บทที่ 2 ตอนที่ 1 มารีในปารีส (ฝรั่งเศส) การศึกษา ครอบครัว ผลงาน และเกียรติยศ (ค.ศ. 1891-1911)

อรพินท์ วิภาสุรมณฑล (เมนช) เรียบเรียง


มารีในปารีส (ฝรั่งเศส) การศึกษา ครอบครัว ผลงาน และเกียรติยศ (ค.ศ. 1891-1911)

          เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1891 มาเรียสอบเอนทรานซ์ผ่านได้ลงทะเบียนเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ ที่ซอร์บอนน์ (Sorbonne; มหาวิทยาลัยแห่งปารีส) เธอใช้ชื่อในทะเบียนว่า มารี สคลอดอฟสกา (Marie Sklodowska )

          ระบบการศึกษาในฝรั่งเศสระดับมัธยมในสมัยนั้น ไม่เอื้อให้เด็กผู้หญิงเรียนขั้นอุดมศึกษาทาง วิทยาศาสตร์หรือกฎหมาย จำนวนนักศึกษาหญิงชาวฝรั่งเศสที่ซอร์บอนน์จึงมีน้อยกว่านักศึกษาหญิงต่างชาติ ในระยะแรกเธออยู่ที่อพาร์ตเมนต์ ซึ่งเป็นของบรอเนียกับพี่เขย คาสเมอร์ ดลูสกี (Casimir Dluski) อพาร์ตเมนต์นี้อยู่ในย่านพลุกพล่าน ทั้งคู่ใช้อพาร์ตเมนต์เป็นคลินิกตรวจคนไข้ และมักมีเพื่อนชาวโปลแวะเยี่ยมอยู่เสมอ

          มารีจึงตัดสินใจย้ายออกจากบ้านพี่สาวและพี่เขย ไปอยู่ห้องเล็กๆ ชั้นหกในบ้านเช่าย่านละตินควอเตอร์ (Latin quarter) ซึ่งค่าเช่าถูกมากและอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย เธอประหยัดเวลาเดินทางและค่ารถ ได้ทุ่มเวลากับการเรียนเต็มที่ อาหารหลักคือขนมปัง ผลไม้ ตามด้วยชาร้อนๆ ในฤดูหนาวเธอใส่เสื้อหลายๆ ชั้น นอนภายใต้ผ้าห่มที่มีเสื้อผ้ากองทับชั้นบน เพื่อประหยัดถ่านหิน

          มารีเรียนจบได้รับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ด้วยคะแนนสูงสุด ในปี ค.ศ. 1893 เธอเป็นหนึ่งในจำนวนนักศึกษาหญิงสองคนที่จบในปีนั้น อีกหนึ่งปีต่อมาเธอสอบผ่านและได้รับปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์อีกสาขาหนึ่ง (ด้วยคะแนนเป็นที่สอง)

          ที่ซอร์บอนน์ เธอได้รู้จักและได้เรียนกับอาจารย์มีชื่อเสียงทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์หลายท่าน เช่น เกเบรียล ลิปป์แมนน์ (Gabriel Lippmann) นักวิจัยผู้ได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบวิธีถ่ายภาพฟิล์มสี พอล แอปแพลล์ (Paul Appell) นักคณิตศาสตร์ผู้เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และอ็องรี ปวงกาเร (Henri Poincare) นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบล

          หลังจบปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ โดยการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ลิปป์แมนน์ มารีได้รับงานจากสมาคมสนับสนุนงานอุตสาหกรรมแห่งชาติฝรั่งเศสให้ศึกษาคุณสมบัติทางแม่เหล็กของเหล็กกล้าชนิดต่างๆ เธอได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องแล็บของศาสตราจารย์ลิปป์แมนน์ที่ซอร์บอนน์

          เผอิญช่วงนั้นศาสตราจารย์โควอลสกี (Kowalski) แห่งมหาวิทยาลัยฟรีบูร์ (University of Fribourg) ซึ่งเพิ่งแต่งงานใหม่ๆ เดินทางมาเลกเชอร์พิเศษที่ปารีส มารีรู้จักภรรยาชาวโปลของศาสตราจารย์คนนี้ตั้งแต่สมัยเป็นครูพี่เลี้ยงที่ซูกซูกี เมื่อคู่สามีภรรยาชาวโปลแวะมาเยี่ยม เธอเอ่ยถึงปัญหาห้องแล็บคับแคบให้ฟัง ศาสตราจารย์โควอลสกีคุ้นเคยกับงานวิจัยของปิแอร์ กูรี (Pierre Curie) ดี และรู้ว่าปิแอร์ทำงานวิจัยทางแม่เหล็กอยู่ที่สถาบันไม่ไกลนัก เขาจึงนัดหมายให้ทั้งคู่พบกันเพื่อคุยกันถึงปัญหานี้

ปิแอร์ กูรี

          ปิแอร์ กูรี เกิด ค.ศ. 1859 ที่ปารีส มีพี่ชายที่แก่กว่าสี่ปีชื่อ ฌัก (Jacques) ครอบครัวเป็นโปรเตสแตนต์ สืบเชื้อสายจากชาวอัลเซเชียน (Alsatian) พ่อเป็นหมอ มีความคิดอิสระ ก้าวหน้า ค่อนข้างไปทางสังคมนิยม ชอบช่วยเหลือผู้ด้อยกว่า ปิแอร์ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนอย่างเด็กฝรั่งเศสทั่วไป เขาเรียนจากพ่อ จากพี่ชาย และเรียนคณิตศาสตร์จากครูพิเศษ เป็นการเรียนรู้นอกระบบ ไม่อยู่ในกรอบหลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนทั่วไป เขาสนใจทางด้านธรรมชาติวิทยาและเรขาคณิต เขาศึกษาและมีความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ เหล่านี้อย่างลึกซึ้ง เขาชอบคิดค้นเรียนรู้หัวข้อที่สนใจทีละเรื่องด้วยตัวเอง เขาสอบเอนทรานซ์ผ่านได้เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ซอร์บอนน์ ได้รับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์เมื่ออายุสิบแปด

          ครอบครัวปิแอร์อยู่ในบ้านมีสวนเล็กๆ ในย่านโซ (Sceaux) แถบชานเมืองทางใต้ของปารีส เขาเป็นพวกถืออุดมคติ เคยผิดหวังในรักตอนเขาอายุยี่สิบเมื่อคนรักเสียชีวิต จากนั้นเขาหันมาทุ่มเทกับงานวิจัยพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์อย่างเดียว งานค้นคว้าเริ่มแรกทำร่วมกับพี่ชาย เป็นงานศึกษาเรื่องคุณสมบัติแม่เหล็กกับคุณสมบัติผลึกของสาร

          ในการศึกษาผลึกของควอตซ์ (quartz) เขาค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างแรงกดดันต่อผลึกกับปริมาณประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ทั้งคู่อาศัยหลักการนี้ประดิษฐ์เครื่องวัด(ชั่ง)ประจุไฟฟ้าเพียโซอิเล็กทริกควอตซ์บาลานซ์ (piezoelectric quartz balance) ปิแอร์ใช้หลักการเดียวกันนี้ประดิษฐ์เครื่องอิเล็กทรอมิเตอร์ (electrometer) ซึ่งใช้วัดประจุไฟฟ้าปริมาณน้อยๆ ได้แม่นยำมาก

มารี-ปิแอร์ กูรี นักวิทยาศาสตร์ ‘ดรีมทีม’

รูป ปิแอร์ มารี หลังแต่งงาน กับ จักรยานที่ชื้อจากเงินของขวัญวันแต่งงาน

          เมื่อมารีพบกับปิแอร์ในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1894 นั้น ปิแอร์มีอายุสามสิบห้าปี กำลังจะจบปริญญาโททางฟิสิกส์และเคมี ทั้งคู่มีนิสัย ความสนใจ อุดมการณ์ และเป้าหมายหลักในชีวิตคล้ายคลึงกัน คืองานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ มีความสามารถทัดเทียมกัน ทั้งคู่ถกเถียง ถาม ตอบ แก้ปัญหาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วยกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งคู่ต่างพึงใจในกันและกัน ถึงขั้นหมั้นหมาย และแต่งงานกันในฤดูร้อนปีต่อมา

          พิธีแต่งงานอย่างเรียบๆ มีขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1895 ณ ศาลาว่าการแห่งเมืองโซ มารีแต่งชุดสูทวูลสีกรมท่าสวมเสื้อเบลาส์ตัวใหม่ซึ่งเป็นของขวัญจากแม่สามีบรอเนีย เป็นเสื้อสีกรมท่าเล่นริ้วสีน้ำเงินอ่อน คู่บ่าวสาวรวบรวมเงินของขวัญจากญาติๆ ซื้อจักรยานสองคันเป็นของขวัญวันแต่งงาน ทั้งคู่ปั่นจักรยานท่องเที่ยวตามหมู่บ้านชาวประมงต่างๆ แถบฝั่งทะเลในแคว้นบริตตานี (Brittany) ระหว่างฮันนีมูน

 

About Author