การเตรียมความพร้อมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ปัจจุบันหากเริ่มต้นที่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอาจไม่ทันเท่าการได้เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ในวันที่เริ่มอ่านออกเขียนได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล คือเบื้องหลังสำคัญในการวางเนื้อหา และเทคนิคการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้ระบบ MUx (Mahidol University Extension) ให้กับประชาชนทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จนมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 40180:2017
ปัจจุบันได้ผลักดันให้งานของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่หยุดอยู่ที่การให้บริการนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการค้นคว้า และฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของโลกในยุคศตวรรษที่ 21 แต่เพียงเท่านั้น
ยังได้ขยายองค์ความรู้สู่ชุมชน โดยเริ่มต้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัยมหิดลผ่านนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้เกม “ผจญภัยในโลกมหิดล” (Mahidol History Adventure) ในโครงการ “Mahidol Historical Learning Experience เด็กไทยใจมหิดล” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Mahidol Intelligence Library ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ Mahidol Digital Convergence University หรือ Mahidol DCU เพื่อมุ่งสู่การเป็น Digital Library
นางสาวเพชรดา ฐิติยาภรณ์ หัวหน้าฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล คือผู้สานต่อดำริที่จะขยายองค์ความรู้สู่ชุมชนของท่านผู้อำนวยการฯ ให้เกิดขึ้นจริง รวมทั้งเป็นเบื้องหลังสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้เกม “ผจญภัยในโลกมหิดล” (Mahidol History Adventure)
จากการนำทีมระดมสมองผู้ทรงคุณวุฒิ 10 สาขาหลัก จาก 11 ส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมผลิตนวัตกรรมดังกล่าว อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์
โดยไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญต่อการฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในโลกแห่งความแตกต่างหลากหลาย (Inclusive Society) จาก สถาบันราชสุดา ที่อยู่ภายใต้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน โดยสอดแทรกการฝึกทักษะการใช้ภาษามือผ่านการทายภาพต่างๆ
จุดเชื่อมโยงผู้เล่นให้ได้เข้าถึงประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ของ “ความเป็นมหิดล” อยู่ที่ “Timeline” การ์ดเกมเรียงลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลในหน้าหลัก ร่วมกับ “Centre Point” จุดทอยลูกเต๋าแลกของรางวัล “Mini Map” ข้อมูลแนะนำคณะสถาบันต่างๆ และ “Mini Games” เกมส์ย่อยจาก 10 วิชาชีพ
โดยบอกเล่าถึงจุดกำเนิดของ “มหาวิทยาลัยมหิดล” ที่เริ่มต้นตั้งแต่การเป็น “โรงเรียนแพทยากร” เมื่อปี พ.ศ. 2436 “โรงเรียนแพทยาลัย” เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2433 “คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล” เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 การสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ก่อนได้รับพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 ถึง ปัจจุบัน
ตลอดจนได้มีการบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญ และอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลให้ได้เรียนรู้และจดจำผ่านการ์ดเกม อาทิ ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล สีประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ เป็นต้น
ในเบื้องต้นได้วางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ยุวชนในระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งสิ่งที่น้องๆ จะได้รับนอกจากการได้ค้นพบครั้งแรกว่าตัวเองมีความสนใจอะไร อยากจะเรียนคณะอะไร เพื่อไปประกอบอาชีพอะไร
นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ เกม “ผจญภัยในโลกมหิดล” (Mahidol History Adventure) ยังเป็นการมอบ “มรดกทางปัญญา” ให้กับชุมชน จากการออกแบบให้ยุวชนได้ฝึกทักษะที่จำเป็นต่างๆ ในการดำรงชีวิต อาทิ การแปรงฟันที่ถูกวิธี และการทำแผลด้วยตัวเอง เป็นต้น ภายใต้สถานการณ์จำลองเล็กๆ ที่จะช่วยกระตุ้นให้ยุวชนตัวน้อยๆ ตลอดจนเยาวชนในวัยที่โตขึ้นไปของชุมชนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองด้วยความเพลิดเพลิน
ที่ผ่านมา ทีมผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ เกม “ผจญภัยในโลกมหิดล” (Mahidol History Adventure) ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลจากโครงการ “MU Guide” ที่ริเริ่มโดย ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำหน้าที่ “ทูตแห่งประวัติศาสตร์และเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยมหิดล” ตระเวนลงพื้นที่โรงเรียนต่างๆ ในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา สาธิตการเล่นให้กับน้องๆ
ก้าวต่อไปเตรียมขยายศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้เกม “ผจญภัยในโลกมหิดล” (Mahidol History Adventure) ให้ครอบคลุมคณะ สถาบัน และวิทยาลัยต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล และเพิ่มการเข้าถึงชุมชนที่อยู่ในวงกว้างออกไปให้มากยิ่งขึ้น
ความสำเร็จไม่เพียงเกิดจากการทำให้ยุวชน-เยาวชนในชุมชนได้รู้จักและภาคภูมิใจในความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ยังได้ค้นพบตัวตนและเป้าหมายของชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อ “การคงอยู่” บนโลกในทุกยุคสมัย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
- ภาพจาก หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
- สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210