อรพินท์ วิภาสุรมณฑล (เมนช) เรียบเรียง
บทนำ
นักเรียน นักศึกษา นักอ่านทั่วโลกต่างได้ยินชื่อ “มารี กูรี” มาก่อน เพราะเธอเป็นผู้หญิงคนแรกในหลายๆ ด้าน เช่น
– เป็นผู้ค้นพบธาตุพอโลเนียมและเรเดียม
– ค้นพบปรากฏการณ์กัมมันตภาพรังสีได้รับรางวัลโนเบลสองครั้ง ครั้งแรกทางฟิสิกส์และต่อมาอีกครั้งทางเคมี
– เป็นศาสตราจารย์หญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยแห่งปารีส
จุดประสงค์ในการเขียนเรียบเรียงเรื่องราวชีวิตของมารี กูรี ฉบับนี้นั้น เพื่อให้เด็กไทย โดยเฉพาะนักเรียนหญิง ได้ซึมซาบถึงประวัติรายละเอียด พื้นฐานครอบครัว อุปนิสัย ความมานะบุกบั่นตลอดจนอุปสรรค ความล้มเหลวความผิดหวังด้านต่างๆ ที่เธอต้องฟันฝ่ากว่าจะประสบความสำเร็จ
ดิฉันหวังว่าการเสนอเรื่องราวพร้อมบริบทสนับสนุนต่างๆ จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนหญิงของเราตั้งเข็มเลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาตรี โท และเอก เพิ่มจำนวนมากขึ้นความหวังส่วนตัวลึกๆ คืออยากให้โลกมีนักวิทยาศาสตร์หญิงอย่างมารี กูรีเพิ่มขึ้นหลายๆ คนในอนาคต และหวังว่ามีหญิงไทยในจำนวนนั้นด้วย
บทที่ 1
มาเรียในมาตุภูมิโปแลนด์ (ค.ศ. 1867-1891)
มาเรีย สคลอดอฟสกา (Maria Sklodowska) (หรือ Marie Sklodowska ในภาษาฝรั่งเศส) เกิด 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1867 ที่กรุงวอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ แผ่นดินโปแลนด์ช่วงนั้นถูกแบ่งแยกเป็นสามส่วน ปกครองโดยประเทศมหาอำนาจเพื่อนบ้าน ได้แก่ เยอรมนี รัสเซีย และออสเตรีย ดังที่แสดงในรูปที่ 1 กรุงวอร์ซอว์อยู่ในเขตปกครองของรัสเซีย
รูปที่ 1 มารีเกิดและเติบโตในช่วงที่วอร์ซอว์อยู่ในเขตปกครองของรัสเซีย
พ่อชื่อ วลาดิสลอว์ สคลอดอฟสกา (Wladyslow Sklodowska) แม่ชื่อบรอนิสลาวา โบกัสกา (BronislawaBoguska) เธอเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 5 คน ชายหนึ่ง หญิงสี่เรียงตามลำดับดังนี้ โซฟี (Sophi) โจเซฟ(Joseph) บรอเนีย (Bronia) เฮเลน (Helen) มาเรีย (Maria)
เด็กหญิงมาเรียเติบโตในกรุงวอร์ซอว์เขตวิสทูลา (Vistula) ประเทศโปแลนด์ในสมัยที่ยังอยู่ในความปกครองของรัสเซีย ภายใต้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สองรัสเซียปกครองโปแลนด์แบบบังคับกดขี่หวังจะกลบกลืนภาษาและวัฒนธรรมของชนชาติโปแลนด์ โดยบังคับให้โรงเรียนในโปแลนด์สอนเป็นภาษารัสเซีย ตามหลักสูตรเขียนโดยคนรัสเซีย ซึ่งเน้นประวัติศาสตร์และวรรณคดีรัสเซีย ห้ามอ่านเขียนภาษาโปล จะมีผู้ตรวจการชาวรัสเซียโผล่มาสังเกตการณ์ตามโรงเรียนโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ถ้าพบว่าฝ่าฝืน โรงเรียนและครูชาวโปลที่ออกนอกกรอบจะถูกลงโทษ
ภายใต้การปกครองของรัสเซียนั้น มีการลุกฮือต่อต้านรัสเซีย 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1831 ภายใต้ซาร์นิโคลัส แต่ไม่สำเร็จ กลุ่มก่อการปฏิวัติถูกจับขังคุก เนรเทศ ถูกยึดทรัพย์สมบัติ ครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1863 ภายใต้ซาร์อเล็กซานเดอร์ก็ล้มเหลวอีก เพราะอาวุธที่ใช้มีแค่กระบอง เคียว พลั่ว เท่านั้น ผู้ก่อการถูกจับขังคุกหรือถูกเนรเทศส่งไปอยู่ไซบีเรีย เหตุการณ์เหล่านี้เป็นผลให้ชาวโปแลนด์กลุ่มที่มีการศึกษาดี หรือพวก ‘มันสมอง’ ได้แก่ กลุ่มนักบวช ครู อาจารย์ ศิลปินมีแนวโน้มเป็นชาตินิยมเพิ่มขึ้น หันมาทำการต่อต้านแบบใต้ดิน โดยมีการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมโปแลนด์ตามบ้านหรือสถานที่ต่างๆ อย่างลับๆ
รูปที่ 2 พี่น้อง 5 คน ในครอบครัวของมารี เรียงจากซ้ายไปขวา โซฟี เฮเลน มาเรีย โจเซฟ บรอเนีย
พ่อและแม่ของมาเรียสืบตระกูลมาจากตระกูลขุนนางเก่าแก่ มีมรดกที่ดินตกทอด แต่ถูกริบไปเกือบหมดเมื่อรัสเซีย เข้ายึดครองโปแลนด์ จึงกลายเป็นชนชั้นกลาง มีสายสาแหรกคือญาติๆ ทั้งฝ่ายพ่อและแม่กระจายอยู่ทั่วไปในโปแลนด์ญาติๆ เกือบทุกคนมีการศึกษาดี และมีอาชีพที่สังคมนับถือ เช่น เป็นทนายความศิลปิน ครู อาจารย์ พ่อของมารีเองเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ในโรงเรียนมัธยมรัฐบาล แม่เรียนจบมัธยมจากโรงเรียนราษฎร์หญิงแห่งแรกของวอร์ซอว์ และต่อมาได้เป็นครูใหญ่โรงเรียนหญิงแห่งเดียวกันนี้ เมื่อแต่งงานกับพ่อ ทางโรงเรียนจัดให้ครอบครัวอยู่ในอพาร์ตเมนต์ในทาวน์เฮาส์ติดกับอาคารเรียน ลูกๆ ทั้งห้าคนเกิดที่บ้านนี้เงินเดือนรวมของพ่อกับแม่ในช่วงนี้ เพียงพอสำหรับใช้จ่ายครอบครัว มีความเป็นอยู่สุขสบายไม่ขัดสน จนกระทั่งพ่อได้งานใหม่ ต้องย้ายไปเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ที่โรงเรียนในย่านไกลออกไป แม่จึงเกษียณย้ายตามมาเป็นแม่บ้านอย่างเดียว
พ่อแม่เป็นคาทอลิก แม่เคร่งศาสนา พ่อไม่เคร่งศาสนา เคร่งขรึม รู้หลายภาษา เป็นนักอ่าน นักเขียน นักกลอน หมั่นอ่านบทความทางเคมีและฟิสิกส์เพื่อให้ทันสมัย จึงมีความรู้รอบตัวกว้างขวางและลึกซึ้ง อีกทั้งเป็นคนมีระเบียบ กิจกรรมที่จะทำทุกอย่างจะมีการ ตั้งเป้าหมายวางแผนอย่างรอบคอบ
กิจวัตรในบ้านสคลอดอฟสกานั้น พ่อแม่กวดขันลูกๆ เรื่องเรียน ลูกๆ ต้องทำแบบฝึกหัดฟิสิกส์ก่อนนอนทุกคืน ทุกวันเสาร์ตอนเย็นตั้งแต่หนึ่งถึงสามทุ่ม ลูกๆ นั่งล้อมวงดื่มชา ฟังพ่ออ่านจากหนังสือ ‘ต้องห้าม’ เช่น อ่านวรรณคดี หรือบทกวี ในภาษาอื่นๆ บางครั้ง พ่อจะแปลเป็นภาษาโปลให้ฟังสดๆ ตรงนั้นเลย พ่อมักแทรกสอนให้ความรู้แม้ยามอยู่นอกบ้าน ยามเดินทางไปพักผ่อนในชนบท เช่น สอนธรรมชาติวิทยา ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ เมื่อโอกาสอำนวยลูกๆ ทุกคนจึงเรียนได้คะแนนดี
มาเรียมีสมาธิและความจำดีเยี่ยม เรียนเก่ง มักได้ที่หนึ่ง คว้าเหรียญรางวัลเสมอ เธอปราดเปรื่องในภาษาลาติน เยอรมัน รัสเซีย และ ฝรั่งเศส ทั้งยังเป็นเด็กช่างสังเกต ช่างคิด ชอบเรียนรู้ เธอมักแวะไปที่ห้องทำงานของพ่อที่มีบารอมิเตอร์แขวนอยู่บนผนัง สำรวจตู้เก็บ เครื่องมือ อุปกรณ์ทดลองทางฟิสิกส์ต่างๆ เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก หลอดแก้ว ตัวอย่างแร่ต่างๆ รวมทั้งเครื่องตรวจประจุไฟฟ้า (อิเล็กโตรสโคป)
พี่น้องทุกคนสนิทกลมเกลียว เรียนด้วยกัน เล่นด้วยกัน ช่วยเหลือกันและกัน ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ทั้งครอบครัว จะไปพักอยู่แถวชนบทนอกเมืองกับญาติๆ แทนที่จะไปพักตากอากาศแถวรีสอร์ทอย่างที่ผู้มีอันจะกินนิยมปฏิบัติกันในสมัยนั้น
เมื่ออายุสิบขวบ เธอต้องสูญเสียบุคคลที่รักยิ่งถึงสองคน คือ พี่สาวคนโต โซฟี ป่วยเป็นโรคไข้รากสากใหญ่เสียชีวิต และไม่นานต่อมา แม่จากไปด้วยวัณโรค (สันณิษฐานว่าแม่เริ่มเป็นตั้งแต่มาเรียแรกเกิด) ความสูญเสียครั้งนี้อาจเป็นสาเหตุที่เธอมีความคิดต่อต้านความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในสังคม และทำให้ความศรัทธาในศาสนาคาทอลิกเริ่มคลอนแคลน
ความขัดสนทางการเงินของครอบครัวเริ่มจากพ่อเอาเงินสะสมก้อนใหญ่ไปร่วมลงทุนธุรกิจกับน้องเขย เพื่อสร้างโรงสี ในชนบท ซึ่งล้มเหลว ทั้งยังถูกลดตำแหน่ง ตัดเงินเดือนเมื่อทางการรัสเซียสงสัยว่าสอนนอกขอบเขตบังคับ ตลอดจนค่าใช้จ่ายส่งแม่ไปรักษาตัวตามสถานพักฟื้นต่างๆ เป็นผลให้ครอบครัวต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่มีเงินพอที่จะส่งเสียลูกๆ ผู้หญิง ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่เมืองนอก เนื่องจากมหาวิทยาลัยในโปแลนด์ ในสมัยนั้น (โดยนโยบายของรัสเซีย) ไม่รับนักศึกษาหญิง
ครอบครัวมาเรียเห็นด้วยกับหลักการของกลุ่ม positivist ที่เชื่อว่าโปแลนด์มีหนทางปลดแอกเป็นอิสระจากรัสเซียได้ โดยการศึกษาและเศรษฐกิจ มากกว่าการใช้กำลังต่อต้าน ชาวโปล์โดยเฉพาะผู้หญิงควรได้รับการศึกษาดีถึงขั้นสูงสุด ในวิทยาการทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ผู้ได้เรียนรู้ก่อนมีหน้าที่ต้องสอนผู้ไม่รู้รุ่นต่อไป
เนื่องจากมหาวิทยาลัยในโปแลนด์ไม่รับนักศึกษาหญิง ทางเลือกสำหรับเด็กหญิงชาวโปลที่เรียนจบมัธยมศึกษามีจำกัด คือเลือกไปเรียนต่อเมืองนอก ที่รัสเซีย เยอรมัน หรือฝรั่งเศส ถ้าครอบครัวมีฐานะดี หรือแต่งงานเป็นแม่บ้านแม่เรือน หรือทำงานเป็นช่างฝีมือตามโรงงาน เป็นครูในโรงเรียนมัธยม เป็นครูสอนพิเศษ เป็นครูพี่เลี้ยง (governess) ไปอยู่กับครอบครัวที่มีอันจะกิน สอนหนังสือให้ลูกๆ ของนายจ้างโดยได้รับเงินตอบแทนต่อปี
รูปที่ 3 จาดวิกา ซัคซาสกา-เดวิโดวา (Jadwiga Szczasinska-Davidowa)
ในปี ค.ศ.1882 สตรีชาวโปลชื่อ จาดวิกา ซัคซาสกา-เดวิโดวา (Jadwiga Szczasinska-Davidowa) ได้เริ่มจัดตั้งสถาบันระดับอุดมศึกษาใต้ดินสำหรับสตรีขึ้น สอนโดยนักวิชาการชาวโปลที่มีชื่อเสียงในด้านวิทยาศาสตร์ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณคดีและวัฒนธรรม โดยเปลี่ยนสถานที่สอนไปตามอพาร์ตเมนต์ของผู้ให้ความสนับสนุน แต่ในปี ค.ศ.1883 ที่มาเรียจบมัธยมศึกษานั้น อาจารย์ส่วนใหญ่ถูกย้ายออกจากกรุงวอร์ซอว์
เดวิโดวา จัดตั้งสถาบันเป็นทางการใน ปี ค.ศ.1886 รู้จักกันในชื่อว่า ‘มหาวิทยาลัยเคลื่อนที่’ (floating/flying university) มีหลักสูตรแน่นอน เปิดสอนหลายสาขาวิชา สอนอาทิตย์ละสองชั่วโมง ตามสถาบันลับๆ หลายแห่งทั่วกรุงวอร์ซอว์ เรียนจบหลักสูตรได้ปริญญาใน 6 ปี มาเรีย บรอเนีย และ เพื่อนหลายคนสมัครเรียนที่สถาบันนี้ ด้วยหวังว่าการเรียนนี้จะช่วยให้มีอาชีพการงานที่ดีและเป็นการปูพื้นฐานไปเรียนต่อเมืองนอกด้วย
บรอเนียเรียนจบมัธยมศึกษาด้วยคะแนนดีเยี่ยม เธอฝันอยากไปเรียนแพทย์ที่ปารีส แต่ต้องทำหน้าที่ดูแลครอบครัวในฐานะลูกคนโต โจเซฟเรียนจบมัธยมศึกษาด้วยคะแนนดีเยี่ยมเช่นกัน และได้รับเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงวอร์ซอว์
มาเรียเรียนจบมัธยมศึกษาด้วยคะแนนดีเยี่ยม ได้รับรางวัลเหรียญทอง เมื่ออายุเพียง 16 ปี ซึ่งน้อยเกินไปที่จะเป็นครูสอนในโรงเรียน หรือครูสอนพิเศษตามบ้านโดยการแนะนำของพ่อ เธอใช้ชีวิตหนึ่งปีหลังจากจบมัธยมพักผ่อนอย่างเต็มที่ ในฤดูร้อนเธอไปอยู่กับญาติฝ่ายแม่ในเมือง เซลลา (Zella) ซึ่งอยู่ทางใต้ของวอร์ซอว์ ในฤดูหนาว เธอไปอยู่กับญาติฝ่ายพ่อ(ลุง)ในเมือง สคาลบเมิรซ (Skalbmierz) อยู่ทางใต้ใกล้เชิงเขาคาร์พาเธียน (Carpathian) เธอได้สัมผัสกับชีวิตในชนบท แวดล้อมด้วย สวน ไร่นา สัตว์เลี้ยง มีอิสระร่าเริง เช่นเดียวกับวัยรุ่นทั่วไป ได้เป็นตัวของตัวเอง นอนตื่นสาย อ่านนวนิยาย จัดงานสังสันท์กับญาติๆ และเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน ไปงานปาร์ตี้ เต้นรำ ดูคอนเสิร์ต เก็บเบอรี่ป่าชนิดต่างๆ หัดขี่ม้า เป็นปีที่เธอมีความสุขที่สุด ในฤดูใบไม้ผลิ
ก่อนกลับวอร์ซอว์ เธอกับเฮเลนได้รับเชิญ ไปพักกับครอบครัวศิษย์เก่าของแม่ที่คฤหาสน์หรู อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของวอร์ซอว์ ที่นี่เธอใช้ชีวิตแวดล้อม ไปด้วยสิ่งของสวยงาม ได้พบปะเพื่อนต่างเพศ สังสันท์ในงานปาร์ตี้ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ต่างไปอีกแบบหนึ่ง จากจดหมายที่มาเรียเขียนถึงเพื่อนสนิทเล่าถึงประสบการณ์ในปีนี้ ทำให้เห็นภาพมาเรียจากอีกมุมมองหนึ่ง เป็นภาพเด็กหญิงวัยรุ่นที่มีชีวิตชีวา มีอารมณ์ขัน ขี้เล่น เหมือนสาวรุ่นอื่นๆ ไม่ใช่เป็นเด็กหัวรุนแรง เจ้าทุกข์ เอาแต่เรียนอย่างเดียว
(โดยนิสัยมาเรียเป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบปลูกต้นไม้ ทำสวน ชอบอยู่ในที่แวดล้อมด้วยต้นไม้ ดอกไม้ ในจดหมายและบันทึกไดอารี่ เมื่อไปพักต่างถิ่นเธอมักบรรยายถึงต้นไม้หรือดอกไม้ในบริเวณที่พักเสมอ เธอชอบออกกำลังโดยทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เดิน ขี่จักรยาน ขี่ม้า ปีนเขา ว่ายน้ำ)
มาเรียกับบรอเนียร่วมกันวางแผนเพื่อให้ความฝันเรื่องเรียนต่อที่ปารีสเป็นจริงให้ได้ โดยตกลงกันว่า เธอจะทำงานหาเงินส่งให้บรอเนียไปเรียนแพทย์ก่อน ส่วนเธอจะไปเรียนหลังจากที่บรอเนียเรียนจบเป็นหมอมีรายได้แล้ว (เป็นตัวอย่างหนึ่งแสดงถึงความเสียสละเพื่อพี่น้อง และการรู้จักแก้ปัญหาอย่างแยบยล)
เธอได้งานเป็นครูพี่เลี้ยง (governess) ไปอยู่ ดูแล และสอนหนังสือให้ลูกๆ ของครอบครัว โซราวสกา (Zorawska) ที่จังหวัดหัวเมืองชื่อ ซูก์ซูกี (Szczuki) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงวอร์ซอว์ไปทางเหนือประมาณ 50 ไมล์ ได้รับเงินตอบแทน 500 รูเบิ้ลต่อปี มีสัญญาสอนสามปี หลังจากที่หักจำนวนหนึ่งส่งไปให้บรอเนียแล้ว มาเรียแทบไม่มีเงินเหลือสำหรับใช้จ่ายซื้อของส่วนตัวเลย เธอใช้เวลาตอนค่ำศึกษาวิชาสังคมวิทยาและฟิสิกส์ ด้วยตัวเอง เธอเรียนคณิตศาสตร์ โดยทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ แล้วส่งทางไปรษณีย์ไปให้พ่อตรวจ เมื่อตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนต่อทางวิทยาศาสตร์ เธอขอเรียนเคมีกับนักเคมีของโรงงาน
ครอบครัวโซราวสกา ทำฟาร์ม ต้นบีท (beet) และดูแลกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลจากต้นบีท มาเรีย มีหน้าที่สอนหนังสือ ลูกสาวคนโต บรอนกา ( Bronka) ซึ่งอายุไล่เรี่ยกับเธอ กับลูกสาวคนเล็กอายุสิบขวบ นอกจากนั้น ยังต้องสอน ลูกชายที่อยู่โรงเรียนประจำ ช่วงที่กลับมาอยู่บ้านอีกด้วย เธอเข้ากับบรอนกาได้ดี โดยความเห็นชอบของนายจ้าง นอกเวลาทำงานของมาเรีย ทั้งคู่ได้เปิดชั้นเรียน สอนหนังสือแก่เด็กๆ ลูกชาวบ้านวันละสองชั่วโมง เพื่อให้เด็กในชุมชนนี้อ่านออกเขียนภาษาโปลแทนได้ แทนที่จะที่เติบโตแบบไม่รู้หนังสือ หรือถูกบังคับให้เรียนเป็นภาษารัสเซียในโรงเรียน ในวันพุธกับวันเสาร์ เธอให้เวลาอยู่กับเด็กถึงห้าชั่วโมง ทั้งๆ ที่กิจกรรมที่เธอทำนี้ เสี่ยงมาก หากถูกจับได้ อาจมีโทษถึงขั้นเนรเทศ แต่เธอทำเพราะเชื่อในหลักการของ พอสิติวิซิม (positivism)
ลูกชายคนโตของนายจ้างชื่อ คาสิเมอร์ซ (Kazmierz) เรียนอยู่มหาวิทยาลัย ได้สานสัมพันธ์กับมาเรียถึงขั้นเป็นคู่รักกันอยู่ระยะหนึ่ง แต่ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งนี้ไปไม่ถึงขั้นได้แต่งงานกัน ต้องยุติลงในที่สุด เนื่องจากพ่อแม่ฝ่ายชายคัดค้านเต็มที่ถึงความไม่เหมาะสมด้านฐานะ ว่ามาเรียฐานะยากจนเป็นแค่ครูรับจ้าง (ทั้งๆ ที่มาเรียมาจากครอบครัวที่มีพื้นเพดี เป็นที่นับถือในสังคม) ตัวคาสิเมอร์ซเองก็ไม่กล้าหาญถึงขั้นขัดขืนพ่อแม่ มาเรียรู้สึกเจ็บใจที่ถูกเหยียดหยาม เธอต้องการพิสูจน์ว่าเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิต โดยหันมาทุ่มเทกับการเรียนด้วยตัวเองอย่างหนัก เพื่อเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อที่ปารีส
ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ.1888 หลังเกษียณ พ่อรับทำงานพิเศษป็นผู้อำนวยการโรงเรียนดัดสันดาน (reform school) ไม่ไกลจากวอร์ซอว์ ได้รับเงินเดือนเพียงพอที่จะส่งให้ บรอเนียเรียนจนจบแพทย์ มาเรียจึงมีเงินเก็บสะสมสำหรับตัวเองไปเรียนต่อบ้าง
เมื่อบรอเนียเรียนจบแพทย์ อีกหนึ่งปีต่อมา มาเรียตัดสินใจไม่ไปปารีสทันที เธอให้เหตุผลว่าต้องการกลับไปอยู่วอร์ซอว์เพื่อดูแลพ่อ เหตุผลที่แท้จริงนั้นเธออยากรอให้ โจเซฟกับ เฮเลน ตั้งหลักฐานที่วอร์ซอว์ได้เสียก่อน
เธอกลับมาวอร์ซอว์สมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเคลื่อนที่ คราวนี้เธอมีโอกาสทำการทดลอง โดยใช้ห้องแล็บ ในอาคารเล็กๆ ที่หน้าฉากจัดเป็นพิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เธอเริ่มต้นทำแล็บฟิสิกส์กับเคมีตามที่อ่านพบในตำรา เพื่อดูว่าจะได้ผลลัพธ์ตรงตามในตำราหรือไม่ ผลคือ ทำผิดบ้าง ถูกบ้าง ได้ความรู้แน่นขึ้น และฝึกให้เธอมีทักษะวิธีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์นี้ปลุกความสนใจในวิทยาศาสตร์ในวัยเด็กให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง
มาเรียตัดสินใจเดินทางไปปารีสเมื่ออายุ 24 ปี หลังจากรวบรวมเงินเก็บได้จำนวนหนึ่ง เธอคำนวณ ค่าใช้จ่ายการเดินทางอย่างประหยัดที่สุด ส่งของใช้ที่จำเป็นไปล่วงหน้าทางเรือ เดินทางโดยรถไฟขนส่งสินค้าชั้นสี่ (ชั้นยืน ไม่มีที่นั่ง) จากเยอรมัน เตรียมน้ำและอาหารสำหรับการเดินทางสามวัน เธอตั้งเป้าหมายว่า จะเรียนให้จบแล้วกลับไปสอนหนังสือที่วอร์ซอว์เพื่อจะได้อยู่เป็นเพื่อนพ่อด้วย