โดย วัชราภรณ์ สนทนา
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหภาพต่อต้านมะเร็งระหว่างประเทศ (UICC) ได้กำหนดให้เป็น “วันมะเร็งโลก” เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักและให้ความสำคัญกับโรคมะเร็ง เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้คนทั่วโลก โดยในปี พ.ศ. 2565-2567 มีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Close the Care Gap” คือการผลักดันให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีโอกาสเข้ารับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม
โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ คือหนึ่งในโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงไม่น้อยไปกว่ามะเร็งชนิดอื่น ๆ และยังมีผู้ป่วยอีกมากที่ขาดโอกาสในการรักษา โดยโรคมะเร็งชนิดนี้เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อกระดูก (มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิเกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากส่วนอื่นของร่างกาย) มีสถิติอุบัติการณ์การเกิดโรคเฉลี่ยประมาณ 8.7 ต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งแม้อัตราการเกิดโรคมีจำนวนไม่มากนัก แต่มักเป็นโรคที่เกิดในเด็กวัยเรียน ทำให้เด็กเสียโอกาส ทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด รวมทั้งพิการหรือเสียชีวิต ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิทำโดยการตัดกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออก แล้วใส่กระดูกและข้อต่อโลหะทดแทน แต่เนื่องจากอุปกรณ์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาสูงประมาณ 1.5-4 แสนบาท อีกทั้งคนไข้ไม่สามารถเบิกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้ผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีเงินค่ารักษา อาจต้องตัดแขนเพื่อไม่ให้มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณอื่น สุดท้ายกลายเป็นคนพิการและยากลำบากต่อการใช้ชีวิต
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มุ่งมั่นดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ในประเทศให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพ ภายใต้ราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ได้ร่วมกับอนุสาขาเนื้องอกกระดูกและระบบเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน พัฒนานวัตกรรม “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” สำหรับทดแทนกระดูกแขนของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องตัดทิ้งได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
ดร.กวิน การุณรัตนกุล นักวิจัยจากทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังใน ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลเลิดสิน โดยมี นพ.ปิยะ เกียรติเสวี เป็นแกนนำ ได้ร่วมกันออกแบบกระดูกและข้อโลหะต้นแขนแบบแยกชิ้นที่ปรับความยาวได้และมีความเหมาะสมกับกายวิภาคของคนไทย เพื่อเป็นหนทางช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกซึ่งมีรายได้น้อยมีโอกาสได้ใช้กระดูกเทียม
“ทีมวิจัยออกแบบกระดูกและข้อโลหะต้นแขนให้มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนแยกกัน เพื่อให้สามารถเลือกชิ้นส่วนโลหะมาประกอบให้มีขนาดความยาวที่สัมพันธ์กับขนาดของกระดูกที่ถูกมะเร็งทำลายหรือถูกตัดออกไปจากผู้ป่วยแต่ละบุคคล ส่วนวัสดุที่ใช้ เน้นโลหะมาตรฐานที่นำมาใช้กับมนุษย์ได้ โดยเลือกใช้วัสดุโคบอลต์โครเมียมอัลลอยด์สำหรับผลิตหัวของกระดูกต้นแขนและส่วนที่เชื่อมต่อกับกระดูก ส่วนแกนกลางของอุปกรณ์ใช้วัสดุไทเทเนียมอัลลอยด์ เนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานแต่เบาและเข้ากับร่างกายได้ดี ทั้งนี้จากการทดสอบการใช้งานทางคลินิกในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกจำนวน 10 ราย ในโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ ผลการรักษาพบว่าเป็นที่น่าพอใจ ไม่พบการติดเชื้อหรือโรคแทรกซ้อนใด ๆ รวมถึงไม่พบปัญหาการหลุดของชิ้นส่วนอุปกรณ์ เป็นที่พอใจของแพทย์และผู้ป่วย”
ปัจจุบัน สวทช. ได้อนุญาตให้สิทธิ์ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก่ บริษัทดิจิทัล ออร์โธปิดิกส์ โซลูชัน จํากัด (Digital Orthopaedic Solutions Co., Ltd.: DiOS) ซึ่งผลิตและจำหน่ายให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลสงขลา โดยมีราคาขายชุดละประมาณ 95,000 บาท
ดร.กวิน กล่าวว่า นวัตกรรมกระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน เหมาะกับคนไข้มะเร็งกระดูกกลุ่มปฐมภูมิที่พบว่าเป็นมะเร็งกระดูกต้นแขนส่วนข้อไหล่ โดยขณะนี้มีการผ่าตัดใช้งานจริงกับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกในโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วประมาณ 15 ราย หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถใช้งานแขนข้างที่ผ่าตัดได้เหมือนกับข้อและกระดูกโลหะจากต่างประเทศ ไม่พบภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยลดอาการเจ็บปวดทรมาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม
“ความสำเร็จจากการพัฒนากระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน เป็นแรงผลักดันให้ทีมวิจัยเตรียมต่อยอดองค์ความรู้ ขยายผลไปสู่การพัฒนากระดูกและข้อโลหะสำหรับข้อเข่าและข้อสะโพก เนื่องจากพบอุบัติการณ์ของผู้ป่วยในสัดส่วนที่มากกว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการใช้งานมากกว่า แต่ต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายเพราะในการออกแบบจะมีความยากและซับซ้อนกว่ามาก เนื่องจากกระดูกท่อนล่างทั้งข้อสะโพกและข้อเข่ามีหน้าที่ในการรองรับน้ำหนักของร่างกายส่วนบน รวมถึงมีส่วนช่วยในการเหยียดงอของขาในอิริยาบถต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับออกแบบตัวอุปกรณ์ให้มีความแข็งแรงเพียงพอ สามารถรับแรงหรือกระจายแรงไปยังส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
การส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนากระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมที่ได้มาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสม ไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกที่มีรายได้น้อยได้มีโอกาสใช้กระดูกเทียมมากขึ้น ยังเป็นการยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้าและเข้มแข็ง
“ทุกวันนี้มีผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกอีกมากที่เข้าไม่ถึงการรักษา ขณะที่แนวทางการรักษาก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ผู้ป่วยบางรายที่ไม่เงินจ่าย ต้องใช้วิธีตัดกระดูกแล้วนำไปฆ่าเชื้อเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นหากเราสามารถผลิตกระดูกและข้อโลหะเทียมได้เองในประเทศไทยและมีต้นทุนต่ำกว่า ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น โดยผู้ป่วยมะเร็งกระดูกต้นแขนปฐมภูมิ หากตรวจพบแล้วสามารถผ่าตัดรักษาได้ทันก่อนที่จะลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตได้นานขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันในภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงานต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็มีศักยภาพในการผลิตเครื่องมือแพทย์อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับเทคนิคและกระบวนการบางอย่างให้เหมาะสม ซึ่งถ้าทำได้และมีช่องทางการตลาดที่ชัดเจน ภาคเอกชนก็พร้อมเดินหน้าธุรกิจ ซึ่งเท่ากับช่วยบุกเบิกยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย ลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศด้วย” ดร.กวิน กล่าวทิ้งท้าย