ปศุสัตว์จากห้องทดลอง

​โดย ป๋วย อุ่นใจ


ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 เราเฉลิมฉลองการถือกำเนิดขึ้นของมนุษย์คนที่ 8 พันล้านบนโลก หลายคนตื่นเต้นกับความสำเร็จของเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่หลายคนกลับเริ่มกังวลกับอัตราการเพิ่มจำนวนที่รวดเร็วของผู้คนบนโลกใบนี้ จาก พ.ศ. 2565 เวลาผ่านไปแค่เพียงไม่ถึงสองปี จำนวนคนบนโลกก็เพิ่มพูนทวีขึ้นไปแล้วเกือบ 2 ร้อยล้านคน จากแปดพันล้านคนเป็นแปดพันสองร้อยล้านคนในปี พ.ศ. 2567

นี่เป็นปัญหาระดับวิกฤต จำนวนประชากรมนุษย์ที่พุ่งสูงขึ้นราวก้าวกระโดด เท่ากับความต้องการอาหารที่พุ่งทะยานราวไม่มีที่สิ้นสุด ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2566 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations, FAO) ได้ประมาณการเอาไว้ว่า “ปี พ.ศ. 2573 มนุษยชาติจะมีความต้องการอาหารจากปศุสัตว์เพิ่มขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์”

ส่วนตัวผมมองว่าตัวเลข 20 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2573 ของ FAO น่าจะเป็นการประมาณการแบบมองโลกในแง่ดีมาก ๆ เรียกได้ว่ามากเกินกว่าที่จะสะท้อนตัวเลขความเป็นจริง

เพราะถ้าดูผลการสำรวจล่าสุดในปี พ.ศ. 2566 ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) บนโลกนี้ยังมีกว่าแปดร้อยยี่สิบล้านคนที่ต้องทนอยู่อย่างอดมื้อกินมื้อ

นั่นหมายความว่าเท่าที่เราผลิตในปัจจุบันยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่าเพียงพอ ในตอนนี้เราต้องการธัญญาหาร โปรตีน ปศุสัตว์ รวมถึงแหล่งอาหารอื่น ๆ เพิ่มอีกอย่างน้อยที่สุดก็ 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้ทุกคนบนโลกใบนี้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ต้องอดอยาก

ทว่าการขยายกำลังการผลิตอาหารก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ระบบการผลิตอาหารของเรากำลังถดถอยและเรรวนจากภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศที่ปรวนแปร จากการปลดปล่อยคาร์บอนที่ไปเพิ่มการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

เพราะปัญหาที่ใหญ่มากอย่างหนึ่งก็คือ “การทำปศุสัตว์เพื่อเป็นอาหารคือหนึ่งในตัวการสำคัญในการปลดปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ”

ยิ่งเพิ่มขนาดการผลิต ปัญหาจากคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกก็จะยิ่งหนักขึ้น ส่งผลกระทบเป็นทอด ๆ ไปทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โลกรวนที่ย้อนกลับมาทำให้ผลผลิตตกต่ำร่อยหรอทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ

เพี่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประมาณการการปลดปล่อยคาร์บอนของกิจกรรมต่าง ๆ ในระบบการผลิตอาหารทางการเกษตร FAO จึงได้สร้างเครื่องมือที่เรียกว่า GLEAM (ชื่อเต็มคือแบบจำลองเพื่อการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากปศุสัตว์ในระดับสากล หรือ the Global Livestock Environmental Assessment Model) ขึ้นมา

ตัวเลขที่ได้จาก GLEAM นั้นน่าตกใจ ในปี พ.ศ. 2556 การผลิตอาหารจากการทำปศุสัตว์ปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิมากถึง 6.2 พันล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของการปลดปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของมนุษย์

นั่นหมายความว่าถ้าเราสามารถลดคาร์บอนจากการทำปศุสัตว์เพื่อมาเป็นอาหารลงไปได้ ปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดโลกร้อนก็น่าที่จะบรรเทาเบาบางลงไปได้ไม่น้อยเช่นกัน

แต่อีกปัญหาที่ต้องคำนึงถึงถ้าอยากให้การพัฒนานี้เป็นไปอย่างยั่งยืนก็คือ ปัญหาพื้นที่ในการเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ยิ่งในเวลานี้พื้นที่อันทรงคุณค่าเหล่านี้กำลังลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ เพราะถูกเบียดบังรุกล้ำอย่างรวดเร็วจากการแผ่ขยายตัวของชุมชนเมือง

แล้วเราจะทำอย่างไรในขณะที่อาหารโปรตีนจากปศุสัตว์นั้นห่างไกลจากคำว่า “เพียงพอ” กับความต้องการและปากท้องของแปดพันสองร้อยล้านคนบนโลกใบนี้

การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตปศุสัตว์ เช่น การส่งเสริมสุขภาพของสัตว์อาหาร การพัฒนาการปรับปรุงสายพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่ต้องการอย่างแม่นยำ (precision breeding) ไปจนถึงการใช้การปรับแต่งพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตโดยการแก้ไขยีน (gene editing) การทำการเกษตรอัจฉริยะหรือ smart farming ที่มีการเอาเซนเซอร์และหุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มและปรับปรุงผลผลิตในการทำเกษตร

แต่ในสายตาของนักวิทยาศาสตร์ที่มองไปถึงอนาคต ด้วยอัตราในการเพิ่มจำนวนมนุษย์โลก มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าการทำปศุสัตว์แบบดั้งเดิมแม้จะเพิ่มประสิทธิภาพไปจนสุดแล้ว ก็ไม่สามารถให้สารอาหารสำคัญอย่างโปรตีนได้มากเพียงพอกับความต้องการของมวลมนุษยชาติ เราอาจจะต้องหาแหล่งโปรตีนใหม่หรือที่หลายคนเรียกว่าเป็นโปรตีนทางเลือก (alternative protein)  เช่น โปรตีนจากแมลง จากจุลินทรีย์ จากเห็ดรา ไปจนถึงจากพืช เพื่อมาใช้ทดแทนโปรตีนจากการทำปศุสัตว์

แต่บางคนกลับมองต่าง และเริ่มคิดว่าบางทีระบบการทำปศุสัตว์ในปัจจุบันนั้นไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ยังไม่น่าจะไปถึงฝั่งฝัน ณ จุดนี้ ระบบการผลิตอาหารอาจจะต้องการการปฏิรูป ทว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการทำการเกษตรที่สืบทอดส่งต่อกันมาเนิ่นนานนับร้อยนับพันปีคือความท้าทายครั้งใหญ่

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีข่าวใหญ่ที่สะเทือนวงการอาหารไปทั่วโลก เพราะเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องทดลอง (และถังหมัก) (cultured meat หรือ lab grown meat) หรือที่หลายคนเรียกกันว่าเนื้อสัตว์จากเซลล์ (cell based meat) ได้เกาะกระแสกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรงที่สุดในวงการอาหาร

จากเทคโนโลยีที่หลายคนมองว่ายังไงก็ไม่น่าจะไปรอด เป็นเทคโนโลยีขายฝันที่ทำยังไงก็ไม่น่าจะคุ้มทุน กลับกลายเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีม้ามืดที่พุ่งทะยานออกมาขึ้นนำจนน่าจับตามอง

แทนที่จะเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ก็แยกเอาเซลล์จากสัตว์ เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมัน มาเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ในหลอดทดลองหรือขวดเพาะเลี้ยง หรือบางทีก็เป็นถังหมักในห้องแล็บแทน และด้วยกระบวนการทั้งหมดในการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์เป็นการเลี้ยงแบบปลอดเชื้อ เนื้อที่ได้จากกระบวนการนี้จึงไม่ต้องกังวลเรื่องเชื้อก่อโรคหรือการติดเชื้อที่อาจถ่ายทอดส่งต่อข้ามสปีชีส์มาถึงมนุษย์ได้

ในเวลานี้ก็มีเนื้อสัตว์หลายชนิดที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาได้แล้วจากเซลล์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา เนื้ออัลปากา เนื้อจระเข้ เนื้อจิงโจ้ หรือแม้แต่นกยูง

แต่ความท้าทายของเนื้อสัตว์จากเซลล์นี้อาจจะไม่ได้อยู่แค่ที่การเพาะเลี้ยงอย่างเดียว แต่เป็นการขึ้นรูปเซลล์ที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาให้ได้กลิ่นรสที่หอมอวลราวกลิ่นเนื้อจริง ๆ จากสัตว์ และเนื้อสัมผัสที่ลองลิ้มชิมรสแล้วรู้สึกถึงความดื่มด่ำกำซาบถึงความละมุนลิ้นได้ไม่แพ้เนื้อสัตว์จริง

และที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากเซลล์จากสตาร์ตอัปหลายเจ้าทยอยผ่านด่านองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ของหลายประเทศ และเริ่มดาหน้าเข้ามาขายในตลาดกันแล้วทั้งในสหรัฐอเมริกา สิงค์โปร์ และอีกหลายที่

บางเจ้าก็มีกลยุทธ์การทำการตลาดที่แยบคาย ทั้งสร้างกิมมิก อย่าง Vow ของออสเตรเลียที่ผลิตโปรโตไทป์มีตบอลเนื้อแกะที่แต่งรสด้วยโปรตีนไมโอโกลบินของแมมมอทขนยาวออกมาเปิดตัวอย่างกระหึ่ม ไม่ได้ออกมาเพื่อให้ชิม แต่เพื่อการระดมทุน

บางเจ้าก็ตัดสินใจหาแนวร่วมเป็นเชฟระดับเซเลบริตีผู้ครอบครองรางวัลเจมส์ เบียร์ด (James Beard) และรางวัลดาวมิชลินออกผลิตภัณฑ์จริงออกมาขายให้ผู้คนได้ลองได้ชิมนวัตกรรมทางอาหารตัวใหม่

แม้ว่าราคาจะยังค่อนข้างดุ แต่การตอบรับโดยรวมถึงว่าไม่ขี้เหร่ เสียงจากคนที่ไปทดสอบดูบอกว่าโดยรวมแล้วผู้มาชิมค่อนข้างที่จะพึงพอใจกับเนื้อจากหลอดทดลอง

สำหรับผม ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือข่าวหลุดออกมาว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติไทยแห่งหนึ่ง ขอไม่เอ่ยนาม ได้ร่วมลงทุนในสตาร์ตอัปยุคใหม่สัญชาติอิสราเอลผู้บุกเบิกเทคโนโลยี “สเต๊กเพาะเลี้ยง” และบริษัทสเกลอัปมือฉมังสัญชาติอินเดีย ให้มาตั้งโรงงานผลิตสเต๊กจากแล็บในประเทศไทย

นั่นหมายความว่า “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากแล็บ” มาแน่ในประเทศไทย คาดว่าในอีกไม่นานเกินรอ

About Author