ยางรีดนมโคฝีมือคนไทย ลดการนำเข้า ลดต้นทุนเกษตรกร

เรื่องโดย ปริทัศน์ เทียนทอง


ยางรีดนมโคเป็นอุปกรณ์สำคัญในการรีดนมโค แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากต่างประเทศทั้งหมด มีรายงานพบว่าใน 1 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องใช้งานยางรีดนมโคประมาณ 400,000 ชิ้น หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียเงินเพื่อนำเข้าสินค้าประเภทนี้จำนวนมาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) พัฒนา “ต้นแบบยางรีดนมโค” ทำจากยางธรรมชาติร่วมกับยางสังเคราะห์ มีราคาถูก ทนทาน และมีความปลอดภัยต่อแม่โคและผู้บริโภค รวมทั้งตอบโจทย์ลดปัญหาการนำเข้ายางรีดนมโคจากต่างประเทศ

ศิริชัย พัฒนวาณิชชัย นักวิจัยจากทีมวิจัยยางและมาตรฐานยางยั่งยืน เอ็มเทค สวทช. เล่าว่า ในกระบวนการรีดนมโค แม่โค 1 ตัว ต้องใช้ยางรีดนมจำนวน 4 ชิ้น สำหรับเต้านม 4 เต้า ซึ่งอายุการใช้งานของยางรีดนมโคไม่ได้ยาวนานมากนัก เพราะเมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่ง ยางรีดนมโคอาจจะเริ่มปริแตก และมีโอกาสสะสมเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งก่อโรคเต้านมอักเสบกับแม่โคได้ ทั้งนี้กรมปศุสัตว์จึงมีคำแนะนำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมควรเปลี่ยนยางรีดนมโคชุดใหม่ทุก 6 เดือน หรือหลังจากใช้งานได้ประมาณ 2,500 ครั้ง ดังนั้นการเปลี่ยนยางรีดนมโคชุดใหม่จึงเป็นต้นทุนการผลิตน้ำนมที่สำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกร

“ทีมวิจัยพัฒนาต้นแบบยางรีดนมโคภายในประเทศ โดยผลิตจากยางคอมพาวนด์ (rubber compound) ซึ่งมีองค์ประกอบของยางธรรมชาติร่วมกับยางสังเคราะห์ และใช้สารเคมีที่ผ่านตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ทั้งนี้ต้นแบบยางรีดนมโคที่ผลิตได้ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำนมดิบและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพเต้านมของแม่โค”

ศิริชัยเล่าต่อว่า หลังจากพัฒนาต้นแบบยางรีดนมโคสำเร็จในห้องปฏิบัติการแล้ว ทีมวิจัยได้นำต้นแบบยางรีดนมโคไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในฟาร์มโคนมและทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน FDA โดยร่วมมือกับคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพ กรมปศุสัตว์ ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ต้นแบบยางรีดนมโคที่พัฒนาขึ้นมีความแข็งใกล้เคียงกับยางรีดนมโคที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ทนแรงดึงได้มากกว่า ที่สำคัญไม่มีผลเสียต่อสุขภาพเต้านมของแม่โค อีกทั้งน้ำนมโคที่ผลิตได้ก็มีคุณภาพผ่านตามเกณฑ์ของมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

“ทุกวันนี้ธุรกิจฟาร์มโคนมในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ความต้องการยางรีดนมโคมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นการพัฒนาและผลิตยางรีดนมโคขึ้นมาใช้ได้เองในประเทศไทยจะช่วยลดการนำเข้า ลดต้นทุนการผลิตน้ำนมให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้มาก อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมเกิดความยั่งยืน ที่สำคัญการนำยางธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรีดนมโคยังช่วยส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีรายได้มากขึ้นด้วย เพราะการนำยางธรรมชาติมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของยาง และยังช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย”

ปัจจุบันทีมวิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อนำไปผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ คุณเนตรชนก ปิยฤทธิพงศ์ โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4301 หรืออีเมล netchanp@mtec.or.th

About Author