริยะที่ใช้ในปัจจุบันนี้ เช่น ในกระจกรถยนต์รุ่นใหม่ และ ปัจจุบันได้นำไปใช้ในเครื่องบินโบว์อิ้ง 787 ดรีมไลน์เนอร์ หน้าต่างของเครื่องบินรุ่นนี้ทั้งหมดสามารถปรับแสงได้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การนำเสนอเทคโนโลยี Liquid crystals ที่ใช้กับเลเซอร์เรียกว่า Spspatial light modulator โดยจะเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงทางแสงที่แสดงให้เห็นว่าผลึกเหลวสามารถใช้ได้ใน การปรับเฟสของแสงซึ่งใช้ใน opto-technology ของการสื่อสารที่ต้องใช้ไฟเบอร์ออพติกเป็นหลัก
 
 

          นอกจากนี้ยังมี prototype ของอุปกรณ์สร้างฟิล์มบางของผลึกเหลวสำหรับการทดลองภาคพื้นดินโดย prototype นี้จะถูกตัดแปลงต่อไปเพื่อสร้าง Microgravity Science Glovebox (MSG) ที่มีกล้องจุลทรรศน์บรรจุอยู่ภายในเพื่อศึกษาฟิล์มบางนี้บนสถานีอวกาศนานาชาติ ทั้งนี้ นักวิจัยจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องสื่อสารกับวิศวกรอวกาศจาก GISTDA ให้เป็นผู้สร้างเครื่องต้นแบบนี้ให้สามารถทนต่อการขนส่งทางจรวดขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ และทำงานได้ครบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องการพิสูจน์ตามสมมุติฐานของจุดพร่องของผลึกเหลวที่ได้คาดการณ์ไว้


ข้อมูลข่าว
ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


Podcast รายการ Sci เข้าหู EP24: เบื้องลึกทีมนักวิจัยไทยในโครงการ OASIS พัฒนาจอ LCD ของ NASA

About Author