ม.มหิดล ส่งเสริมแนวคิดผู้ประกอบการโภชนาการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจชาติ

          โลกในยุคปัจจุบัน มี “นวัตกรรม” หรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่สู่สิ่งที่ดีกว่า เข้ามาเกี่ยวข้องในทุกวงการ ซึ่งรวมถึงแวดวงอาหารและโภชนาการ (Nutrition) โดยการศึกษาทางด้านอาหารและโภชนาการในปัจจุบันเป็นไปตามวิถีชีวิตที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และความเชื่อเดิมๆ ถูกเปลี่ยนแปลง หรือ disruption ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจในเรื่องอาหารและสุขภาพกันมากขึ้น

          รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงแนวทางการจัดหลักสูตรโภชนาการของสถาบันฯ ว่าได้ออกแบบตามนโยบาย “Entrepreneurial University” หรือ มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อมุ่งสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมพร้อมบัณฑิตสู่โลกของการเป็นผู้ประกอบการที่พร้อมสร้างสรรค์อาหารที่มีคุณภาพ และดีต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเรื่องของโภชนาการไม่อาจแยกออกจากภาพรวมของเศรษฐกิจและสังคม

          ด้วยความเข้มแข็งด้านการจัดการเรียนการสอนและวิจัยด้านอาหารและโภชนาการมาอย่างยาวนานของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถเป็นกำลังสำคัญให้กับอุตสาหกรรมอาหารตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้พัฒนาหลักสูตรที่ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ บนพื้นฐานของการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้บรรยากาศของการส่งเสริมการต่อยอดธุรกิจ หรือการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง (Startup) ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาและวางแผนอย่างรอบด้าน

          ตัวอย่างเช่น ในชั้นเรียนจะมีการมอบทุนตั้งต้นจำนวนหนึ่งให้นักศึกษาไปแบ่งกลุ่มวางแผนทำธุรกิจสร้างผลิตภัณฑ์อาหารขึ้นด้วยตัวเอง ตั้งแต่การวางแนวคิด การจัดหาวัตถุดิบ การคิดสูตรของผลิตภัณฑ์ การคำนวณสารอาหาร การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการวางแผนการตลาด ฯลฯ โดยใช้ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดอย่างรอบด้าน สมมุติว่า นักศึกษาจะทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ผลไม้ตามฤดูกาล จะต้องวางแผนด้วยว่า จะจัดหาวัตถุดิบอย่างไรให้สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องและคงคุณภาพเดิม และจะต้องดูแนวโน้มผู้บริโภค รวมทั้งเรื่องของการตลาดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์อยู่รอดได้ด้วย ซึ่งก่อนจบหลักสูตรจะให้นักศึกษาได้ pitching หรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ เพื่อให้นักศึกษาได้ทราบถึง feedback จากทีมผู้สอน และเพื่อนๆ ในชั้นเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปได้อีกด้วย

          “หลักสูตรทางด้านโภชนาการที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งหมดเป็นหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา และมีหลักสูตรนานาชาติที่เปิดรับนักศึกษาจากทุกวิชาชีพ และทุกเชื้อชาติ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องจบปริญญาตรีทางด้านโภชนาการมาก่อน ซึ่งการประกอบการด้านอาหารและโภชนาการจำเป็นต้องอาศัยหลายศาสตร์มาบูรณาการกัน จึงจะทำให้ได้นวัตกรรมทางอาหารที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด และจะยิ่งมีความยั่งยืนหากมีการสร้างสรรค์งานวิจัยมารองรับเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ” รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา กล่าวทิ้งท้าย

          ติดตามหลักสูตรโภชนาการที่น่าสนใจได้ที่ www.inmu.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author