ทำความรู้จัก “โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ค (Marburg virus disease)”

          ข่าวการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ค (Marburg virus disease) ที่ประเทศอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) ในแอฟริกากลาง กำลังเป็นที่เฝ้าจับตาของผู้คนทั่วโลก โดยจากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีอาการติดเชื้อรุนแรง มีไข้ และอาเจียนเป็นเลือด อีกทั้งยังมีผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายสงสัยอีกจำนวน 16 ราย ทั้งนี้ประเทศไทยได้กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์คเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยมีอัตราการป่วยเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 88

          โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ค เดิมทีเรียกว่า “ไข้เลือดออกมาร์บวร์ค” พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 ในห้องปฏิบัติการการทดลองที่เมืองมาร์บวร์คและฟรังค์ฟอร์ท ประเทศเยอรมนี รวมทั้งยังพบเชื้อไวรัสแพร่กระจายไปยังเมืองเบลเกรด ประเทศเซอร์เบียด้วย ซึ่งผู้ป่วยที่พบครั้งแรกคือเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการที่ติดเชื้อจากการสัมผัสลิงเขียวที่นำเข้ามาจากประเทศยูกันดาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโปลิโอ

          โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ค เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันที่มีอัตราการตายสูง มีอาการได้ตั้งแต่ 2-21 วันหลังได้รับเชื้อ อาการที่พบคือไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยทั่วร่างกาย ตามมาด้วยอาการท้องเสียและอาเจียน รวมทั้งอาจถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด ซึ่งมีลักษณะอาการเช่นเดียวกับโรคอีโบลา ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาจำเพาะ เน้นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

          ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊กของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ระบุว่าแม้ขณะนี้จะมีวัคซีนไวรัสมาร์บวร์ค ที่ได้พัฒนาขึ้นในรูปแบบไวรัลเวกเตอร์จาก Adenovirus คล้ายกับวัคซีนโควิด-19 ของ AztraZeneca หรือ Johnson and  Johnson แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์คในมนุษย์มีน้อยมาก ทำให้ข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการป้องกันโรคยังมีไม่มากนัก

          ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดพบว่าอาจมีแผนการนำวัคซีนดังกล่าวไปศึกษาดูประสิทธิภาพการป้องกันในประเทศที่กำลังประสบปัญหาการระบาดในปัจจุบัน

          อย่างไรก็ดี แม้ในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ค แต่ปัจจุบันมีการเดินทางจากประเทศต่าง ๆ มายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงและเตรียมแผนรับมืออย่างต่อเนื่อง

ต้องรู้! ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อโรคไวรัสมาร์บวร์

  •  บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ
  • สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ติดเชื้อ
  • สัมผัสของเหลวจากร่างกายหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
  • สัมผัสของเหลวจากร่างกายหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ

อ้างอิงข้อมูล

https://bit.ly/3kiz1To
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/186344/
https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/93006-heabod-hea-

About Author