ดาวพุธ ที่มาของวันพุธ

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เพอร์เซียส (Perseus) วีรบุรุษหนุ่มชาวกรีก ได้เดินทางไปสังหารปีศาจเมดูซ่า (Medusa) ที่เป็นผู้หญิง มีผมเป็นงู หากใครได้จ้องตาแล้วจะกลายเป็นหิน


าพประติมากรรมบรอนซ์รูปเพอร์เซียสกับหัวเมดูซ่า
โดย Benvenuto Cellini ศิลปินชาวอิตาลี ปี พ.ศ. 2088-2098 เพอร์เซียสใส่รองเท้ามีปีกของเฮอร์มีส
ที่มา Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Medusa

          เทพเจ้าต่างๆ พากันช่วยเหลือเพอร์เซียส หนึ่งในนั้นคือเฮอร์มีส (Hermes) เทพเจ้าแห่งการสื่อสาร การเดินทาง และการค้า ได้ให้เพอร์เซียสยืมรองเท้ามีปีก ทำให้เพอร์เซียสเหาะได้

          ชาวโรมันเรียกเฮอร์มีสว่า เมร์คูรียุส (Mercurius) หรือ เมอร์คิวรี (Mercury)


ภาพวาดเฮอร์มีสบนถ้วยศิลปะกรีก 480-470 ปีก่อนคริสตกาล
ที่มา Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Hermes

          ภาษาอังกฤษคำว่า Mercury แปลว่า ดาวพุธ เป็นที่มาของวันพุธ

          คำว่า mercury (m ตัวเล็ก) ยังแปลว่า ปรอท เนื่องจากปรอทเป็นธาตุที่มีความไวต่ออุณหภูมิ จึงนำมาใช้ทำเทอร์โมมิเตอร์ (thermometer) สำหรับวัดอุณหภูมิ ความไวของปรอทเปรียบเหมือนความไวของเทพเมอร์คิวรี และมีสำนวนไทยว่า “ไวเป็นปรอท”

          Mercury ยังเป็นรากศัพท์ของคำว่า merchant (พ่อค้า) และ commerce (การค้า)

          เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเฮอร์มีสหรือเมอร์คิวรีคือมีไม้คาดูเซียส (caduceus) เป็นไม้เท้ามีงู 2 ตัว พันอยู่ บางครั้งมีปีกที่หัวไม้ด้วย

          ภาษาอังกฤษของวันพุธคือ Wednesday มาจากภาษาอังกฤษสมัยเก่าว่า Wōdnesdæg และภาษาอังกฤษสมัยกลางว่า Wednesdei หมายถึงวันของเทพโวเดน (Woden) หรือโอดิน (Odin) เทพเจ้าของชาวไวกิง (Viking) หรือชาวนอร์ส (Norse) ในดินแดนสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป

          โวเดนหรือโอดินอาจเทียบเคียงกับเทพเฮอร์มีสของกรีกหรือเทพเมอร์คิวรีของโรมัน

          ในทางดาราศาสตร์ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดและอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในระบบสุริยะ (58 ล้าน กิโลเมตร) ดาวพุธมีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์ของโลกเพียงเล็กน้อย (ดาวพุธเล็กกว่าโลกประมาณ 3 เท่า) และมีลักษณะเหมือนดวงจันทร์คือเป็นลูกหิน มีหลุมอุกกาบาต และมีอากาศเบาบาง  

          ถ้าเราอยู่บนดาวพุธจะเห็นดวงอาทิตย์ใหญ่กว่าบนโลก 3 เท่า


ภาพดาวพุธ ถ่ายโดยยานอวกาศ MESSENGER เมื่อปี พ.ศ. 2551
ที่มา NASA https://photojournal.jpl.nasa.gov/catalog/PIA11245

          แม้ว่าจะใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด แต่ดาวพุธกลับไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดในระบบสุริยะ ดาวเคราะห์ที่ร้อนที่สุดในระบบสุริยะคือดาวศุกร์ เนื่องจากดาวศุกร์มีเมฆหนา เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกหรือปรากฏการณ์ดาวศุกร์ร้อน (เหมือนโลกร้อน) ทำให้ดาวศุกร์มีอุณหภูมิที่พื้นผิวสูงมากถึง 480 องศาเซลเซียส ขณะที่ดาวพุธด้านที่หันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิ 430 องศาเซลเซียส แต่อีกด้านที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์มีอุณหภูมิต่ำถึง -180 องศาเซลเซียส ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากดาวพุธไม่มีชั้นบรรยากาศที่หนาพอที่จะรักษาอุณหภูมิให้คงที่ทั่วทั้งดาวได้

          ดาวพุธไม่มีดวงจันทร์บริวาร และไม่มีวงแหวน

          ดาวพุธหมุนรอบดวงอาทิตย์ (1 ปีบนดาวพุธ) ใช้เวลา 88 วันบนโลก เร็วที่สุดในระบบสุริยะ แต่หมุนรอบตัวเองช้าคือรอบละ 59 วันบนโลก

          1 วัน (solar day ครบรอบกลางวันกลางคืน เห็นดวงอาทิตย์วนกลับมาตำแหน่งเดิม) บนดาวพุธนานถึง 176 วันบนโลก หรือพูดอีกอย่างว่า 1 วันบนดาวพุธ นานเท่ากับ 2  ปีบนดาวพุธ อาจฟังดูแปลกว่าบนดาวพุธ 1 วัน นานกว่า 1 ปี ถึง 2 เท่า ทั้งนี้เนื่องจากดาวพุธหมุนรอบตัวเองช้านั่นเอง

          เราสามารถมองเห็นดาวพุธได้ด้วยตาเปล่า (ความสว่างปรากฏสูงสุด -2) เมื่อมองจากบนโลก ดาวพุธจะอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่เกิน 28 องศา (จะไม่สามารถเห็นดาวพุธอยู่กลางศีรษะได้) บางวันจะเห็นดาวพุธในช่วงหัวค่ำ หรือบางวันจะเห็นดาวพุธช่วงเช้ามืด (จะไม่สามารถเห็นดาวพุธตอนดึก)

          ยกตัวอย่างเช่น ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ถึงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 จะเห็นดาวพุธตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตก ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 จะมองไม่เห็นดาวพุธ หลังจากนั้นต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 จะเห็นดาวพุธช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก

          วันที่จะเห็นดาวพุธอยู่บนท้องฟ้านานที่สุดคือวันที่เห็นดาวพุธอยู่ห่างดวงอาทิตย์มากที่สุด ครั้งต่อไปคือวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565

          เมื่อใช้กล้องดูดาวที่มีกำลังขยายมากกว่า 100 เท่า ส่องดาวพุธ จะสามารถเห็นดาวพุธเป็นเสี้ยวเหมือนดวงจันทร์

          ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับดาวพุธคือ ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (transit of Mercury) ครั้งล่าสุดที่เห็นในประเทศไทยคือวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 และครั้งต่อไปคือ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2575

          หมายเหตุ ทับศัพท์ Perseus เป็น เพอร์เซียส ตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษของราชบัณฑิตยสถาน

About Author