ด้วยวิทยาการที่ก้าวล้ำทำให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีการตรวจทางพันธุกรรม (DNA Test) ที่แพร่หลายในปัจจุบัน อาจทำให้ได้ทราบถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคทางกาย และโรคทางพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็ก อาทิ “Misophonia” หรือโรคกลัวเสียง
อาจารย์ ดร.สุพัทธ แสนแจ่มใส อาจารย์และนักจิตวิทยาเด็ก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ยังมีโรคที่อาจค้นพบได้ตั้งแต่ตรวจ DNA Test ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในระยะยาว
อาจารย์ ดร.สุพัทธ แสนแจ่มใส
อาจารย์และนักจิตวิทยาเด็ก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
แม้เพียงการทำงานของร่างกายที่ทำให้เกิดเสียงตามปกติ เช่น เสียงเคี้ยวอาหาร หรือเสียงถอนหายใจ หรือนอกจากนี้ เสียงที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป อย่างเช่น เสียงกดปากกา หรือเสียงเคาะต่างๆ ก็อาจทำให้รู้สึกเหมือนถูกรบกวน หรือที่เรียกว่า โรค “Misophonia” หรือโรคกลัวเสียง ที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนอารมณ์และระบบประสาทอัตโนมัติที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เด็กอาจเกิดอารมณ์ขุ่นมัว ไปจนถึงความรู้สึกวิตก หรือหวาดกลัวได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป
“Misophonia” หรือโรคกลัวเสียง นับเป็นปัญหาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต ซึ่งอาจจะเกิดมาจากสาเหตุทางพันธุกรรม หรือการถูกวางเงื่อนไขจากการกระทำที่ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตก หวาดกลัว จากการมีประสบการณ์ทางลบมาในวัยเด็กที่เชื่อมโยงกับเสียงดังกล่าว ซึ่งภาวะของโรคกลัวเสียง อาจจะพบได้บ้างใน “เด็กสมาธิส้้น” แต่โดยทั่วไป “เด็กสมาธิสั้น” จะมีความไวต่อ “การสัมผัส” มากกว่า โดยเป็นผลมาจากความผิดปกติของบูรณาการทางประสาทในอีกลักษณะ ซึ่งไม่อาจบรรเทา หรือเยียวยาได้ด้วย “การโอบกอด” เช่น โรคกลัวเสียง
การควบคุมสิ่งแวดล้อมที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการ เป็นไปได้ยาก และไม่ยั่งยืนเท่ากับการฝึกให้เด็กรู้จัก “พิจารณาเหตุและผล” โดยการใคร่ครวญทำความเข้าใจถึง “ที่มาของเสียงซึ่งเป็นสาเหตุของความกลัว” และ “ปรับเปลี่ยนความคิด” ที่จะนำไปสู่ “ความเครียด” โดยการฝึกให้เด็กรู้จักและทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผลจะช่วยจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
นอกจากนี้ “การคาดหวัง” ที่จะทำให้เด็กเติบโตถึงพร้อมด้วย “ความเก่ง” และ “ความฉลาด” อาจไม่ใช่ “คำตอบ” สำหรับทุกสิ่ง ในทางตรงกันข้ามอาจนำมาซึ่ง “ความกดดัน” และ “ความเครียด” ดั่งภูเขาไฟที่รอวันประทุ
ในขณะที่การฝึกเด็กให้รู้จักใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมตามวัย และการมีสุขภาวะที่ดี จะนำมาซึ่ง “ภูมิคุ้มกันทางจิตใจและสังคม” ที่จะกลายเป็น “พลังชีวิต” ให้พร้อมก้าวเดินได้อย่างมั่นคงในโลกแห่งอนาคตที่เปลี่ยนแปลง
มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ เพื่อการมอบองค์ความรู้ที่จะทำให้สังคมและโลกใบนี้ดีขึ้น ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
Cr: ภาพโดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล