โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer
“วิญญาณฉันรอที่ทางช้างเผือก”
เพลงประกอบละครโทรทัศน์เรื่อง คู่กรรม ปี พ.ศ. 2533
คำร้องและทำนองโดย สุทธิพงษ์ วัฒนจัง (ชมพู ฟรุตตี้)
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เทพเจ้าซูส (Zeus) ราชาแห่งเทพกรีก ได้แอบมเหสีเฮรา (Hera) ไปหาหญิงสาวที่เป็นมนุษย์ชื่อ แอล์กมีนี (Alcmene) จนมีลูกชายเป็นเด็กทารกชื่อ เฮราคลีส (Heracles)
ภาพ The Origin of the Milky Way โดย Tintoretto ประมาณปี พ.ศ. 2118-2123
ที่มาภาพ Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Milky_Way
ซูสอยากให้เฮราคลีสเป็นอมตะด้วยการดื่มนมของมเหสีเฮรา แต่เฮราขี้หึงมาก ถ้าเฮรารู้ว่าเฮราคลีสเป็นลูกของกิ๊กซูส เฮราก็คงไม่ปล่อยเฮราคลีสไว้แน่ ดังนั้นซูสจึงวางแผน
คืนหนึ่งขณะที่เฮรากำลังหลับ ซูสแอบอุ้มเฮราคลีสย่องเข้ามา แล้วให้เฮราคลีสดื่มนมเฮรา
พอเฮรารู้สึกตัวตื่นขึ้นก็ตกใจที่จู่ ๆ มีเด็กทารกที่ไหนก็ไม่รู้มาดื่มนมของตน จึงผลักเฮราคลีสกระเด็นออกไป เฮราคลีสได้ดื่มนมของเฮราแล้วมีพลังเช่นเทพเจ้าจึงไม่เป็นอะไร แต่ระหว่างที่ผลักนั้นเฮราคลีสกำลังดูดนมอยู่จึงทำให้นมของเฮราหกราดไปบนท้องฟ้า เกิดเป็นทางน้ำนม (Milky Way) หรือคนไทยเรียกว่า “ทางช้างเผือก” เนื่องจากคนไทยเห็นเป็นทางบนสวรรค์ที่ช้างเผือกเดินอยู่ (ช้างเผือกเป็นสัตว์มงคล)
ภาพชายเลี้ยงวัวเหาะตามหญิงทอผ้า แต่มีแม่น้ำกว้างใหญ่บนท้องฟ้าขวางกั้นไว้
ที่มาภาพ หนังสือ สตรีจีนในนิทาน แปลโดย วันทิพย์ สำนักพิมพ์สายใจ หน้า 31
ส่วนคนจีนเห็นทางช้างเผือกเป็นแม่น้ำบนสวรรค์ มีนิทานเรื่อง “หญิงทอผ้ากับชายเลี้ยงวัว” เล่าว่า ชายเลี้ยงวัวได้พบรักกับหญิงทอผ้าที่เป็นนางฟ้าจากสวรรค์ที่แอบหนีมาเที่ยวเล่นที่โลกมนุษย์ ทั้งสองได้แต่งงานและมีลูกด้วยกัน 2 คน
หญิงทอผ้าเคยมีหน้าที่ทอผ้าแล้วนำไปประดับติดบนท้องฟ้าเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าและดวงอาทิตย์ตกตอนเย็น เมื่อเธอไม่อยู่บนสวรรค์ท้องฟ้าจึงขาดสีสัน
เทพสวรรค์ออกตามหาหญิงทอผ้าจนพบแล้วพาเธอเหาะกลับสวรรค์ ชายเลี้ยงวัวได้นำหนังวัววิเศษมาห่มทำให้เหาะได้ พาลูกทั้งสองใส่ตะกร้าหาบ แล้วเหาะตามมา เทพสวรรค์ได้เสกให้เกิดแม่น้ำกว้างใหญ่บนท้องฟ้า ทำให้ชายเลี้ยงวัวไม่สามารถเหาะข้ามไปได้
ต่อมาเทพสวรรค์เห็นแก่หญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัวที่มีความรักมั่นคงต่อกัน จึงใจอ่อน ยอมให้ทั้งสองได้พบกันปีละครั้ง ทุกวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ในวันนั้นเหล่านกจะมาต่อตัวเป็นสะพานให้คู่รักคู่นี้ได้เดินข้ามแม่น้ำมาพบกัน
แม่น้ำบนท้องฟ้านั้นคือ ทางช้างเผือก หญิงทอผ้าคือ ดาวเวกา (Vega) ในกลุ่มดาวพิณ (Lyra) และชายเลี้ยงวัวคือ ดาวอัลแทร์ (Altair) ในกลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila) ดาวทั้งสองจะอยู่ข้างทางช้างเผือก
ปัจจุบันยังมีเทศกาลฉลองวันที่คู่รักทั้งสองมาพบกันเรียกว่า เทศกาลชิซี (Qixi 七夕) เมื่อญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมจีนเรื่องนี้ก็จัดเทศกาลเช่นกันเรียกว่า เทศกาลทานาบาตะ (Tanabata たなばた)
ภาพลำแสงเลเซอร์ส่องไปที่ใจกลางทางช้างเผือก ถ่ายจากหอดูดาว Very Large Telescope (VLT) ประเทศชิลี โดย Yuri Beletsky
ที่มาภาพ NASA https://apod.nasa.gov/apod/ap190106.html
ถ้าลากเส้นจากดาวเวกาไปดาวอัลแทร์ แล้วลากไปหาดาวเดเนบ (Deneb) ในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่า สามเหลี่ยมฤดูร้อน (Summer Triangle) เป็นสามเหลี่ยมที่จะเห็นในช่วงฤดูร้อนของฝรั่ง (ในซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตร) ตอนต้นเดือนกรกฎาคมตั้งแต่หัวค่ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ชาวอินเดียเรียกทางช้างเผือกว่าเป็นแม่น้ำคงคาสวรรค์ ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง “กามนิต” ว่ากามนิตและวาสิฏฐีคู่รักเมื่อตายแล้วจะไปพบกันที่นั่น เช่นเดียวกับโกโบริและอังศุมาลินในเรื่อง “คู่กรรม” ของทมยันตี
ในทางดาราศาสตร์ ทางช้างเผือกคือกาแล็กซี(galaxy) หรือดาราจักร ที่โลกเราเป็นสมาชิกอยู่ คำว่า galaxy มีรากศัพท์จากภาษากรีกว่า galaxias (γαλαξίας) แปลว่า นม มาจากนิทานเรื่องทางน้ำนมกับเฮราคลีส
กาแล็กซีคือระบบดาวที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ประมาณว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกมีดาวฤกษ์ (คือดาวที่เหมือนดวงอาทิตย์) อยู่ประมาณ 1-4 แสนล้านดวง มีลักษณะเป็นก้นหอยมีคาน (barred spiral galaxy) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 แสนปีแสง (1 ปีแสงเท่ากับ 9.46 ล้านล้านกิโลเมตร) คาดว่าตรงกลางทางช้างเผือกเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ โชคดีที่โลกของเราไกลห่างจากจุดศูนย์กลางทางช้างเผือกประมาณ 28,000 ปีแสง โลกและดวงอาทิตย์ต้องใช้เวลาประมาณ 230 ล้านปีถึงจะโคจรรอบกาแล็กซีทางช้างเผือก
ภาพวาดทางช้างเผือก มองจากด้านบน ดวงอาทิตย์จะอยู่ค่อยมาทางด้านล่าง
ที่มาภาพ NASA https://solarsystem.nasa.gov/resources/285/the-milky-way-galaxy/?category=solar-system_beyond
คาดว่าในจักรวาลมีกาแล็กซีทั้งหมดประมาณ 2 แสนล้าน ถึงมากกว่า 2 ล้านล้านกาแล็กซีในจักรวาลหรือเอกภพ
เราสามารถมองเห็นทางช้างเผือกด้วยตาเปล่า ตอนผมเป็นเด็กเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน สามารถมองเห็นทางช้างเผือกในกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันไม่สามารถเห็นในกรุงเทพฯ แล้ว เนื่องจากกรุงเทพฯ มีมลพิษแสง (light pollution) ที่เกิดจากแสงไฟฟ้าในเมืองมากขึ้น จึงต้องออกเดินทางไปดูในพื้นที่ที่มืดสนิทไกลจากเมือง
ดาวทุกดวงที่เรามองเห็นบนท้องฟ้านั้นล้วนอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก แต่ทางช้างเผือกที่เราเห็นเป็นแถบคล้ายเมฆนั้นเกิดจากมุมมองจากโลกที่มองเห็นด้านข้างของทางช้างเผือก เปรียบทางช้างเผือกเหมือนจานกินข้าว ถ้าเรามองด้านบนจะเห็นจานกลม แต่ถ้ามองจานด้านข้างจะเห็นเป็นเส้น
ตรงบริเวณใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) ใกล้กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) และกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) เป็นบริเวณที่จะเห็นทางช้างเผือกมีดาวหนาแน่นที่สุดหรือสวยงามที่สุด จึงนิยมถ่ายภาพทางช้างเผือกให้เห็นบริเวณใจกลาง
ทางช้างเผือกอยู่บนท้องฟ้าตลอดเวลา แต่บริเวณใจกลางจะเห็นเวลากลางคืนประมาณปลายเดือนมกราคมตอนเช้ามืดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงกลางเดือนพฤศจิกายนตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้