ม.มหิดล สนับสนุนองค์ความรู้เตรียมพร้อมนักกีฬาเทควันโด และเรือใบทีมชาติ สู่สนามแข่งโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียว 2021”

          วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ “วันกีฬาสากลเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ” ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2439 ที่ประเทศกรีซ

          ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียว 2021” ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2564 ขณะนี้คาดว่าประเทศไทยจะสามารถส่งนักกีฬาทีมชาติเข้าชิงชัยในประเภทกีฬา ซึ่งได้แก่ เทควันโด เรือใบ ยิงปืน ยิงปืนเป้าบิน วินด์เซิร์ฟ จักรยานประเภทถนน ขี่ม้าอีเวนติ้งประเภททีม มวยสากลหญิง มวยสากลชาย และวิ่ง 10,000 เมตร

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

          ด้วยความภาคภูมิใจในความเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาไปประยุกต์ใช้ในการเตรียมความพร้อมนักกีฬาทีมชาติเทควันโด และเรือใบ เข้าชิงชัยในการแข่งขันครั้งยิ่งใหญ่ที่จะถึงนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิทยาลัยฯ มีความพร้อมที่ได้ร่วมกับโค้ช และนักกีฬาทีมชาติเทควันโด และเรือใบ วางแผนกลยุทธ์ปรับกลไกการฝึกเพื่อเพิ่มสมรรถนะของนักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงชีวกลศาสตร์ ซึ่งจะสามารถส่งเสริมให้การฝึกดีขึ้น และลดการบาดเจ็บจากการฝึกได้ เรามีความภูมิใจเสมอหากมีส่วนช่วยให้นักกีฬาทีมชาติประสบความสำเร็จ เพราะนักกีฬาทีมชาติ คือ ความหวังของประเทศไทยในเวทีกีฬาระดับโลกครั้งนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กรกฤษณ์ ชัยเจนกิจ
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพและคลินิกการกีฬา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กรกฤษณ์ ชัยเจนกิจ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพและคลินิกการกีฬา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า หากเราสามารถทำร่างกายนักกีฬาให้ดีขึ้น ดูแลการบาดเจ็บ เจ็บป่วยอย่างถูกวิธี ร่วมกับการฝึกซ้อมด้วยโปรแกรมที่เหมาะสม จะทำให้นักกีฬามีร่างกายพร้อมที่จะทำผลงานได้ดีที่สุดในการแข่งขัน ซึ่งในส่วนของนักกีฬาเทควันโดทีมชาติที่ตนดูแลจะมีการวิเคราะห์ร่วมกับโค้ชว่าจะต้องพัฒนาตรงจุดไหน อย่างไร โดยใช้องค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์การกีฬา ทำงานเป็นทีม โดยทำการประเมิน ให้คำแนะนำ และติดตามผลตามหลักการทางวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและฟื้นฟูสภาพร่างกายนักกีฬาเทควันโดทีมชาติให้สามารถฝึกได้อย่างเต็มศักยภาพ และพร้อมที่สุดสำหรับการแข่งขัน

อาจารย์ ดร.วิมลมาศ ตันสถิตย์
อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดูแลนักกีฬาเรือใบทีมชาติ

          อาจารย์ ดร.วิมลมาศ ตันสถิตย์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดูแลนักกีฬาเรือใบทีมชาติ กล่าวว่า ระหว่างการเก็บตัวนักกีฬาเรือใบทีมชาติ ทางทีมจะคอยดูแลและให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการฝึกที่ปลอดภัยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนักกีฬาต้องนั่งบนขอบเรือ เพื่อออกแรงคอยบังคับควบคุมเรือให้สามารถฝ่าคลื่นที่มีความสูงในทะเลเปิด จึงได้มีการวางโปรแกรมให้นักกีฬาได้ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในส่วนที่จำเป็นต่างๆ ของร่างกายร่วมด้วย

“น้องปาล์ม” จิรสิน จินดามรกฎ
นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยดูแลด้านโภชนาการนักกีฬาทีมชาติ

          “น้องปาล์ม” จิรสิน จินดามรกฎ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยดูแลด้านโภชนาการนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งในช่วงเตรียมความพร้อมนักกีฬาจำเป็นได้รับพลังงานที่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการดูแลพิเศษด้านอาหารและโภชนาการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการฝึก นอกจากนี้ยังได้คอยให้คำแนะนำนักกีฬาทีมชาติที่เข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมการฝึกในครั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ตนได้เป็นโค้ชนักกีฬาเรือพายของมหาวิทยาลัยมหิดลในรุ่นปัจจุบันซึ่งมีส่วนทำให้นักกีฬาเรือพายของมหาวิทยาลัยมหิดลติดทีมชาติถึง 3 ราย

“น้องขวัญ” ขวัญ ศรีจันทร์ทับ
นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยทดสอบสมรรถภาพนักกีฬาทีมชาติ

          “น้องขวัญ” ขวัญ ศรีจันทร์ทับ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยทดสอบสมรรถภาพนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งเคยเป็นนักกีฬาเรือพายที่มีส่วนร่วมในระดับทีมชาติ กล่าวว่า เราไม่สามารถสร้างคลื่นลมให้นักกีฬา แต่เราสามารถสร้างนักกีฬาให้พร้อมฝ่าคลื่นลมที่จะเข้ามาได้ อยากกล่าวฝากในฐานะที่ตนเคยเป็นนักกีฬาทีมชาติว่า กีฬาจะแพ้หรือชนะไม่ได้วัดกันแต่ด้วยพละกำลัง แต่ด้วยไหวพริบปฏิภาณของนักกีฬาร่วมด้วย จึงอยากให้ความสำคัญในเรื่องของการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่

“น้องแบม” กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม
นักกีฬาทีมชาติเรือใบ ผู้เป็นความหวังของคนไทยในการแข่งขันเรือใบในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียว 2021”

          “น้องแบม” กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม นักกีฬาทีมชาติเรือใบ ผู้เป็นความหวังของคนไทยในการแข่งขันเรือใบในกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนได้แรงบันดาลใจในการก้าวสู่นักกีฬาเรือใบทีมชาติจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) ซึ่งเรือใบที่พระองค์ทรงใช้ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 8 (เซียบเกมส์) ปีพ.ศ.2518 มีชื่อเรียกว่า “เวคา” เป็นเรือประเภทโอเค ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเรือที่ตนจะใช้ในการแข่งขันตรงที่เป็นเรือประเภทเล่นคนเดียว หากแต่ใช้ทักษะการควบคุมเรือที่แตกต่างกัน ด้วยการดูแลและให้คำปรึกษาด้านการเสริมสร้างสมรรถนะการฝึกกีฬาอย่างใกล้ชิดจากทีมผู้เชี่ยวชาญของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ตนมีความมั่นใจและพร้อมที่จะทำหน้าที่ตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันระดับโลกครั้งนี้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ดีที่สุด

          ติดตามข่าวที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author