ปี พ.ศ.2565 นี้ นับเป็นปีที่ 53 ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับพระราชทานนาม “มหิดล” อันเป็นพระนามแห่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขของไทย” ให้เป็นชื่อของ “มหาวิทยาลัยมหิดล” สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ถึงปัจจุบัน
อนึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดลมีประวัติศาสตร์อันยาวนานถึง 134 ปี หากเริ่มต้นนับจากที่ประเทศไทยมี “โรงศิริราชพยาบาล” เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรก นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
เนื่องในโอกาสวันครบรอบ “53 ปี วันพระราชทานนามมหิดล และ 134 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล” 2 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แสดงปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 12 เรื่อง “การปฏิรูปอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย: ไม่มีวันหยุดยั้ง” เพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พร้อมกล่าวถึงแผนปฏิรูปอุดมศึกษาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนข้อเสนอแนะที่มุ่งจุดประกายทางความคิดให้เกิดความร่วมมือกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล สู่การร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาขยายผลเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติต่อไป
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวยกย่อง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในฐานะที่ทรงเป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” ของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และปวงชนชาวไทย จากที่ได้ทรงศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก เพื่อมาช่วยเหลือคนที่ลำบากที่สุดในประเทศไทย
จึงอยากให้ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และปวงชนชาวไทยทุกคนดำเนินตามรอยของพระองค์ ร่วมใช้ความรู้ของตน เพื่อการเสียสละ และทำประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติให้ได้มากที่สุด ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด (mindset) เพื่อให้เข้ากับโลกยุคใหม่ ใช้วิชาการไปช่วยทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติให้ได้มากที่สุด
ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดลมีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะครบรอบ 3 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่จะถึงนี้ จากการที่อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเวลาต่อมา และได้มีส่วนผลักดันให้ก่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่รวมเอาภารกิจบริหารประเทศในส่วนของการอุดมศึกษา พัฒนาวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานด้านทุนวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมตามนโยบาย Thailand 4.0 ไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัวเช่นปัจจุบัน
จากที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการประกาศแผนปฏิรูปอุดมศึกษา โดยมีเนื้อหาส่วนใหญ่อยู่บนหลักการที่ใช้ได้จริง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการแบ่งกลุ่มอุดมศึกษาไทยออกเป็น 5 กลุ่ม ตามความเชี่ยวชาญที่โดดเด่น เพื่อการมุ่งสู่ความเป็นเลิศที่แตกต่างหลากหลาย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในกลุ่มที่เน้นการวิจัยเชิงลึกและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกันไป เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน เทคโนโลยี และศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ทำให้ประเทศสามารถสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ได้ตรงกับความถนัด และผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และมีการแข่งขันสูงเช่นปัจจุบัน ทำให้การเรียนการสอนที่เน้นวิชาการแต่เพียงด้านเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป จำเป็นต้องเสริมด้วยวิชาการและทักษะด้านอื่นๆ ที่ใช้ได้จริงร่วมด้วย จึงได้มีการลงนามร่วมกันระหว่าง 25 สถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อพลิกโฉมทิศทางการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาของไทย ให้สามารถเลือกเรียนข้ามศาสตร์-ข้ามสถาบันได้ตามความสนใจ โดยเน้นให้มีหลักสูตรที่เรียนแล้วใช้ได้จริง
และต่อไปจะได้มีการขยายผลสู่ระดับปริญญาตรี เพื่อเพิ่มขอบเขตทางการศึกษา และจะยกเลิกการรีไทร์สำหรับกรณีใช้เวลาศึกษานานเกินกำหนดเดิม เพื่อเพิ่มเติมโอกาสในการเรียนรู้ ตลอดจนเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ให้กว้างขวางออกไปอย่างไร้ขีดจำกัดอีกด้วย
ที่น่าจับตา คือ การริเริ่มให้มี “ธัชวิทย์” หรือศูนย์รวมความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ และ “ธัชชา” หรือศูนย์รวมความเป็นเลิศทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเป็น Virtual Organization หรือองค์กรเสมือนจริง ที่รวมเอาทรัพยากรบุคคลที่เป็นเลิศในแต่ละสาขา จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศมาอยู่ใน Think Tank หรือศูนย์รวมทางความคิดเดียวกัน
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวย้ำว่า ต่อไปมหาวิทยาลัยจะมีแต่นักวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมี “นักยุทธศาสตร์” ที่พร้อมจะออกจาก comfort zone มาร่วมคิดร่วมทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองร่วมกันด้วย
และในช่วงท้าย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวยกย่อง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีท่านแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อได้รับพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” ในปี พ.ศ. 2512 ในฐานะผู้บุกเบิกในยุคแรกของมหาวิทยาลัยมหิดลว่า เป็นนักสู้ผู้ไม่เคยย่อท้อต่อความยากลำบาก จนส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถเติบโตขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยในระดับแถวหน้าของประเทศไทยเช่นปัจจุบัน และหวังให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็น “ธงนำอุดมศึกษาไทย” ที่เข้มแข็งเพื่ออนาคตของประเทศชาติบ้านเมืองที่ยั่งยืนต่อไป
ติดตามชมปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 12 เรื่อง “การปฏิรูปอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย: ไม่มีวันหยุดยั้ง” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ย้อนหลังได้ทาง Facebook: Mahidol University พร้อมติดตามสรุปสาระสำคัญของการแสดงปาฐกถาฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “MU PRESS” ได้ต่อไป
ข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย
วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210