บทที่ 5 ชีวิตและผลงานของมารีหลังสงคราม-มารีในอเมริกา (บทจบส่งท้าย)

อรพินท์ วิภาสุรมณฑล (เมนช) เรียบเรียง


          สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงปลายสงคราม แต่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะในที่สุด สถานภาพของอเมริกาหลังสงครามมีความสำคัญต่อยุโรปมากขึ้น เพราะเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและบุคลากรเมื่อเทียบกับยุโรป 

          ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2463 Mrs. William Brown Meloney (Missy) บรรณาธิการแมกาซีนผู้หญิงฉบับหนึ่งในนิวยอร์ก ขอพบสัมภาษณ์มารี กูรี ที่ปารีส ตอนหนึ่งมารีพูดถึงการผลิตเรเดียม เปรียบเทียบให้เห็นว่าอเมริกามีโรงงานผลิตเรเดียมหลายโรงงาน มีปริมาณเรเดียมในครอบครองรวมหลายกรัม เช่น โรงงานในนิวยอร์กมี 7 กรัม โรงงานในบัลติมอร์มี 4 กรัม โรงงานในเดนเวอร์มี 6 กรัม ในขณะที่สถาบันเรเดียมมีเพียงหนึ่งกรัมเท่านั้น

          ผลการพบปะมีผลให้ Missy ซึ่งนิยมชมชอบในความสามารถความเสียสละของมารีเป็นทุนอยู่แล้ว เป็นตัวตั้งตัวตีตั้งคณะกรรมการรณรงค์ประกาศหาทุน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อเรเดียมหนึ่งกรัมจากอเมริกามอบให้แก่สถาบันเรเดียมเพื่อใช้ในการรักษาโรค เธอลงพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวการค้นพบเรเดียม ตลอดจนประโยชน์ของเรเดียมในการรักษาโรค (โดยมารีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย) เพียงไม่ถึงปีก็ได้เงินบริจาคครบตามเป้าหมาย มารีตกลงยอมเดินทางไปอเมริกาเพื่อรับมอบเรเดียม โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าระหว่างที่อยู่อเมริกา เธอจะแสดงปาฐกถา เยี่ยมโรงงาน เยี่ยมห้องทดลอง ตามที่ฝ่ายอเมริกาจัดให้


มารี เดินทางไปอเมริกาโดยเรือโดยสารโอลิมปิก

https://www.sciencehistory.org/distillations/marie-curie-marie-meloney-and-the-significance-of-a-gram-of-radium

          วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. พ.ศ. 2464 มารีและลูกสาวทั้งสอง พร้อม Missy เดินทางไปอเมริกาโดยเรือโดยสารชื่อโอลิมปิก ที่ท่าเรือในนิวยอร์ก เธอได้รับการต้อนรับจากผู้คนหลายกลุ่ม เช่น องค์การสตรีอเมริกัน และกลุ่มสตรีชาวโปล วงดนตรีบรรเลงเพลงชาติสามประเทศ ฝรั่งเศส โปแลนด์ และสหรัฐอเมริกา พร้อมๆ กัน

          มารีมีกำหนดอยู่อเมริกาเจ็ดอาทิตย์ กิจกรรมระหว่างนั้น ได้แก่ ไปงานเลี้ยงต้อนรับ เยี่ยมโรงงาน เยี่ยมห้องปฏิบัติการ (มารีพบว่าโรงงานผลิตเรเดียมบางแห่งยังคงใช้วิธีการสกัดเรเดียมแบบเดียวกับที่เธอใช้เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว) ไปแสดงปาฐกถาตามมหาวิทยาลัย ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรวมสิบแห่ง ได้รับเหรียญและสมาชิกภาพจากหลายสถาบัน

          วิทยาลัยหญิงมีชื่อเสียงหลายแห่งที่มารีได้ไปเยี่ยม ได้แก่ Smith Vassar และ Bryn Mawr บรรยากาศงานเลี้ยงต้อนรับที่มารีประทับใจเป็นพิเศษ จัดโดย American Association of University Women ที่ Carnegie Hall ในงานเต็มไปด้วยนักวิจัยหญิงมีชื่อเสียงรุ่นหลัง ผู้มาเป็นตัวแทนของสถาบันเข้าแถวเรียงกันเข้ามามอบช่อดอกไม้ สตรีทรงคุณวุฒิออกมากล่าวยกย่องบทบาทของมารีต่อความก้าวหน้าของสตรีทางการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ในงานนี้มารีได้รับรางวัล Ellen Richards Research Prize เป็นเงิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากสมาคมสตรีวิทยาศาสตร์เก่าแก่ที่สุดในอเมริกาชื่อ the Naples Table Association

          เธอกับลูกๆ มีโอกาสไปเที่ยวชมสถานที่มีชื่อหลายแห่ง ไอรีนและอีฟตื่นเต้นกับทัศนียภาพของน้ำตกไนแอการาและแกรนด์แคนยอนมาก


พิธีรับมอบเรเดียมจัดที่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2464

https://www.sciencehistory.org/distillations/marie-curie-marie-meloney-and-the-significance-of-a-gram-of-radium

          พิธีรับมอบเรเดียมจัดที่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ประธานาธิบดีวอร์เรน จี. ฮาร์ดิง (Warren G. Harding) มอบกล่องหนังสีเขียวบรรจุนาฬิกาทรายแก่มารี เป็นสัญลักษณ์แทนกล่องบรรจุเรเดียมตัวจริงที่เก็บไว้ในที่ปลอดภัยจนกว่ามารีจะเดินทางกลับ

          มารีประทับใจในคุณภาพระบบการศึกษา อาคาร สถานที่เรียนของอเมริกา ห้องแล็บที่มีอุปกรณ์ครบถ้วน อาคารเรียนแวดล้อมด้วยสนามหญ้า นักศึกษาหญิงมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ใดยเฉพาะด้านกีฬากลางแจ้ง ช่วยให้นักศึกษาหญิงดูมีสุขภาพแข็งแรง

          มารีผู้มีสุขภาพไม่ค่อยดีอยู่แล้ว เมื่อต้องมาตรากตรำกับกิจกรรม งานสังคมต่างๆ ติดต่อกัน บางครั้งเธอรู้สึกอ่อนเพลียไม่สบาย ต้องขอตัวจากกิจกรรมที่กำหนด ไอรีนหรืออีฟต้องทำหน้าที่แทน กิจกรรมส่วนใหญ่ที่จัดในรัฐแถบตะวันตกต้องยกเลิกไปเพื่อถนอมสุขภาพของเธอ เธอสันนิษฐานว่าอาการนี้เป็นผลจากถูกรังสี (แต่ในขณะนั้นยังไม่มีการศึกษาผลเสียระยะยาวจากการถูกรังสีอย่างแท้จริง)

          มารีเดินทางกลับปารีสในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2463 การไปเยี่ยมอเมริกาครั้งแรกนี้ถือได้ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกรับรู้ถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของเรเดียมในด้านการรักษาโรค เปิดโอกาสให้มีการ ขยายงานวิจัยทางรังสีวิทยากว้างขึ้น มีผลให้ได้รับการสนับสนุนทั้งการเงิน เครื่องมือ และบุคลากรจากต่างประเทศมากขึ้น

          นอกจากอเมริกาแล้ว มารีได้เดินทางไปเลกเชอร์และท่องเที่ยวประเทศในยุโรปและทวีปอื่นๆ ด้วย เธอเห็นว่ามีหลายประเทศที่นักเรียนมีความสามารถแต่ขาดโอกาสเพราะยากจน เธอใช้ชื่อเสียงและสื่อมวลชนในการรณรงค์ระดมหาทุนการศึกษา ทุนวิจัย ทุนซื้ออุปกรณ์ให้ห้องปฏิบัติการที่ขาดแคลน วิธีการหนึ่งที่ใช้คือขอความร่วมมือจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะได้ผลประโยชน์จากผลงานวิจัยนั้นๆ

          ฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2472 มารีเดินทางไปอเมริกาเป็นครั้งที่สอง โดยความช่วยเหลือจากมิสซีอีกเช่นเคย กลุ่มสตรีอเมริกันช่วยกันหาทุนให้มารีใช้ซื้อเรเดียมหนึ่งกรัมสำหรับสถาบันเรเดียมที่กรุงวอร์ซออีกครั้ง แม้อเมริกาจะอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เธอได้รับการต้อนรับอย่างดี ครั้งนี้เธอเป็นแขกของประธานาธิบดี พักที่ทำเนียบขาว ได้รับทุนเป็นเช็คจากประธานาธิบดีฮูเวอร์

          โครงการสร้างสถาบันเรเดียมแห่งกรุงวอร์ซอเปิดโอกาสให้มารีได้เดินทางไปประเทศบ้านเกิดหลายครั้ง สถาบันนี้เริ่มก่อสร้างตามแปลนที่มารีเสนอในปี พ.ศ. 2468 โดยมีประธานาธิบดีโปแลนด์ ผู้ว่าราชการจังหวัดวอร์ซอ และมารี เป็นผู้วางศิลาฤกษ์


มารีร่วมปลูกต้นไม้ที่สถาบันเรเดียมแห่งกรุงวอร์ซอ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2464

ภาพจาก shorturl.at/jlGKY

          มารีเดินทางไปเปิดสถาบันเรเดียมอย่างเป็นทางการเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 เป็นครั้งสุดท้ายที่เธอเห็นโปแลนด์

ผลงานทางวิทยาศาสตร์ ทีมมารีกับไอรีน ฌอลิโย-กูรี (Irène Joliot-Curie)

          หลังสงครามมารีอุทิศเวลาให้งานสอนที่ซอร์บอนน์ งานวิจัยและงานบริหารที่สถาบันเรเดียม อาทิตย์หนึ่งๆ มารีมี เลกเชอร์ที่ซอร์บอนน์สองวัน แม้จะสอนมาหลายปี เธอยังต้องเตรียมตัวทุกครั้ง ที่เหลือสามวันเธอประจำที่สถาบันเรเดียม ปกติเธอไปถึงที่ทำงานประมาณ 8.45 นาฬิกา (โดยรถฟอร์ดมีโชเฟอร์ขับรับ-ส่ง) พบกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยทางรังสีวิทยาเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยน ตอบปัญหา ให้ข้อแนะนำแก่ทุกคน เธอจำหัวข้อวิจัยของนักวิจัยแต่ละคนได้ เธอติดตามผลงานวิจัยและพัฒนาทางรังสีวิทยาอย่างสม่ำเสมอโดยอ่านเอกสารวิจัยห้าภาษา เธอติดต่อหาทุนวิจัยและสารกัมมันตรังสีจากรัฐบาลฝรั่งเศสและต่างประเทศให้แก่สถาบันเรเดียม

          ช่วง พ.ศ. 2462-2477 จากผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ทั้งหมด 48 เรื่อง มี 34 หัวข้อเป็นผลงานของนักฟิสิกส์และนักเคมีของสถาบัน มารีมีชื่อในผลงาน 31 เรื่อง

          ในปี พ.ศ. 2465 มารีได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานขององค์การ Intellectual Cooperation of the League of Nations โครงการต่างๆ ที่เธอมีส่วนริเริ่มจัดทำ ได้แก่ จัดทำหนังสือเอกสารอ้างอิงสิ่งตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์นานาชาติ ตั้งกฎระเบียบเพื่อป้องกันลิขสิทธิ์การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และเสนอกฎเกณฑ์ในการให้ทุนนักศึกษานานาชาติ

 

ไอรีน ฌอลิโย-กูรี กับผลงานวิจัยต่อเนื่องด้านรังสีวิทยา



ไอรีน กูรี และเฟรเดริก ฌอลิโย ทำงานวิจัยร่วมกันที่สถาบันเรเดียม
ภาพจาก shorturl.at/jlGKY
https://www.britannica.com/biography/Frederic-and-Irene-Joliot-Curie

          ไอรีน กูรี เป็นนักวิจัยคนหนึ่งของสถาบันเรเดียม หลังสงครามเธอแต่งงานกับเพื่อนนักวิจัยที่สถาบัน เฟรเดริก ฌอลิโย (Frederic Joliot) ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2469 เมื่ออายุ 29 ปี ทั้งสองมีบุคลิกค่อนข้างตรงข้ามกัน ไอรีน (อายุมากกว่า) เงียบขรึม เก็บตัว มุ่งมั่นในงานตรงหน้า ต่างกับเฟรเดริกที่ร่าเริง ช่างคุย พื้นฐานการศึกษาของเขาคล้ายๆ ปิแอร์ เขาไม่เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเหมือนเด็กอื่นๆ เข้าเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนฟิสิกส์กับเคมี ที่ปิแอร์เคยสอน (ต่อมาบริหารโดย พอล แลงจ์แวง)  เฟรเดริกเป็นนักฟิสิกส์ที่เก่งคนหนึ่ง เขาชอบ ‘เล่น’ กับเครื่องมือทดลอง ในขณะที่ไอรีนชอบทดลองผสมนี่ผสมโน่นไปทางเคมีมากกว่า ต่อมาทั้งคู่ร่วมมือเป็นทีมฌอลิโย-กูรี แบบเดียวกับทีมปิแอร์-มารี ทั้งคู่มีลูกสาวคนแรก ชื่อ เฮลีน (Helene) ลูกชายคนที่สอง ชื่อ ปิแอร์  ครอบครัวมารีจึงมีนักวิทศาสตร์เพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่งในวงสนทนาระหว่างอาหารค่ำ

          รัทเทอร์ฟอร์ดเสนอสมมติฐานนิวตรอนเป็นส่วนประกอบในนิวเคลียสของอะตอมในการประชุมสัมมนาที่ Solvay (ประเทศเบลเยียม) ปี พ.ศ. 2464 ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 นักทดลองชาวเยอรมันสองคน วอลเทอร์ โบท (Walther Bothe) กับแฮร์เบิร์ต เบกเคอร์ (Herbert Becker) พบว่า เมื่อระดมยิงอนุภาคแอลฟาจากการสลายตัวของโปโลเนียม[1] (โปโลเนียมสลายตัวแผ่รังสีอนุภาคแอลฟาอย่างเดียว ไม่มีแกมมาปน) ไปยังแผ่นเป้าทำจากธาตุเบาๆ เช่น เบริลเลียม (beryllium) พบว่า อนุภาคที่กระจายออกมามีพลังงานมากกว่าพลังงานของอนุภาคแอลฟาที่พุ่งเข้ากระทบ

          ไอรีนสนใจผลการทดลองนี้มากเพราะงานของเธอที่สถาบันเกี่ยวข้องกับการเตรียมโปโลเนียมจากเรดอน ที่ให้แอลฟาพลังงานสูง (ซึ่งเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย) ในปี พ.ศ. 2474 สถาบันเรเดียมผลิตและสะสมโปโลเนียมได้เป็นอันดับหนึ่งในโลก ไอรีนเลียนแบบการทดลองของทีมเยอรมัน โดยยิงเบริลเลียมด้วยอนุภาคแอลฟาจากการสลายตัวของโปโลเนียมที่เธอเตรียมเอง เธอรายงานผลในเดือนธันวาคมว่าอนุภาคที่แผ่กระจายออกมามีพลังงานสูงกว่าที่ทีมเยอรมันรายงานไว้ คำถามที่ตามมาคือ อนุภาคนี้คืออะไร เพื่อหาคำตอบทีมฌอลิโย-กูรี ได้ทดลองต่อยอดออกไปอีกขั้นหนึ่ง โดยทดลองยิงอนุภาค (รังสี) ที่ได้จากเบริลเลียม ไปชนแผ่นเป้าทำจากขี้ผึ้งพาราฟิน (ประกอบด้วยอะตอมไฮโดรเจนเป็นส่วนใหญ่) ปรากฏว่าอนุภาคที่ถูกชนหลุดออกมาคือโปรตอน แสดงว่าการชนกันระหว่างอนุภาคที่ยิงกับอนุภาคโปรตอนในอะตอมไฮโดรเจนเป็นแบบยืดหยุ่น (elastic collision)  เหมือนการกระทบกันระหว่างลูกบิลเลียดสองลูก ทีมฌอลิโย-กูรีสันนิษฐานว่าเป็นผลจากรังสีแกมมา แต่ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะแกมมาเป็นอนุภาครังสีแม่เหล็กไฟฟ้าไม่มีมวลสาร

          ข้อสมมติฐานนี้นำไปสู่การทดลองแบบเดียวกันที่ห้องแล็บคาเวนดิช (Cavendish Laboratory) สหราชอาณาจักรโดย รัทเทอร์ฟอร์ดกับเจมส์ แชดวิก  (James Chadwick) แต่ทีมนี้ใช้แผ่นเป้าทำจากสารต่างๆ กัน สรุปว่าอนุภาคนี้ไม่มีประจุ (เป็นกลาง) และจากการวัดมวลของอนุภาคสรุปว่าอนุภาคนี้คือนิวตรอน (ในนิวเคลียสของอะตอม) เป็นหลักฐานสบับสนุนสมมติฐานที่รัทเทอร์ฟอร์ดเสนอไว้เมื่อสิบปีมาแล้ว

          ในฤดูร้อนปี พ.ศ. 2475 นักวิจัยชาวอเมริกัน ชื่อ คาร์ล แอนเดอร์สัน (Carl Anderson) ค้นพบอนุภาคใหม่ในคอสมิกเรย์ที่มีมวลเท่ากับอิเล็กตรอน เมื่อใช้ Wilson Cloud Chamber ตรวจ พบว่ามีประจุไฟฟ้าบวก จึงให้ชื่ออนุภาคใหม่นี้ว่า โพสิตรอน (positron)

          ทีมฌอลิโย-กูรีทดลองยิงอนุภาคแอลฟา (ที่ได้จากการสลายตัวของโปโลเนียม) ไปกระทบแผ่นเป้าทำจากธาตุต่างๆ กัน ทีมพบว่าหากวางแผ่นเป้าให้ห่างจากแหล่งกำเนิดแอลฟา สำหรับเป้าที่มีมวลปานกลาง (เช่น อะลูมิเนียม) พบว่าอนุภาคที่หลุดออกมาคือนิวตรอน แต่สำหรับธาตุที่มีมวลเบาๆ นอกจากนิวตรอนแล้ว บางครั้งยังมีโพสิตรอนหลุดออกมาด้วย

          ทีมเสนอผลการทดลองนี้ในที่ประชุมสัมมนานานาชาติประจำปี พ.ศ. 2476 ที่ Solvay ประเทศเบลเยียม ทีมตั้ง สมมติฐานว่าเป็นผลมาจากการสลายตัวของโปรตอน แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่เห็นด้วย

          หลังการประชุม ทีมฌอลิโย-กูรีไม่ย่อท้อ คราวนี้ทีมทดลองยิงอนุภาคแอลฟา (ที่ได้จากการสลายตัวของโปโลเนียม) ไปกระทบแผ่นเป้าอะลูมิเนียม โดยเปลี่ยนระยะทางแผ่นเป้ากับแหล่งกำเนิดแอลฟาต่างๆ กัน ทีมใช้ไกเกอร์เคาน์เตอร์ในการตรวจปริมาณรังสีหลังการกระทบ พบปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้นคือ เมื่อระยะทางระหว่างแหล่งรังสีแอลฟากับเป้าอยู่ห่างกันมากขึ้น จำนวนนิวตรอนลดลงจนเป็นศูนย์ แต่จำนวนโพสิตรอนไม่ลดลงเป็นศูนย์ แต่จะลดลงเป็นปฏิภาคกับเวลา ในลักษณะเดียวกับธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดตามธรรมชาติ ทีมทำการทดลองซ้ำๆ หลายครั้ง และพบว่าธาตุเสถียรสุดท้ายที่เกิดขึ้นคือซิลิคอน (silicon) ทีมอธิบายผลการทดลองว่า เมื่ออะตอมอะลูมิเนียมได้รับ(จับ)อนุภาคแอลฟาจะปล่อยนิวตรอนออกมา พร้อมกันนั้นจะแปลงเป็นธาตุฟอสฟอรัสที่ไม่เสถียร (radioactive isotope of phosphorus) ซึ่งจะสลายตัวให้โพสิตรอนออกมา แล้วปรับแปลงกลายเป็นซิลิคอน ธาตุเสถียรในที่สุด

          ผลการทดลองนี้นำไปสู่การค้นพบทฤษฎีการแปรธาตุ (transmutation/artificial radioactivity) ซึ่งจัดว่าเป็นทฤษฎีสำคัญทฤษฎีหนึ่งในศตวรรษที่ยี่สิบ

 


ภาพจาก https://twitter.com/NobelPrize/status/555712456677683200/photo/1

ทีมฌอลิโย-กูรีได้รับรางวัลโนเบลทางเคมีจากการค้นพบนี้ในปี พ.ศ. 2478

โทษของกัมมันตภาพรังสี

          ในปี พ.ศ. 2464 สถาบันอาหารและยาแห่งชาติฝรั่งเศส ได้มอบให้คณะกรรมการพิเศษ นำโดย อ็องเดร โบรคา (Andre Broca) ศึกษาโทษจากการถูกรังสี รายงานของของคณะกรรมการสรุปอย่างกว้างๆ ว่า การได้รับรังสีปริมาณน้อย (ไม่ระบุปริมาณ) จะปลอดภัย ไม่มีผลต่อสุขภาพ ไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎระเบียบ

          ตลอดปี พ.ศ. 2468 มีข่าวคนตายจากถูกรังสีเป็นระยะๆ แม้แต่ที่ทำงานที่สถาบันเรเดียมก็มีรายงานเจ็บป่วยจากการถูกรังสี หรือมีอาการเป็นโรคโลหิตจาง ไอรีนเองก็เริ่มมีอาการโรคโลหิตจาง ต้องลาพักงานไปตากอากาศเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ

          ในสหรัฐอเมริกามีการใช้เรเดียมทาตัวเลขหน้าปัดนาฬิกาข้อมือเพื่อให้ตัวเลขเรืองแสงในที่มืด คนงานใช้ปลายแปรงเล็กๆ แตะริมฝีปาก แตะเรเดียม ก่อนแตะตัวเลข ในปี พ.ศ. 2471 มีรายงานข่าวจากอเมริกาว่า คนงานที่ทำงานนี้หลายคนเสียชีวิตจากการถูกรังสี

          ในปี พ.ศ. 2468 สถาบันอาหารและยาแห่งชาติฝรั่งเศสได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประเมินโทษจากการถูกรังสีและเสนอข้อแนะนำแก่ผู้ทำงานเกี่ยวกับรังสี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เรเดียมและทอเรียมมารี กูรี กับ โกลด รีกูด์  (Claude  Regaud) ร่วมเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการสรุปว่าการหายใจเอารังสีแอลฟาเข้าในร่างกายมีอันตรายต่อเม็ดเลือดแดง วิธีป้องกันตัวเองเมื่อทำงานกับสารกัมมันตรังสีต้องมีแผ่นตะกั่วเป็นฉากกั้นป้องกัน บุคคลากรที่ทำงานกับสารกัมมันตรังสีต้องหมั่นตรวจเลือดเป็นประจำ

บทส่งท้าย

          สุขภาพของมารีเริ่มเสื่อมโทรมหลังจากกรณีข่าวอื้อฉาวและหลังการผ่าตัดไตในปี พ.ศ. 2455 ตาทั้งสองข้างเริ่มเป็นต้อ เธอเริ่มบอกให้ลูกๆ รู้เรื่องนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 แต่ไม่เปิดเผยกับสื่อและบุคคลภายนอก เธอทำงานสอนและเป็นที่ปรึกษาวิจัยที่สถาบันเรเดียมตามปกติ โดยใช้แว่นตาหนาขึ้นเรื่อยๆ และใช้วิธีหลีกเลี่ยงต่างๆ อยู่ถึงสามปี จึงเข้าผ่าตัดตา ภายใต้ชื่อ มาดามแคร์รี (Mme Carre)

          ผลตรวจเลือดประจำปีของมารีเริ่มตั้งแต่ปีที่สถาบันเริ่มบังคับใช้ระเบียบนี้ (พ.ศ. 2468) มีผลปกติ ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2476 ผลตรวจเอกซเรย์พบว่า เธอเป็นนิ่วในถุงน้ำดี (โรคที่คร่าชีวิตพ่อเธอ) เธอไม่ยอมเข้ารับการผ่าตัด ใช้วิธีทำตัวตามหมอสั่งแทน เธอเริ่มลงมือสร้างอพาร์ตเมนต์แบบทันสมัยที่โซตามที่ตั้งใจมานานแล้ว โดยมีแผนจะย้ายเข้าในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2477

          สุขภาพของเธอมีแต่ทรงกับทรุด เธอไปทำงานที่ห้องแล็บเมื่อรู้สึกดีขึ้น และอยู่กับบ้านเขียนหนังสือเมื่อรู้สึกแย่ลง

          หลายครั้งเธอมีไข้อ่อนๆ แต่เธอไม่เอาใจใส่ ยังคงทำงานจนดึก

          ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2477 เธอมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย ต้องนอนแบ็บ มีอาการคล้ายปอดอักเสบ ผลการตรวจร่างกายปกติ ผลตรวจเอ็กซเรย์ปอดพบพังผืดเก่ามีการอักเสบเล็กน้อย หมอผู้เชี่ยวชาญสามคนแนะนำให้ไปพักฟื้นที่สถานพักฟื้นโรคปอดโดยด่วน การเดินทางไปสถานพักฟื้นโรคปอดในเทือกเขา Savoy ทรมานทุลักทุเลมาก เมื่อไปถึงสถานพักฟื้นมารีในอ้อมแขนของอีฟไม่มีสติแล้ว มีไข้ อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ผลตรวจเอกซเรย์ปอดปกติ แต่ผลตรวจเลือดพบว่าจำนวนเม็ดเลือดแดงและขาวลดลงอย่างรวดเร็ว

 


ภาพจาก https://www.rarenewspapers.com/view/548244?imagelist=1

 

          มารีเสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 สิริรวมอายุได้ 67 ปี ด้วยโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia) มีอาการไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว สันนิษฐานว่าภูมิคุ้มกันจากไขกระดูกทำงานผิดปกติ เป็นผลจากพิษสะสมจากการถูกกัมมันตภาพรังสี หนังสือเล่มสุดท้ายเธอเขียนเสร็จก่อนถึงแก่กรรม ชื่อ “Laws of Physics”

          พิธีฝังศพเรียบง่าย โลงศพของมารีฝังไว้เหนือโลงศพของปิแอร์ในหลุมเดียวกันในสุสานเล็กๆ ย่านโซ ซึ่งเธอคุ้นเคยดี โดยไม่มีพิธีทางศาสนาหรือคำกล่าวสดุดีใดๆ แขกที่มานอกจากญาติพี่น้อง มีแต่เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ในกลุ่มที่สนิท สิ่งที่หรูหราที่สุดในงานคือพวงหรีดสวยงามจากหลายประเทศ รวมทั้งจากประธานาธิบดีแห่งโปแลนด์

          ฌัก กูรี มีสุขภาพอ่อนแอเกินกว่าจะเดินทางมาร่วมพิธี เฮเลนติดพักร้อนกับหลานสาวในภูเขา ไม่อาจมาทันเวลาได้ บรอเนียกับโจเซฟเดินทางจากวอร์ซอมาร่วมงาน ทั้งคู่รู้ว่าสิ่งมีค่าเป็นที่ระลึกสุดท้ายในชีวิตที่มารีพึงพอใจที่จะได้รับคืออะไร โดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน ทั้งคู่นำดินจากแผ่นดินแม่โปแลนด์มาหนึ่งกำมือ มาโรยลงไปบนโลงศพมารีในพิธีด้วย


ภาพจาก https://itservices.cas.unt.edu/

          ในปี พ.ศ. 2538 รัฐบาลฝรั่งเศสให้ย้ายศพของมารีและปิแอร์ไปเก็บที่ Pantheon สุสานอนุสรณ์สถานในปารีส เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมคาราวะได้ นับเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตของนักวิทยาศาสตร์ทั้งคู่


แหล่งข้อมูล

* หมายเหตุ: ชื่อธาตุ Polonium ในภาษาไทยอ้างอิงตามราชบัณฑิตยสภาคือ “พอโลเนียม” แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนขอทับศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “โปโลเนียม” เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียกชื่อประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อธาตุนี้

 

About Author