องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 25 เมษายนของทุกปี เป็น “วันมาลาเรียโลก” (World Malaria Day 2022)
โดยในปีนี้ใช้อรรถบทว่า “ควบคุมและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อรักษาชีวิตและลดภาระจากโรคมาลาเรีย” (Harness innovation to reduce the malaria disease burden and save lives)
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษา การบริการทางการแพทย์ และการวิจัย ได้ใช้บริบทความเป็นนานาชาติตั้งแต่เริ่มก่อตั้งตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นสถาบันหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล มีงานวิจัยด้านโรคเขตร้อน และโรคมาลาเรียอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก จากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปีพ.ศ.2564 (World’s Top2% Scientists by Stanford University 2021) ผลงานบุคลากรของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กว่า 9 รายติดอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก หรือร้อยละ 2 ของบุคคลทั่วโลกที่มีผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงสูงสุด
ศ.ดร.เกศินี โชติวานิช รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล
ศาสตราจารย์ ดร.เกศินี โชติวานิช รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานเป็นที่ยอมรับ จากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำงานวิจัยด้านโรคมาลาเรียในระดับห้องปฏิบัติการ และร่วมมือกับงานวิจัยทางคลินิก
ผลงานของ ศาสตราจารย์ ดร.เกศินี โชติวานิช เป็นผลงานจากระดับพื้นฐานสู่การต่อยอดสร้างนวัตกรรม ให้เกิดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัย และรักษาชีวิต เพื่อการขจัดและกวาดล้างโรคมาลาเรีย ตามการรณรงค์ขององค์การอนามัยโลก (WHO)
มาลาเรียที่มีอุบัติการณ์สูงสุดในคน คือ เชื้อฟัลซิปารัมและไวแวกซ์ ซึ่งมาลาเรียฟัลซิปารัมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเสียชีวิตได้ และมีวิวัฒนาการดื้อยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันสามารถดื้อต่อยาอาร์ติมิซินีน
มาลาเรียฟัลซิปารัม เป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกำจัดโรคมาลาเรียในระดับโลก ในขณะที่ มาลาเรียไวแวกซ์มักตอบสนองต่อยารักษาได้ดีแต่มีปัญหาเชื้อกลับซ้ำจากเชื้อที่แฝงอยู่ในตับ (hypnozoite) ทำให้เกิดอาการป่วยซ้ำๆ ได้ และมีปัญหาต่อการแพร่เชื้อ
ศาสตราจารย์ ดร.เกศินี โชติวานิช และคณะได้สร้างผลงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาจำเพาะของเชื้อมาลาเรียทั้งสองชนิด ได้แก่ พยาธิสภาพของมาลาเรียฟัลซิปารัมจากขบวนการการเกาะติดของเม็ดเลือดแดงติดเชื้อในเส้นเลือดสมองและอวัยวะอื่นๆ (sequestration) และผลของยาต้านมาลาเรียชนิดต่างๆ ที่สามารถยับยั้งการอุดกั้นเส้นเลือดในมาลาเรียชนิดรุนแรง การสร้างนวัตกรรมตรวจหาเชื้อดื้อยาอาร์ติมิซินีนที่ได้รับการปรับใช้ทั่วไป การสร้างโปรแกรมเพื่อใช้ในการประเมินผลตรวจหาเชื้อมาลาเรีย เพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายจากคนสู่ยุง และการศึกษายาที่มีผลต่อระยะแฝงของเชื้อไวแวกซ์ และยาที่มีผลต่อเชื้อระยะมีเพศของเชื้อฟัลซิปารัมและไวแวกซ์
ศาสตราจารย์ ดร.เกศินี โชติวานิช ได้เล่าถึงผลงานวิจัยและการทำงานซึ่งได้มีส่วนร่วมขจัดมาลาเรียให้หมดไปจากโลกนี้มานานกว่า 2 ทศวรรษ ครอบคลุมการวิจัยในห้องปฏิบัติการและการวิจัยภาคสนามในแหล่งที่มีมาลาเรียชุกชุม ทั้งในไทย และต่างประเทศ
“ปัจจัยสำคัญในการทำวิจัยให้ประสบความสำเร็จ ได้ประโยชน์ ตอบโจทย์ ใช้ได้จริง คือ การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ทุกฟันเฟืองของการวิจัยมีความสำคัญ หากมุ่งมั่นใส่ใจคุณภาพ ผลของการวิจัยนั้นๆ ก็จะเป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้ที่สุด” ศาสตราจารย์ ดร.เกศินี โชติวานิช กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210