บนเส้นทางสู่การเป็นประเทศนวัตกรรม จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดเพื่อแสดงทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน และคงต้องฝากอนาคตของประเทศไทยไว้ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นเหมือนนักวิ่งถือคบเพลิงนำสู่เส้นชัยต่อไป แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้จำเป็นต้องผ่านการบ่มเพาะเคี่ยวกรำให้พร้อมตั้งแต่จุดสตาร์ทจนถึงเส้นชัย
เช่นเดียวกับเส้นทางสู่การเป็น “สตาร์ทอัพ” หรือการเริ่มต้นธุรกิจที่มีการออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน จำเป็นต้องมีการบ่มเพาะตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนสามารถออกสู่ตลาดได้จริง
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่เราวางโครงสร้างพื้นฐานเรื่องงานวิจัยที่เข้มแข็ง เหมือนเราตอกเสาเข็มไว้อย่างแน่นหนา หลังจากนั้นเราจึงจะเริ่มสร้างหลังคาขึ้นมาได้ ซึ่งเราจะสร้างไม่ได้เลยถ้ารากฐานไม่เข้มแข็ง ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลมีความเข้มแข็งเรื่องงานวิจัยแล้ว ก้าวต่อไป คือ ทำอย่างไรให้งานวิจัยเป็นที่ปรากฏในสายตาของประชาชน โดยอาศัย
กลไกการบ่มเพาะความรู้ที่เราได้รับมาไปพัฒนาตามตลาดที่เราต้องการ
เพื่อให้การบ่มเพาะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในปี 2564 มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) จึงได้ริเริ่มโครงการ “Mahidol Incubation Program 2021” (MIP 2021) เพื่อบ่มเพาะนักคิดสร้างสรรค์สู่เส้นทางสตาร์ทอัพ ทางออนไลน์ครั้งแรก โดยได้รับการสนับสนุนจาก DCU (Digital Convergence University) ที่มุ่งผลักดันมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การเป็น “Smart University”
โดย MIP 2021 ถือเป็นการบ่มเพาะบนพื้นฐานของการมีงานวิจัยรองรับอยู่แล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการเตรียมความพร้อมวางแผนออกแบบธุรกิจอย่างมีทิศทาง โดยมีพี่เลี้ยง (Coach) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมากด้วยประสบการณ์ เป็นผู้ช่วยนำทางกับโครงการเร่งสปีด (Accellerator) ที่จะเป็นกิจกรรมในภาคต่อที่คาดว่าจะเริ่มในปีหน้า สู่การทำให้ความฝันที่จะต่อยอดสู่ตลาดนั้นเป็นจริง
“ความท้าทายอยู่ที่การเปิดโอกาสให้ทีมนักคิดสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมแข่งขันได้เสนอไอเดียว่า หากได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพจากโครงการแล้วจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้ทั้งผลตอบแทนธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของคนส่วนใหญ่ บนพื้นฐานแห่งความเป็นไปได้ และการวางแผนที่รองรับความเสี่ยงไว้โดยรอบด้านด้วย โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่การมีนวัตกรรมที่ทำได้สำเร็จ และสามารถออกสู่ตลาดจริง” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน กล่าว
หุ่นยนต์ดมกลิ่น “MUI Robotics” หรือ Mahidol University Intelligent Robotics เป็น 1 ใน 8 ทีมที่เข้ารอบและรับทุนเริ่มต้นแล้วก้อนแรก ซึ่งเป็นการคิดต่อยอดสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ จากงานวิจัยคุณภาพที่ริเริ่มโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม “จมูกอิเล็กทรอนิกส์” เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ของ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ.2544
โดย นางสาววันดี อ้วนสอาด นักศึกษาปริญญาเอก ผู้เป็นศิษย์ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ รับหน้าที่หัวหน้าทีมสตาร์ทอัพ “MUI Robotics” ได้ใช้จุดขายจากความโดดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีซึ่งสามารถต่อยอดออกดอกออกผลให้เกิดประโยชน์นานัปการในแวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยความสามารถของหุ่นยนต์ในการดมกลิ่นและรับรสที่เลียนแบบระบบประสาทสัมผัสจริงของมนุษย์ได้ แต่ที่พิเศษยิ่งกว่าคือ การสามารถวัดได้ออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งทำให้เกิดความเที่ยงตรงและแม่นยำได้มากกว่าการใช้เพียงสัญชาตญาณ หรือการคาดเดา
นางสาววันดี อ้วนสอาด ได้เล่าถึงที่มาของการนำเทคโนโลยีซึ่งสร้างสรรค์และพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ มาต่อยอดสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพว่าเกิดจากความสนใจในผลงานของอาจารย์ธีรเกียรติ์ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้ความฝันที่จะเห็นงานวิจัยดังกล่าวสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้กลายเป็นจริง เนื่องจากทีมมีความพร้อมทั้งในด้าน Hardware และ Software ซึ่งนอกจากสามารถออกแบบการใช้เทคโนโลยีได้ตามความประสงค์ของลูกค้าแล้ว ยังสามารถสร้าง “แผนที่กลิ่น” เพื่อการตรวจสอบ และทำให้สินค้าได้มีมาตรฐานเดียวกัน และลดการ claim สินค้าได้ โดยทีมได้มีการเตรียมพร้อมด้านการวางแผนธุรกิจ ซึ่งมีฐานลูกค้ารองรับไว้แล้ว และก้าวต่อไปจะยื่นจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผ่าน สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนทดลองตลาดในไทย แล้วขยายไปยังระดับเอเชีย
แม้ Mahidol Incubation Program 2021 จะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาของการบ่มเพาะเพื่อรอก้าวสู่การเติบโตสู่โลกจริงทางธุรกิจ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ที่รอการพิสูจน์ถึงศักยภาพของนักคิดสร้างสรรค์รุ่นใหม่ว่าจะออกวิ่งนำพาคบเพลิงสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมให้กับประเทศไทยได้เร็ว และไกลเพียงใด เพียงความเชื่อมั่น และมุ่งมั่นตั้งใจ เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย
วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210