ม.มหิดล มุ่งพันธกิจเพื่อชุมชนยั่งยืนตาม SDGs สหประชาชาติ

          ทุกสรรพสิ่งบนโลกล้วนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ซึ่งความยั่งยืนไม่ใช่เกิดจากเพียงการแข่งขันเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดเท่านั้น แต่สังคมรอบข้างต้องอยู่รอดด้วย จึงทำให้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในปัจจุบันไม่ได้วัดกันที่ความเป็นเลิศทางวิชาการเพียงเท่านั้น แต่วัดกันด้วยการนำองค์ความรู้มาทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย

          รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นอกจากวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลก จากพันธกิจหลักในการผลิตบัณฑิตเพื่อสร้างคน และสร้างสรรค์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDGs4 ที่ว่าด้วยความเท่าเทียมทางการศึกษา (Quality Education) และ SDG9 ที่ว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม (Industry, Innovation and Infrastructure) แล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีพันธกิจในด้านบริการวิชาการ ที่สามารถดึงงานวิจัยมาช่วยเหลือสังคมและชุมชนได้ตาม SDGs11 ที่ว่าด้วยชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) และ SDGs17 ที่ว่าด้วยการร่วมกันเพื่อการบรรลุสู่เป้าหมาย (Partnerships for the Goals) ซึ่งงานพันธกิจสัมพันธ์ (Social Engagement) ที่มี impact สู่การสร้างนโยบายในระดับประเทศได้ต่อไปนั้น จะต้องเกิดจากการผสานระหว่างภาคสังคม สถาบันการศึกษา และภาครัฐ ที่สามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

          อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงงานพันธกิจสัมพันธ์ (Social Engagement) ที่ดำเนินการโดยวิทยาเขตนครสวรรค์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน โดยถือเป็นนโยบายหลัก เนื่องด้วยวิทยาเขตนครสวรรค์ มีที่ตั้งอยู่ในชุมชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ การสร้างเครือข่ายชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ งานวิจัยส่วนใหญ่ของวิทยาเขตนครสวรรค์จึงเกิดจากความร่วมมือกับชุมชน จากการลงพื้นที่จริง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชน ในลักษณะร่วมกันคิดร่วมกันทำ โดยมีเป้าหมายเพื่อความสำเร็จร่วมกัน เมื่อชุมชนเข้มแข็ง วิทยาเขตนครสวรรค์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนก็จะได้รับผลจากการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถขยายผลสู่ระดับประเทศได้ต่อไป

          “โครงการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหายาเหลือใช้ในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตัวอย่างหนึ่งในโครงการพันธกิจสัมพันธ์ (Social Engagement) ของวิทยาเขตฯ ที่นับเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล

          จากการลงพื้นที่ชุมชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านการประสานงานโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบล (รพ.สต.) บ้านเขาทอง แล้วพบปัญหาผู้สูงวัยที่เป็นผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ส่วนใหญ่มักลืมรับประทานยา และมียาเหลือใช้ ซึ่งเมื่อนำมาประเมินมูลค่าพบว่าจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรและสิ้นเปลืองงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ จึงได้คิดค้นนวัตกรรม “กระเป๋าคืนยาช่วยชาติ” เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการช่วยจัดและแจกกระเป๋ายา รวมทั้งให้คำแนะนำ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ผ่านสื่อวิทยุชุมชนตำบลเขาทองโดยทีมวิจัยที่มีทั้งอาจารย์ เภสัชกร พยาบาล และนักศึกษาของวิทยาเขตฯ ร่วมด้วยช่วยกันอย่างแข็งขัน

          “กระเป๋าคืนยาช่วยชาติ” นอกจากด้านในจะมีช่องใส่ยาที่แยกประเภทยาก่อนและหลังอาหารอย่างชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการให้ผู้ป่วยสูงวัยหยิบยามารับประทานแล้ว ยังออกแบบโดยใช้กุศโลบายที่ทำด้านหนึ่งของกระเป๋ายาด้านนอกให้มีรูปนาฬิกา เพื่อเป็นเครื่องหมายคอยเตือนไม่ให้ผู้ป่วยสูงวัยลืมรับประทานยา และเมื่อพลิกอีกด้านของกระเป๋ายาจะเห็นข้อความเตือนใจให้ส่งคืนยาเมื่อมียาเหลือ พร้อมแสดงสถิติงบประมาณที่รัฐต้องสูญเสีย หากมียาเหลือใช้

          โดยทีมวิจัยมีความตั้งใจจะขยายผลโครงการฯ ไปยังชุมชนอื่นที่ไม่มีสถานีวิทยุประจำชุมชนเป็นสื่อเสริม แต่จะใช้สื่อบุคคลโดยให้คนในชุมชนด้วยกันเองช่วยกันแนะนำ ซึ่งจะเป็นการให้คนในชุมชนได้ดูแลซึ่งกันและกันเพื่อความยั่งยืนได้ต่อไป

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย กล่าวเสริมทิ้งท้ายในฐานะหัวหน้าโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol University Social Engagement) ว่า มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากมีพันธกิจเพื่อสังคมอยู่ในสายเลือด ตามพระราชปณิธานแห่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” แล้ว

          มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีความแข็งแกร่งในศาสตร์ต่างๆ ที่สามารถบูรณาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนมี 3 ลำดับขั้น เริ่มจากการทำให้ชุมชนอยู่รอด พอเพียงเลี้ยงตัว และสามารถยกระดับสู่ความยั่งยืน เส้นทางการพัฒนาดังกล่าวเป็นความท้าทายของงานพันธกิจชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยอิงอาศัยความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งงานพันธกิจสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต่อไป

          ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดจัดงาน MUSEF 2021 (Mahidol University Social Engagement Forum 2021) ในรูปแบบออนไลน์ พบกับ 3 ผู้นำความเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมาบรรยายพิเศษในงาน ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อสังคม” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่อง “มหาวิทยาลัยมหิดลเขยื้อนสังคม” และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “มหาวิทยาลัยมหิดลกับ Sustainable Development Goals”

          นอกจากนี้ พบกับเสวนา “มหาวิทยาลัยมหิดลกับการชี้นำสังคม : กรณีศึกษา COVID-19” โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมการแสดงผลงานด้านพันธกิจชุมชนสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ครอบคลุมทั้งในด้านสุขภาพ เยาวชน ผู้สูงวัย การท่องเที่ยว สังคมแห่งความแตกต่างหลากหลาย และการรับใช้ชุมชนโดยวิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะมาร่วมนำเสนอแบบมีส่วนร่วมในงานดังกล่าว

          ผู้สนใจทั้งจากภาคสังคม สถาบันการศึกษา และภาครัฐ สามารถดูรายละเอียดพร้อมลงทะเบียนเข้าร่วมได้ที่ https://bit.ly/39Np6MR Facebook: MUSEF Conference


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author