สิ่งมีชีวิตในพระนาม เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9

โดย ชวลิต วิทยานนท์


ประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรประมงที่มีความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำสูงมาก มีนักวิทยาศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศหลายท่านได้ทำการศึกษาและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ โดยหลายชนิดได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงให้ความสำคัญและสนับสนุนการศึกษาด้านการประมงและธรรมชาติวิทยา รวมทั้งมีการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลต่าง ๆ และชื่อที่บอกที่มาของท้องถิ่นที่พบ

สัตว์น้ำเกียรติประวัติของไทยนั้นมีประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ปลา กุ้ง หอย สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน แมงกะพรุน และปะการัง รวมทั้งหมด 360 ชนิด เป็นปลา 145 ชนิด กลุ่มกุ้งปู 114 ชนิด หอย 45 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน 52 ชนิด แมงกะพรุนและปะการัง 4 ชนิด โดยจัดแบ่งเป็นกลุ่มสัตว์น้ำในพระนาม 21 ชนิด สัตว์น้ำในนามคนไทย 65 ชนิด สัตว์น้ำที่คนไทยตั้งชื่อ 200 ชนิด และสัตว์น้ำชื่อถิ่นไทย 80 ชนิด

เนื่องจากวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปั้นน้ำเป็นปลาฉบับนี้จึงขอนำเสนอสัตว์น้ำในพระนามที่นำพระนามของพระองค์มาตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามหลักอนุกรมวิธาน ซึ่งมีอยู่ 4 ชนิด คือ

ปลาโคราชอาเมียภัทราชัน  Khoratamia phattharajani Deesri, Naksri, Jintasakul, Noda, Yukawa, El Hossny & Cavin, 2023

พบโดยอาจารย์อุทุมพร ดีศรี และคณะ ตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติในสามัญนาม “ภัทราชัน” เป็นปลาโบราณในยุคครีตาเชียสตอนต้นหรือยุคไดโนเสาร์ อยู่ในกลุ่มปลาอาเมียหรือ bowfin ที่ปัจจุบันพบชนิดมีชีวิตเฉพาะในทวีปอเมริกาเท่านั้น ราว 2 ชนิด ปลาชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายปลาช่อนแต่มีเกล็ดแข็งขนาดเล็กรูปข้าวหลามตัด พบในหินชุดโคกกรวด ที่บ้านโกรกเดือนห้า จังหวัดนครราชสีมา มีขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร

ปลาตุ๊กตูน (bigscale jawfish)
Opistognathus rex Wongratana, 1975

ศาสตราจารย์ ดร.ทศพร วงศ์รัตน์ เป็นผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ โดยไม่ได้ใช้พระนามมาตั้งโดยตรง แต่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้คำว่า “rex” ในภาษาละติน แปลว่า พระมหากษัตริย์ มาเป็นชื่อชนิด ปัจจุบันพบว่าเป็นชื่อพ้องของ Opistognathus macrolepis Peters, 1866 เป็นปลาทะเลขนาดเล็กที่พบค่อนข้างยาก ตัวผู้จะมีหน้าที่อมไข่ปลาไว้ในปากเพื่อฟักจนกว่าลูกปลาจะฟักออกมาเป็นตัว ทำรังโดยขุดรูอยู่ใต้ก้อนหินในพื้นทรายปนโคลน พบทั้ง 2 ฝั่งทะเลไทย และภูมิภาคอินโดแปซิฟิกตอนกลาง ขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร

ปูเจ้าพ่อหลวง (giant mountain crab)
Indochinamon bhumibol (Naiyanetr, 2001)

พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 ตัวอย่างต้นแบบของปูเจ้าพ่อหลวงนี้ได้มาจากจังหวัดเลย ต่อมาจึงพบการกระจายพันธุ์เพิ่มเติมในจังหวัดพะเยา หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น และเพชรบูรณ์ ลักษณะเด่นเป็นปูน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณะกระดองมีความกว้างมากกว่าความยาว ฟันขอบกระดองด้านข้างส่วนหน้ายื่นต่ำแต่ยังเห็นได้ชัด มีขนาดความกว้างกระดองประมาณ 8 เซนติเมตร เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของชุมชนในอำเภอเชียงคานและจังหวัดใกล้เคียง มักจับได้ช่วงต้นฤดูหนาว โดยการขุดจากรูในป่าใกล้ริมลำธารเชิงเขา

หมึกสายราชา (regal octopus)
Amphioctopus rex (Nateewathana & Norman, 1999)

ชื่อของหมึกสายราชาไม่ได้ใช้พระนามมาตั้งโดยตรง แต่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้คำว่า “rex” ในภาษาละติน แปลว่า พระมหากษัตริย์ มาเป็นชื่อชนิดเช่นเดียวกับปลาตุ๊กตูน หมึกชนิดนี้พบทั้ง 2 ฝั่งทะเลไทยพบปะปนมากับหมึกสายชนิดต่าง ๆ ที่ถูกจับได้จากอวนลาก ลอบดักหมึก มีขนาดความยาวลำตัวประมาณ 5 เซนติเมตร

About Author