ดาวอังคาร ที่มาของวันอังคาร

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


 

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ตามตำนานกรีกโบราณ แอรีส (Ares) เทพเจ้าแห่งสงคราม ได้แอบลักลอบเป็นชู้กับแอโฟไดตี (Aphrodite) เทพเจ้าแห่งความงาม


ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังแอรีสกับแอโฟไดตี เมืองปอมเปอี (Pompeii) ประเทศอิตาลี อายุประมาณ 2,100 ปี
ที่มาภาพ Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Ares

          แอรีสได้สั่งอเล็กทรีออน (Alectryon) นายทหารหนุ่มให้ดูต้นทาง ถ้าเห็นดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นให้รีบปลุกแอรีส

          อเล็กทรีออนเผลอหลับไป เมื่อถึงตอนเช้าฮีเลียส (Helios) เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ได้เห็นแอรีสเป็นชู้กับแอโฟไดตี ฮีเลียสจึงไปบอกฮิเฟสตัส (Hephaestus) เทพเจ้าแห่งไฟ สามีของแอโฟไดตี

          ฮิเฟสตัสเมื่อมาเห็นภาพบาดตาจึงจับแอรีสและแอโฟไดตีมาประจานต่อหน้าเหล่าเทพเจ้าทั้งหลาย

          แอรีสโกรธที่อเล็กทรีออนหลับยาม จึงสาปให้อเล็กทรีออนกลายเป็นไก่ เพื่อจะได้ขันเตือนทุกเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

          ชาวโรมันรับตำนานกรีกมาแต่เปลี่ยนชื่อเทพเจ้าใหม่ดังนี้คือ

กรีก

โรมัน

ความหมาย

แอรีส (Ares) มาร์ส (Mars) เทพเจ้าแห่งสงคราม, ดาวอังคาร
แอโฟไดตี (Aphrodite) วีนัส (Venus) เทพเจ้าแห่งความรักและความงาม, ดาวศุกร์
ฮีเลียส (Helios) โซล (Sol) เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์
ฮิเฟสตัส (Hephaestus) วัลเคน (Vulcan) เทพเจ้าแห่งไฟ

 

          ชื่อโรมันของแอรีสเป็นชื่อดาวอังคารในภาษาอังกฤษด้วย และเป็นที่มาของชื่อวันอังคารในภาษาไทย

ภาพวาดแอรีสและแอโฟไดตีถูกฮิเฟสตัสสามีของแอโฟไดตีจับได้ว่าเป็นชู้กัน
ชื่อภาพ Mars and Venus Surprised by Vulcan โดย Alexandre Charles Guillemot ศิลปินฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 2370
ที่มาภาพ Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Aphrodite

          วันอังคารในภาษาอังกฤษคือ Tuesday มาจากชื่อเทพเจ้า Tiw หรือ Týr (เทีย) เทพเจ้าแห่งสงครามของชาวไวกิง (Viking) หรือชาวนอร์ส (Norse) แถวสแกนดิเนเวียในยุโรป

          ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 4 นับจากดวงอาทิตย์ มีลักษณะคล้ายโลก เป็นดาวเคราะห์หิน มีน้ำแข็ง มีภูเขาไฟ มีทะเลทราย

          แต่ดาวอังคารเล็กกว่าโลกเกือบครึ่งหนึ่ง เย็นกว่า แห้งกว่า มีอากาศเบาบางกว่า (ต้องใส่ชุดอวกาศ) มีดวงจันทร์บริวาร 2 ดวง มากกว่าโลกที่มีดวงจันทร์บริวารเพียงดวงเดียว

          มีผู้เรียกดาวอังคารว่า “ดาวเคราะห์แดง (Red Planet) เนื่องจากเห็นดาวอังคารเป็นสีแดง (หรือออกส้มแดง) ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากดาวอังคารปกคลุมไปด้วยฝุ่นสนิมเหล็กหรือไอร์ออนออกไซด์ (iron oxide)

          1 วันบนดาวอังคารใกล้เคียงกับโลกคือนาน 24.6 ชั่วโมง แต่ 1 ปีบนดาวอังคารนานถึง 687 วันบนโลก เนื่องจากดาวอังคารอยู่ไกลดวงอาทิตย์มากกว่าโลก จึงใช้เวลาโคจรครบรอบดวงอาทิตย์นานกว่าโลก

ภาพถ่ายภูเขาไฟโอลิมปัสบนดาวอังคาร โดยยาน Viking 1 ปี พ.ศ. 2521 ที่มาภาพ NASA https://nssdc.gsfc.nasa.gov/photo_gallery/photogallery-mars.html

          ภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดบนดาวอังคารคือ ภูเขาไฟโอลิมปัส (Olympus Mons) มีความสูง 21.9 กิโลเมตร เป็นภูเขาไฟของดาวเคราะห์ที่สูงที่สุดในระบบสุริยะ สูงกว่าภูเขาที่สุดในโลกคือภูเขาเอเวอเรสต์ (Mount Everest) ถึง 2.5 เท่า (ภูเขาเอเวอเรสต์สูง 8.9 กิโลเมตร) ภูเขาที่สูงที่สุดของไทยคือดอยอินทนนท์สูง 2.6 กิโลเมตร ภูเขาไฟโอลิมปัสบนดาวอังคารจึงสูงกว่าดอยอินทนนท์ 8.4 เท่า

          ชื่อโอลิมปัสได้มาจากชื่อภูเขาในกรีก ที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเหล่าเทพเจ้า

          สัญลักษณ์ของดาวอังคารเป็นรูปวงกลมและลูกศรชี้เฉียงขึ้นไปทางขวา วงกลมหมายถึงโล่ ลูกศรหมายถึงหอก รวมกันหมายถึงนักรบ หรือสงคราม และใช้เป็นสัญลักษณ์ของเพศชายด้วย

          มียานอวกาศจำนวนมากที่ไปสำรวจดาวอังคาร ยานทาสามารถลงจอดอย่างนุ่มนวลบนดาวอังคารเริ่มจากยาน Mars 3 ของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2514 และยาน Viking 1 ของสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2519 หลังจากนั้นก็มียานสำรวจอื่น ๆ ตามมาอีก


ภาพถ่ายพื้นผิวดาวอังคาร โดยยาน Perseverance ปี พ.ศ. 2564 ที่มาภาพ NASA https://photojournal.jpl.nasa.gov/catalog/PIA24430

          ล่าสุดปีนี้ พ.ศ. 2564 ยาน Perseverance ของสหรัฐอเมริกา และยาน Zhurong ของจีน ได้ลงจอดแล้วปล่อยรถสำรวจบนพื้นผิวดาวอังคาร

          และมีโครงการที่จะส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารเป็นครั้งแรก อาจเป็นปี พ.ศ. 2576

          มีนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์หลายเรื่องที่เกี่ยวกับดาวอังคาร ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น The War of the Worlds เขียนโดย H. G. Wells พิมพ์เป็นหนังสือเมื่อปี พ.ศ. 2441 เป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ดาวอังคารบุกโลก มีการดัดแปลงเป็นละครวิทยุในปี พ.ศ. 2481 และทำให้คนจำนวนมากตื่นตระหนกหวาดกลัวเนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องจริง ต่อมาได้สร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2548

          Mission to Mars ปี พ.ศ. 2543 เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับนักบินอวกาศไปสำรวจดาวอังคารแล้วค้นพบหลักฐานว่ามนุษย์บนโลกความจริงสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์ดาวอังคาร

          The Martian ปี พ.ศ. 2558 เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับนักบินอวกาศไปสำรวจดาวอังคารแล้วเกิดอุบัติเหตุ พระเอกถูกทิ้งไว้ให้อยู่บนดาวอังคารเพียงลำพัง เนื่องจากเพื่อนนักบินอวกาศคนอื่นๆ เข้าใจผิดคิดว่าพระเอกเสียชีวิตแล้ว พระเอกต้องหาทางมีชีวิตรอด เพราะอาหารและอากาศที่เตรียมไปไม่พอสำหรับการอยู่บนดาวอังคารยาวนาน

          เราสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้ด้วยตาเปล่า สำหรับช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 ดาวอังคารจะขึ้นทางทิศตะวันออกช่วงเช้ามืด เห็นได้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยปลายเดือนพฤศจิกายนดาวอังคารจะอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) แล้วย้ายไปกลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) หลังกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564

 

About Author