Headlines

เสริมทักษะคิดเชิงวิเคราะห์ขั้นสูงให้ นศ.ทดลองออกแบบและผลิตวัคซีน

          โปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ การศึกษาเกี่ยวกับโปรตีน (Proteomics) มีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่สามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้ต่อไปอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการแพทย์ สู่การค้นพบยาใหม่เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันโรคอุบัติใหม่ที่โลกกำลังเผชิญ

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉลองรัตน์ โนรี อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สอนรายวิชาออนไลน์ “Protein Technologies and Applications” ที่อยู่ในโปรแกรม MAP-C (Mahidol Apprenticeship Program Curriculum) ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นหนึ่งในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลและพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉลองรัตน์ โนรี
อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล

          รายวิชาออนไลน์ “Protein Technologies and Applications” มีความโดดเด่นที่เทคนิคการสอนคุณภาพซึ่งใช้ได้ผลกับผู้เรียน โดยได้มีการใช้ “กระดานออนไลน์” ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้แก่ Microsoft Whiteboard และ Google Jamboard เพื่อเป็น “สื่อนำความคิด” ที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถติดตามเนื้อหาด้วยความเข้าใจ และนึกภาพตามได้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเริ่มจากกระดานออนไลน์ที่ว่างเปล่า แล้วจึงค่อยเขียนข้อสรุปและคำสำคัญต่างๆ พร้อมวาดภาพประกอบ จนออกมาเป็นรูปเป็นร่างที่สมบูรณ์

          นอกจากนี้ ผู้สอนยังเลือกใช้เทคนิคการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ขั้นสูง “Higher – Order Thinking Skills” ตามทฤษฎี “Bloom’s Taxonomy of Objectives” ของนักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน Benjamin Samuel Bloom (1913 – 1999)

          ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้ต่อยอดพัฒนาการทางปัญญาจากขั้นกลาง – ขั้นสูงสุด ในการฝึกทักษะการเรียนรู้จากการวิเคราะห์ (Analysis) การสังเคราะห์ (Synthesis) และการประเมินค่า (Evaluation) มาเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานของรายวิชาออนไลน์ “Protein Technologies and Applications” ที่จะทำให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจในเนื้อหาของการเรียนการสอนได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

          จุดเด่นของหลักสูตรฯ อยู่ที่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ผ่านโจทย์ที่ผู้สอนกำหนด ซึ่งจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง (Problem – Based Project) จากการออกแบบและผลิตโปรตีนเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังตัวอย่างที่ผ่านมาที่ได้ให้ผู้เรียนออกแบบและผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ซึ่งพัฒนาจากโปรตีน (Protien-Based COVID-19 Vaccine)

          โดยได้ให้แต่ละทีมนำเสนอผลงานการสร้างสรรค์นวัตกรรม เริ่มตั้งแต่ที่มา ความสำคัญ เหตุผลในการออกแบบ กระบวนการผลิต การรับรองมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ปัจจัยทางการตลาด ตลอดจนให้แต่ละทีมได้อภิปรายเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ของตัวเองกับทีมคู่แข่ง เพื่อให้ได้ทราบถึงจุดอ่อนและจุดแข็งซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

          ทิ้งท้ายด้วยมุมมองต่อการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉลองรัตน์ โนรี แนะนำว่า ควรจะมีการทบทวน วิเคราะห์ และปรับปรุงเพื่อลดขั้นตอนที่เกินจำเป็น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดข้อเสียเปรียบได้ในการแข่งขันระดับนานาชาติ ประเทศไทยเรามีความพร้อมอยู่แล้วทั้งทางด้านทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติ หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนที่ตรงจุด เพียงพอ และต่อเนื่อง จะทำให้เกิดพลวัตสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต

          เปิดลงทะเบียนที่ https://graduate.mahidol.ac.th/MAP-2021/MAP-C.php และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทาง https://mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2849-6210

About Author