ม.มหิดล ผลิต ป.โทและเอก ประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพระดับโลก

          นับเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว หลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นหลักประกันให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างครอบคลุม จนได้รับการยกย่องจากทั่วโลก

          รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (หลักสูตรนานาชาติ) และอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความจำเป็นของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวคิดในระดับนานาชาติที่จะผลักดันให้แต่ละประเทศจัดให้กับประชาชนในประเทศ และอาจกล่าวได้ว่าสหราชอาณาจักรมีการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ควรนำมาเป็นแบบอย่างในการเสริมความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับระบบฯ


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว
ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (หลักสูตรนานาชาติ)
และอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ร่วมกับ National Institute for Health and Care Excellence หรือ “NICE” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของสิทธิหลักประกันถ้วนหน้าแห่งสหราชอาณาจักร พัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างเสริมศักยภาพของการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง เพื่อสร้างหลักฐานเชิงวิชาการในการสนับสนุนการตัดสินใจด้านนโยบายสุขภาพของประเทศ

          โดยที่ผ่านมาหลักสูตรฯ ได้พัฒนากำลังคนด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศแถบอาเซียน เอเชียใต้ และกำลังขยายขอบเขตสู่ประเทศในแถบทวีปแอฟริกา โดยทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ผลิตบัณฑิต พร้อมมอบทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล และจากแหล่งทุนอื่นๆ อาทิ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ และ “NICE”

          “เราจะทราบอย่างไรว่า เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ซึ่งรวมทั้งยา วัคซีน วิธีการผ่าตัด หัตถการ การคัดกรอง การวินิจฉัย และมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค สามารถรักษาผู้ป่วยหายจากโรค หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรค มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น พร้อมไปกับการทำให้ผู้ป่วย รวมทั้งผู้ที่ใช้เทคโนโลยีฯ เหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          ดังนั้น การประเมินประสิทธิผลของเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงประเมินความปลอดภัย ต้นทุน ความคุ้มค่า และงบประมาณของการนำเอาเทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้นๆ มาใช้ ตลอดจนผลกระทบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผลกระทบทางสังคม จริยธรรม กฎหมาย ฯลฯ จึงเป็นข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจ และกำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศ” รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว กล่าว

          หัวข้อวิจัยที่นักศึกษาในหลักสูตรเลือกทำวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่ได้จากโจทย์นโยบายสุขภาพของประเทศถิ่นเกิด เช่น เพื่อนำไปแก้ไขปัญหายา หรือเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาแพง

          อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการหยิบยกเรื่องสมุนไพรเพื่อศึกษาประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพโดยตรง

          ซึ่ง “สมุนไพรฟ้าทะลายโจร” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ควรศึกษาด้านการประเมินในเรื่องของประสิทธิผล ประเมินความปลอดภัย ตลอดจนความคุ้มค่าเพื่อประโยชน์สำหรับผู้บริโภคต่อไปในวงกว้าง

          โดยหลักสูตรฯ เป็นโครงการร่วมระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

          เปิดรับผู้สมัครที่สำเร็จการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ หรือสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science) ไม่ว่าจะเป็นปริญญาโท ซึ่งรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรี ใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 ปี หรือเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก จะมีทั้งปริญญาตรีไปปริญญาเอก ใช้เวลาศึกษาประมาณ 4 ปี และปริญญาโทไปปริญญาเอก ใช้เวลาศึกษาประมาณ 3 ปี

          ผู้สนใจสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล www.grad.mahidol.ac.th ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author