เรื่องโดย รวิศ ทัศคร
“Mars is there, waiting to be reached.”
… ดาวอังคารอยู่ที่นั่น รอให้พวกเราไปให้ถึง …
คำกล่าวนี้ของ บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) นักบินอวกาศ โครงการอะพอลโล 11 ผู้ที่ต่อมาเป็นแรงบันดาลใจของคาแรกเตอร์ “บัซ ไลต์เยียร์” ในภาพยนตร์ Toy Story ที่โด่งดัง คงไม่เกินความจริงนัก ในอนาคตอันใกล้นี้
มนุษย์สังเกตเห็นดาวอังคารมานานแล้ว ในสมัยโบราณ คนโบราณจึงผูกดาวอังคารไว้กับเทพปกรณัมและเรื่องเล่ามากมาย อย่างในคติไทยเรานั้นพระศิวะให้กำเนิดพระอังคารขึ้นมาด้วยการนำควายแปดตัวมาบดเป็นผง ห่อผ้าสีชมพูเข้ม พรมด้วยน้ำอมฤต เสกด้วยฤทธิ์บันดาลเกิดเป็นพระอังคาร เทพบุรุษผู้มีพระวรกายสีชมพู มี 4 กร ทรงหอก ตรีศูล กระบอง และศร ทรงเครื่องประดับทองแดงและแก้วโกเมน ในไตรภูมิพระร่วง พระอังคารมีวิมานอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาพระสุเมรุ เป็นเทพแห่งสงครามผู้ประสาทพรแก่กษัตริย์และนักรบ คนไทยเราถือว่าพระอังคารเป็นเทพประเภทบาปเคราะห์ คือจะมีผลในอารมณ์ที่ร้อนแรง คนที่เกิดวันอังคารหรือมีพระอังคารอยู่ในลัคนามักจะมีอารมณ์โกรธง่าย ชอบใช้กำลัง ไม่ยอมคน ใจร้อน แต่ผลในทางดีก็มี คือด้วยจิตใจเช่นนี้จะทำให้ขยัน อดทน กล้าหาญ มีพลังงาน และมั่นใจในตนเอง
เรื่องราวของพระอังคารของไทยในแง่ของการเป็นเทพแห่งสงคราม ซึ่งน่าจะรับคติมาจากทางอินเดีย ก็มีส่วนพ้องกับความเชื่อชองชาวโรมันโบราณในประเด็นที่ชาวโรมันเองก็ถือว่า เทพมาร์ส (Mars) เป็นเทพแห่งสงคราม ที่เป็นบุตรแห่งเทพจูปิเตอร์และเทพีจูโน ชาวโรมถือว่าเทพองค์นี้เป็นบิดาของรอมิวลุส กษัตริย์องค์แรกแห่งโรม เทพมาร์สจึงมีความสำคัญรองลงมาจากเทพจูปิเตอร์เลยทีเดียว ซึ่งเทพองค์นี้เดิมทีเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ พืชผล เกษตรกรรม และการพิทักษ์ปศุสัตว์ ต่อมาจึงได้รับบทบาทให้เป็นเทพผู้ปกป้องทหารและเป็นเทพแห่งการสงครามด้วย ซึ่งเทพที่ปรากฏในเทพปกรณัมกรีกที่เทียบเท่ากับมาร์ส คือเทพแอรีสนั่นเอง
ชาวบาบิโลเนียเรียกเทพมาร์สว่า เนอร์กัล (Nergal) ซึ่งเป็นเทพตัวแทนแห่งไฟ การทำลาย และสงคราม ในระบบความเชื่อของพวกเขา ครั้งหนึ่งเนอร์กัลเคยเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งภายหลังภาคที่เป็นตัวแทนของดาวอังคารได้เอาชนะ จึงกลายเป็นเทพแห่งความตาย โรคระบาด กาฬโรค และเจ้าแห่งปรโลก ในอารยธรรมแถบเมโสโปเตเมียตอนใต้ อย่างไรก็ตามความเป็นเทพสงครามก็ทำให้เนอร์กัลเป็นเทพที่ปกป้องดินแดนด้วย ซึ่งจำเป็นต่อความสงบสุข และด้วยความน่ายำเกรงของเขา จึงเป็นเทพผู้ปกป้องบ้านเรือนให้ปลอดจากความชั่วร้ายที่จะมากล้ำกรายอีกด้วย เทพองค์นี้มีลักษณะเป็นครึ่งคนครึ่งสิงห์ดังรูป
ภาพที่ 1 เนอร์กัล เทพแห่งไฟ ความตาย การทำลาย สงคราม และการปกป้องดินแดนของอารยะรรมแถบเมโสโปเตเมีย
ในอารยธรรมจีนและเกาหลี มองดาวอังคารเป็นลางบอกเหตุแห่งหายนะ ความเศร้าโศก สงคราม และการฆาตกรรม ชาวจีนเรียกดาวอังคารว่า หั่วซิง (Huŏxīng) (火星) หรือดาวแห่งเพลิง ซึ่งเป็นหนึ่งในธาตุทั้งห้า (ไม้ ดิน ทอง น้ำ และไฟ) ซึ่งมีความเกี่ยวพันทางธาตุกับ จู้หรง (Zhùróng) (祝融) ซึ่งเป็นเทพแห่งไฟที่น่ายำเกรง ผู้ทรงพาหนะเป็นมังกรสองตัว เป็นเทพผู้นำไฟจากสวรรค์ลงมาสู่โลกมนุษย์และซัดมันเป็นอาวุธใส่ศัตรูในยามสงคราม และเป็นเทพแห่งการป้องกันอีกด้วย
จะเห็นว่าดาวอังคารมีความผูกพันกับมนุษย์เรามาตลอดตั้งแต่โบราณกาลในหลายอารยธรรม แม้ในปัจจุบันมนุษย์มีเทคโนโลยีมากขึ้นแล้ว แต่สายตาที่มนุษย์มองไปยังดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ ก็ยังคงเต็มไปด้วยความสนใจต่อมันไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่ในยุคของวิทยาศาสตร์และการสำรวจอวกาศ ท่ามกลางความเสื่อมโทรมลงของสภาพแวดล้อมบนโลก จึงเริ่มมีคนตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้เพียงใดที่ดาวอังคารจะเป็นบ้านแห่งที่สองของมนุษย์เรา
ท่ามกลางสงครามเย็นและการแข่งขันสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกาและโซเวียตในระยะเวลากว่า 46 ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2488-2534 ทำให้เกิดแรงผลักดันในการแข่งขันกันระหว่างสองชาติมหาอำนาจ มนุษย์ส่งยานViking 1 และ Viking 2 ไปยังดาวอังคารในช่วงปี พ.ศ. 2518 และ 2519 ตามลำดับ โลกได้ข้อมูลที่มีประโยชน์มากมาย แต่การสำรวจก็เว้นช่วงไปนาน จนถึงปี พ.ศ. 2535 ที่มีการส่งยาน Mars Observer ไปสำรวจดาวอังคารอีกครั้ง แต่สัญญาณติดต่อก็ได้ขาดหายไปก่อนจะเข้าวงโคจรรอบดาวอังคาร
โลกเข้าสู่ความตื่นตัวของการสำรวจดาวเคราะห์แดงดวงนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการค้นพบว่าในตัวอย่างอุกกาบาตจากดาวอังคาร ชื่อ ALH84001 ที่เคยมีการขุดพบในทวีปแอนตาร์กติกา ใกล้เนินเขาอัลแลน(Allan Hill) ซึ่งเป็นกลุ่มเนินเขาที่อยู่ปลายสุดของเทือกเขา Transantarctic Mountains System ในภูมิภาค Oates Land และ Victoria Land ของทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อปี พ.ศ. 2527 มีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตปรากฏอยู่
อุกกาบาตลูกนี้เป็นจุดเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของการสำรวจดาวอังคารไปตลอดกาล เมื่อลักษณะผิวที่พบภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแสดงให้เห็นถึงแร่คาร์บอเนตรูปทรงประหลาดขนาดเล็กราว 1 ไมครอน ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฟอสซิลของจุลชีพจากยุคโบราณของดาวแดงดวงนี้
ภาพที่ 2 (ซ้าย) เม็ดแร่คาร์บอเนตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100–200 ไมครอน ที่พบในอุกกาบาต ALH84001 ที่มีปริมาณเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.5 ของเนื้ออุกกาบาต (ขวา) ภาพถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (SEM) แสดงให้เห็นถึง “ฟอสซิล” ขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน ที่อยู่บนพื้นผิวของเม็ดคาร์บอเนตที่นำมาตรวจสอบ (ที่มา: [1])
สิ่งที่พบจากอุกกาบาต ALH84001 ยังเป็นคำถามที่รอคำตอบมานาน เพราะยังไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่ปรากฏบนกล้องและร่องรอยของสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างซับซ้อนในกลุ่ม polycyclic aromatic hydrocarbon (PAH) ที่พบเป็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่จากการสลายตัวของจุลินทรีย์หรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุให้โลกมีความสนใจในเรื่องนี้ และยานสำรวจที่ถูกส่งออกไปหลังจากนั้นมีเป้าหมายและเครื่องมือบนยาน ที่พยายามหาหลักฐานการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารในปัจจุบัน หรือร่องรอยการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตในอดีตให้ได้
อันที่จริงดาวอังคารเคยมีช่วงที่อุณหภูมิอบอุ่น มีความชื้น บรรยากาศกาศมีความหนาแน่นและความดันมากกว่าปัจจุบัน มีแม่น้ำไหลหลายสาย มีมหาสมุทรอยู่บนพื้นผิว มีการปะทุของภูเขาไฟ และมีสนามแม่เหล็กเหมือนโลก แต่ในปัจจุบันหายไปจนหมด เหลือเพียงดาวที่แห้งผาก เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในการตอบคำถามนี้ ขอให้คุณผู้อ่านลองมาดูแผนภูมิแสดงสมมติฐานของการสูญเสียชั้นบรรยากาศของดาวอังคารกัน
ภาพที่ 3 แผนภูมิแสดงกระบวนการสามแบบที่นำไปสู่การสูญเสียชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร 1) ชั้นบรรยากาศหลุดออกไปสู่อวกาศ 2) การตกกระทบของอุกกาบาต 3) ปฏิกิริยาทางเคมีกายภาพ (ที่มาของภาพ: [1])
สาเหตุแรกที่มีคนสันนิษฐานว่าทำไมบรรยากาศของดาวอังคารจึงหายไป อาจเป็นเพราะการตกกระทบของอุกกาบาตในช่วงพันล้านปีแรกของระบบสุริยะ ซึ่งทั้งโลกและดาวอังคารเคยมีช่วงที่ถูกอุกกาบาตตกกระทบอย่างถี่ยิบในช่วงต้นที่ระบบสุริยะเกิดขึ้นมาไม่นาน เนื่องจากอวกาศโดยรอบยังคงมีเศษชิ้นส่วนที่เหลือจากการก่อตัวของดาวเคราะห์ต่างๆ ล่องลอยอยู่มาก ทำให้เกิดการสูญเสียบรรยากาศไปจากการชน แต่หลังจากนั้นโลกของเรายังคงเหนี่ยวรั้งชั้นบรรยากาศไว้ได้เพราะมีแรงโน้มถ่วงสูงกว่า ขณะที่ดาวอังคารสูญเสียชั้นบรรยากาศไปเนื่องจากมีแรงโน้มถ่วงต่ำกว่า แต่แม้กระนั้นก็ตาม จากการคำนวณที่อิงกับข้อมูลที่ทราบเกี่ยวกับการกัดกร่อนของชั้นบรรยากาศ ทำให้พบว่าแม้ในช่วงปลายของยุคที่มีอุกกาบาตตกใส่ถี่ๆ ดาวอังคารก็ยังมีชั้นบรรยากาศหนากว่าปัจจุบันอยู่มากโข
สาเหตุต่อมาคือการทำปฏิกิริยากับผิวดาว ซึ่งในกรณีที่มีน้ำที่เป็นของเหลว คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะทำปฏิกิริยากับหินที่พื้นผิวเพื่อก่อตัวเป็นคาร์บอเนตทำให้ปริมาตรของชั้นบรรยากาศลดลง ซึ่งบนโลกกระบวนการนี้อยู่ในสมดุล เนื่องจากมีการหมุนเวียนของชั้นหินจากกระบวนการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งสารจำพวกคาร์บอเนตที่ถูกดึงลงไปในเนื้อโลกพร้อมกับเปลือกโลกจะคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และในเวลาต่อมาจะกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศพร้อมกับการระเบิดของภูเขาไฟ ส่วนบนดาวอังคาร กิจกรรมของเปลือกโลก/เปลือกดาวหยุดชะงักไป ชั้นบรรยากาศเกือบทั้งหมดอาจเปลี่ยนเป็นคาร์บอเนต
ซึ่งในปี พ.ศ. 2551 ยังไม่มีหลักฐานการค้นพบคาร์บอเนตที่มากเพียงพอที่จะบ่งชี้ว่าบรรยากาศส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นคาร์บอเนต เพราะเท่าที่เจอในปี พ.ศ. 2546 ส่วนใหญ่จะพบคาร์บอนในรูปของแร่แมกนีไซต์ (MgCO3) ในฝุ่นดาวอังคาร และพบในสัดส่วนเชิงมวลแค่ร้อยละ 5 ปะปนมาในฝุ่นเท่านั้น ทำให้ในช่วงนั้นมีแนวคิดว่าบางทีสภาพแวดล้อมโบราณของดาวอังคารอาจเหมาะต่อการตกตะกอนของสารซัลเฟต น้ำบนพื้นผิวอาจมีสภาพที่ค่อนข้างจะเป็นกรด และสารคาร์บอเนตเกือบทุกชนิดไม่น่าจะสามารถก่อตัวได้
แต่ก็มีอีกแนวคิดว่าบางทีชั้นบรรยากาศโบราณของดาวอังคารอาจถูกกักอยู่ที่ใต้ผิวดาวในรูปของคาร์บอเนตจริงๆ แต่ที่ไม่พบบนพื้นผิวก็เพราะแม่น้ำโบราณบนดาวอังคารบางสายได้ละลายหินใต้พื้นผิวจนกลายเป็นโพรงคาสต์ (Karstic cavities) ซึ่งคาสต์ (Karst) บนโลกก็คือลักษณะของหินปูนที่ถูกน้ำกัดเซาะละลายหินออกไป ทำให้เกิดเป็นทางน้ำและถ้ำใต้ดิน น้ำที่ไหลข้างบนมักจะซึมหายลงไปในเนื้อหินลงไปใต้ดิน บนโลกมักเกิดกับพื้นที่แห้งแล้งที่มีธารน้ำไหลลงที่ต่ำในหน้าฝน
บนโลกพื้นที่แบบนี้มีหินปูนมาก และมีคาร์บอเนตอุดมสมบูรณ์ ซึ่งหากเกิดสิ่งนี้ขึ้นตรงที่เคยเป็นแม่น้ำบนดาวอังคาร ก็เป็นไปได้ที่ชั้นบรรยากาศจะกลายเป็นคาร์บอเนตและถูกฝังอยู่ใต้ผืนทรายของดาวอังคารซึ่งไม่สามารถตรวจพบในขณะนั้น ที่พบโดยยานPhoenix ในสภาพแร่แคลไซต์ในปริมาณร้อยละ 3–5 โดยน้ำหนักในตัวอย่างดินด้วยอุปกรณ์ Thermal and Evolved Gas Analyzer (TEGA) ก็เพิ่มโอกาสขึ้นแต่ถือว่ายังพบในปริมาณน้อย [1], [2]
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. 2553 ยานโรเวอร์สำรวจพื้นดาว Spirit ที่ลงจอดบริเวณหลุมอุกกาบาตกูเซฟ (Gusev crater) ซึ่งเป็นปากปล่องภูเขาไฟโบราณบนดาวอังคาร ได้ยืนยันการค้นพบพื้นที่ในเนินเขาโคลัมเบียในหลุมอุกกาบาตดังกล่าวที่อุดมไปด้วยแร่แมกนีเซียม-เหล็กคาร์บอเนต ในปริมาณร้อยละ 16-34 โดยน้ำหนัก ซึ่งน่าจะเกิดจากการตกตะกอนจากสารละลายที่มีคาร์บอเนตภายใต้สภาพแวดล้อมของภูเขาไฟในยุคธรณีของดาวอังคารชื่อยุค Noachian era ในช่วง 3700–4100 ล้านปีมาแล้ว [2]
ภาพที่ 4 ลักษณะของโพรงคาสต์ ที่น้ำเซาะหินจนเป็นโพรงใต้ผิวดาว (ที่มา: [1])
แต่เมื่อสองปีที่แล้วมานี้เอง ในปี พ.ศ. 2562 มีหลักฐานใหม่ที่แสดงอย่างชัดเจนว่าดาวอังคารเคยมีน้ำบนพื้นผิวที่เป็นของเหลวซึ่งมีไอออนของคาร์บอเนต/ไบคาร์บอเนตที่มาจากคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ จับตัวอยู่ปะปนกับเกลือแร่ที่มีน้ำปะปนในโครงสร้างอยู่ทั่วพื้นผิวดาวอังคาร [3],[4]
โดยมีความหนาตั้งแต่ไม่กี่เซนติเมตรจนถึงเป็นร้อยเมตร ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล (remote sensing) นี้ ทำได้จากกล้อง high resolution stereo camera (HRSC) ที่ติดตั้งอยู่บนยาน Mars Express ที่โคจรเก็บข้อมูลรอบดาวอังคารมานานหลายปี ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2563 หรือปีที่แล้วนี้เอง ยาน Mars Express ก็ยังค้นพบข้อมูลทรัพยากรอันมีค่าต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เพิ่มอีกจากอุปกรณ์ MARSIS บนยาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์กำเนิดคลื่นพัลส์เรดาร์ความถี่ต่ำ ค้นพบว่ามีทะเลสาบยักษ์ ซ่อนอยู่ใต้ธารน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกของดาวอังคาร โดยแห่งใหญ่สุดมีความกว้างถึง 30 กิโลเมตร
ถ้าตัดประเด็นเรื่องบรรยากาศที่เบาบางและอุณหภูมิที่อาจหนาวเย็นถึง –61 องศาเซลเซียสออกไป เหตุผลที่มนุษย์เรามองดาวอังคารมากกว่าดาวดวงอื่นที่มีมวลและแรงดึงดูดใกล้เคียงกับโลก เช่น ดาวศุกร์ ในการไปตั้งอาณานิคมบนดาว ก็เพราะดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่มีพื้นผิวแข็งเหมือนโลกเรา สามารถนำยานลงจอดและสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้เหมือนโลก อีกทั้งยังไม่มีบรรยากาศที่หนาแน่นและมีความดันสูงเหมือนดาวศุกร์ ซึ่งแม้จะมีแนวคิดในการตั้งถิ่นฐานที่ดาวศุกร์ แต่การสร้างฐานที่พักบนผิวดาวคงยังทำไม่ได้ในเร็วๆ นี้
นอกจากยานในรูปของบอลลูนในระดับชั้นเมฆของดาวศุกร์เท่านั้น แต่ที่ดาวอังคาร แม้ความดันบรรยากาศจะน้อยมากและมีแรงโน้มถ่วงเพียงร้อยละ 38 ของโลกเท่านั้น แต่การสร้างโครงสร้างกักอากาศบนผิวดาวก็ไม่ใช่ปัญหาในช่วงต้นของการตั้งถิ่นฐาน อีกทั้งดาวอังคารยังมีบริเวณต่างๆ ที่เป็นหลุมยุบบริเวณปากปล่องของภูเขาไฟที่ดับแล้ว
ซึ่งมีเครือข่ายของอุโมงค์ใต้ดินที่เคยเป็นทางไหลของลาวาเมื่อนานมาแล้วเป็นถ้ำโดยธรรมชาติ มีผู้มองว่ามนุษย์เราอาจจะได้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาตินี้ในการสร้างเมืองภายใต้นั้นก็เป็นได้
ภาพที่ 5 หลุมภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดบนดาวอังคาร ใกล้ Pavonis Mons ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร ถ่ายโดยยาน Mars Reconnaissance Orbiter
การสร้างฐานที่พัก ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจกลายเป็นเมือง มีความน่าสนใจเนื่องจากสามารถปกป้องมนุษย์จากรังสีคอสมิกบนพื้นผิวดาวอังคารได้ รวมถึงก้อนอุกกาบาต เพราะดาวอังคารไม่มีชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่น หรือสนามแม่เหล็กที่มีแรงสูง คอยปกป้องเหมือนโลกของเรา เราไปติดตามเรื่องนี้กันต่อในฉบับหน้าครับ
แหล่งข้อมูล
- Forget, F., Costard, F., and Lognonne, P. 2008. Planet Mars: Story of another world. Praxis Pub., Ltd. Dorset, UK.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carbonates_on_Mars
- https://eos.org/research-spotlights/detecting-carbonates-on-the-surface-of-mars
- Bultel, B., Viennet, J., Poulet, F., Carter, J., & Werner, S. C. (2019). Detection of carbonates in martian weathering profiles. Journal of Geophysical Research: Planets. doi:10.1029/2018je005845
- https://www.wired.co.uk/article/underground-mars-habitat
- https://www.space.com/37200-read-elon-musk-spacex-mars-colony-plan.html
- https://www.cnet.com/news/spacex-mystery-moon-passenger-yusaku-maezawa-first-bfr-tourist/
- https://en.wikipedia.org/wiki/SpaceX_Mars_program#Mars_early_missions
- https://en.wikipedia.org/wiki/SpaceX_Starship
- https://www.nasa.gov/feature/nasa-x-hab-2017-challenge-seeks-exploration-systems-and-habitation-designs-from-university
- https://engineering.purdue.edu/CE/AboutUs/News/Features/nasa-selects-purdue-to-develop-resilient-and-smart-deep-space-habitats
- https://www.globaltimes.cn/page/202106/1226925.shtml
- https://gizmodo.com/china-hopes-to-put-first-human-on-mars-in-2033-report-1847163177
- https://en.wikipedia.org/wiki/China_Academy_of_Launch_Vehicle_Technology
- https://www.sundayvision.co.ug/science-china-plans-to-send-androids-to-mars-before-a-manned-base/
- Oze, C., Beisel, J., Dabsys, E., Dall, J., North, G., Scott, A., Lopez, A.M., Holmes, R., Fendorf, S. (2021). Perchlorate and Agriculture on Mars. Soil Systems, 5(3), 37. doi:10.3390/soilsystems5030037
- Eichler, A., Hadland, N., Pickett, D., Masaitis, D., Handy, D., Perez, A., Batcheldor, D., Wheeler, B., Palmer, A. (2021). Challenging the agricultural viability of Martian regolith simulants. Icarus, doi:10.1016/j.icarus.2020.114022
- https://www.sciencenews.org/article/mars-farming-harder-martian-regolith-soil
- Davila, A. F., Willson, D., Coates, J. D., & McKay, C. P. (2013). Perchlorate on Mars: a chemical hazard and a resource for humans. International Journal of Astrobiology, 12(04), 321–325. doi:1017/s1473550413000189