“มอสิงโต” แปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก

เรื่องโดย
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.


          ทีมวิจัย สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร เปิดแปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบชะนีช่วยกระจายพันธุ์ไม้ทั่วผืนป่า เพิ่มพันธุ์ไม้ดูดซับคาร์บอน ระบุแปลงมอสิงโตเป็นแปลงที่สองของโลกที่มีการติดตามศึกษาเถาวัลย์ พบเป็นแหล่งอาหารสำรองชั้นดีให้แก่สัตว์ป่ายามขาดแคลนอาหาร

          ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พาสื่อมวลชนเยี่ยมชม “แปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต”  ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 190 ไร่ ก่อตั้งใน พ.ศ. 2539 ถือเป็นแปลงศึกษานิเวศวิทยาถาวรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ติดตามสำรวจมากว่า 20 ปี มีการศึกษานิเวศวิทยาประชากรและชีววิทยาของชะนี ความหลากหลายของพรรณไม้ เถาวัลย์ ความสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์ รวมถึงการติดตามศึกษาพลวัตป่าแปลงวิจัยมอสิงโต จากสภาพอากาศและสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป


คณะสื่อมวลชนเข้าชมแปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพที่มอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

แปลงศึกษาระบบนิเวศมอสิงโต

          แปลงศึกษาระบบนิเวศมอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เริ่มต้นจากการศึกษาวิจัยชะนี เน้นพฤติกรรมของสัตว์และความสัมพันธ์เชิงสังคมของชะนี รวมถึงการส่งเสียงร้องของชะนี พฤติกรรมการกินอาหาร ความสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์ในการอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน (อ่านรายละเอียดงานวิจัยชะนีเขาใหญ่นี้ได้ในสาระวิทย์ ฉบับที่ 24)


ชะนีมือขาว

          จุดเริ่มต้นดังกล่าวก่อให้เกิดการจัดตั้งแปลงศึกษาระบบนิเวศระยะยาวมอสิงโต ในปี 2539 โดยครอบคลุมพื้นที่อาณาเขตของชะนีกลุ่มหลักคือ กลุ่ม A พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในการทำแปลงศึกษาระยะยาวนี้ว่าเป็นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพทั้งหมด โดยติดตามศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยนักวิจัยจาก สวทช. และหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program) หรือโครงการบีอาร์ที (BRT) ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

          นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากต่างประเทศ โดยแปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโตได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายแปลงวิจัยพลวัตป่าขนาดใหญ่ทั่วโลกของ Center for Tropical Forest Science (CTFS) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสถาบัน สมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดความร่วมมือกับนักวิจัยนานาชาติในการศึกษาวิจัยมากมาย

          ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยจนถึงปัจจุบัน มีรายงานผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ รวม 15 เรื่อง แปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับการยอมรับจากวงการวิชาการว่าเป็นแปลงศึกษานิเวศวิทยาถาวรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นแหล่งการสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญโครงการวิจัย “การติดตามศึกษาพลวัตป่าแปลงวิจัยมอสิงโต จากสภาพอากาศและสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป” เป็นหนึ่งในหลายร้อยผลงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้นำมาจัดแสดงร่วมกับพันธมิตรในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (International Conference on Biodiversity 2019: IBD2019) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2562 ด้วย


น.ส.อนุตตรา ณ ถลาง ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส สวทช. เป็นผู้หนึ่งในทีมงานวิจัยชะนีเขาใหญ่

          น.ส.อนุตตรา ณ ถลาง ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส สวทช. เปิดเผยว่า แปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโตมีการศึกษาวิจัยที่มีความหลากหลายมาก และโดดเด่นมากในการติดตามศึกษาชะนี ซึ่งมี ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน นักวิชาการด้านนิเวศวิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้ริเริ่มศึกษาชะนีในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดแปลงวิจัยมอสิงโตแห่งนี้ โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีชะนีสองชนิดพันธุ์ คือ ชะนีมือขาว (H. lar) และชะนีมงกุฎ (H. pileatus) แต่แปลงวิจัยมอสิงโตอยู่ในเขตการกระจายพันธุ์ของชะนีมือขาว

          “ชะนีเป็นวานร (Ape) ชนิดที่เล็กที่สุด ต่างจากกอริลลา อุรังอุตัง และชิมแปนซี ลักษณะของวานรคือ ไม่มีหาง อกกว้าง มีแขนที่ยาวมาก เมื่อเทียบกับขา มีใบหน้าแบน เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก เดินทางจากต้นไม้หนึ่งไปอีกต้นหนึ่งทางเรือนยอดไม้ โดยใช้แขนสองข้างห้อยโหน ซึ่งเป็นลักษณะการเคลื่อนที่เฉพาะของชะนี

          ชะนีเป็นสัตว์ที่มีความแตกต่างระหว่างเพศน้อยมาก อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ตามปกติสมาชิกในกลุ่มประกอบด้วยคู่ชะนีผัวเมีย และลูกชะนีวัยต่างๆ มีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 4-6 ตัว ชะนีออกลูกครั้งละหนึ่งตัว และมีช่วงห่างระหว่างการออกลูกแต่ละตัวประมาณ 3-4 ปี ชะนีแต่ละกลุ่มมีอาณาเขตเฉพาะ และจะใช้เสียงร้องคู่ผัวเมียและเสียงร้องเป็นทำนองแบบต่างๆ เพื่อประกาศอาณาเขตและสื่อสาร ซึ่งระบบสังคมแบบนี้พบได้น้อยมากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่พบได้มากในนก อย่างไรก็ตามจากการศึกษาที่ยาวนานในแปลงวิจัยมอสิงโตพบว่า ในกลุ่มชะนีอาจมีสมาชิกที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นพ่อแม่ลูกหรือพี่น้องอยู่ร่วมกันด้วย

          จากการเฝ้าติดตามพฤติกรรมชะนี ทีมวิจัยพบว่า ชะนีเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศในป่าเขาใหญ่อย่างมากในฐานะผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืช เพราะพฤติกรรมการกินอาหารของชะนีจะกลืนผลไม้ไปพร้อมกันกับเมล็ด ตั้งแต่เมล็ดที่มีขนาดเล็กไปจนถึงเมล็ดปานกลาง เมื่อชะนีเดินทางไปตามจุดต่างๆ ในอาณาเขต จะพาเมล็ดพืชเหล่านั้นไปด้วย พร้อมทั้งขับถ่ายออกมา และด้วยชะนีอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง มูลที่ขับถ่ายออกมาจะกระจัดกระจายไปทั่วทั้งแปลง ไม่มีการกระจุกรวมกัน จึงทำให้เมล็ดพันธุ์พืชเหล่านี้กระจายไปตามที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง

          “จากการติดตามศึกษามูลชะนีเพื่อศึกษาพืชอาหารและพฤติกรรมการหาอาหารของชะนีพบว่า ในการขับถ่ายแต่ละครั้งจะพบเมล็ดพืชหลายชนิด โดยผลไม้ที่ชะนีชื่นชอบก็คือเงาะป่า  ในปี พ.ศ. 2550 ต้นเงาะป่าออกผลดก ทีมวิจัยสามารถนับเมล็ดเงาะป่าในมูลชะนีมีมากกว่า 3,000 เมล็ด แต่ในยามที่ขาดแคลนผลไม้พบว่า ชะนีจะกินผลเถาวัลย์สายพันธุ์ช้างสารสับมัน (Erycibe elliptilimba) แทน โดยในปี พ.ศ. 2551 และ 2552 พบเมล็ดเถาวัลย์ในมูลชะนีมากกว่า 4,000 เมล็ด ดังนั้นชะนีจึงเป็นสัตว์ป่าที่มีความสำคัญในการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชให้กับป่า เพื่อคงความหลากหลายและสร้างสมดุลของของป่าไว้ได้ดี” น.ส.อนุตตรา กล่าว

          ชะนี นอกจากจะมีความสำคัญกับระบบนิเวศในการกระจายเมล็ดพันธุ์แล้ว ยังพบว่าสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น หมีและช้าง ก็มีความสำคัญต่อการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์พืชขนาดใหญ่ที่ชะนีไม่สามารถกินได้หมดทั้งผล เช่น ผลกระท้อน มังคุดป่า ผลต้นไข่ช้าง ซึ่งสัตว์ใหญ่เหล่านี้มีขนาดถิ่นที่อยู่กว้าง จึงนำพาเมล็ดพันธุ์ไปได้ไกล ดังนั้นจะเห็นได้ว่าป่าที่สมบูรณ์ต้องอาศัยสัตว์ป่าหลากหลายชนิดในการกระจายเมล็ดพันธุ์ ที่สำคัญสัตว์ป่าเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเพิ่มศักยภาพป่าในการดูดซับคาร์บอนด้วย

          “จากการศึกษาพลวัตป่าแปลงวิจัยมอสิงโต จากสภาพอากาศและสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบผลของการสูญพันธุ์ของสัตว์ขนาดใหญ่ร่วมกับทีมวิจัยจากเยอรมนี พบว่า ป่าที่สมบูรณ์แต่ไม่มีสัตว์ป่าช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ มีศักยภาพการสะสมคาร์บอนน้อยกว่าป่าที่มีสัตว์ป่า เพราะต้นไม้ที่สัตว์ป่าช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ มักเป็นต้นไม้ที่ความหนาแน่นของเนื้อไม้สูง สะสมคาร์บอนได้มาก เช่น เงาะป่า มังคุดป่า ต้นตำหยาวผลตุ่ม ต้นขี้อ้าย

          นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีความร่วมมือกับนักวิจัยฝรั่งเศส เริ่มศึกษา ตรวจวัดประเมินการสะสมคาร์บอนในป่าแปลงมอสิงโต และป่าฟื้นตัวบริเวณใกล้เคียง ด้วยเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกลชนิด LiDAR อาศัยหลักการยิงเลเซอร์ไปยังวัตถุ โดยติดเซนเซอร์ตรวจบนเครื่องบิน ทำให้สามารถสร้างภาพสามมิติของป่า และได้ค่าความสูงของต้นไม้ ช่วยให้การประเมินมีความแม่นยำมากขึ้น เบื้องต้นผลการศึกษาการสะสมคาร์บอนในป่า พบว่าป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่บางส่วนเป็นพื้นที่แผ้วถางมาก่อน ซึ่งป่าบริเวณนี้ที่เริ่มมีการฟื้นตัว มีการสะสมคาร์บอนได้มากในอัตราที่รวดเร็วกว่าป่ารุ่นเก่าอย่างมาก เพราะมีความต้องการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสงสูง เป็นข้อมูลที่สนับสนุนว่าการปลูกป่าและการฟื้นฟูป่าอาจเป็นหนทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดภาวะโลกร้อนได้

          อย่างไรก็ตามทีมวิจัยยังพบการเติบโตของพืชในแปลงวิจัยที่กระจุกตัวบนพื้นที่ที่มีระดับสูงขึ้น  เรื่อยๆ แม้ว่าชะนีจะกระจายเมล็ดพันธุ์พืชอาหาร เช่น ต้นเงาะป่าทั่วแปลงวิจัยมอสิงโตแล้วก็ตาม แต่กลับพบว่าต้นเงาะป่าเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีระดับความสูงขึ้น โดยไม่พบการเกิดและเติบโตของต้นเงาะป่าในพื้นที่ราบหรือเจริญเติบโตได้จำนวนน้อยมาก

          ขณะเดียวกันยังพบสัตว์ป่า เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ ที่เคยพบหากินและอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบซึ่งอยู่ต่ำกว่าแปลงวิจัยมอสิงโต แต่ระยะหลังมานี้พบการย้ายถิ่นขึ้นมาในพื้นที่มอสิงโตเพิ่มขึ้น คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้พืชและสัตว์ป่ามีการปรับตัวอพยพย้ายถิ่นขึ้นมาอยู่ในบริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากขึ้น เพราะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า


ต้นตาเสือ ไม้ป่าหายาก เป็นอาหารของนกกก และกระรอก

          “ปกติบริเวณมอสิงโตซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร จะพบไก่ฟ้าหลังขาว และในบริเวณที่ต่ำกว่าจะเป็นที่อยู่ของไก่ฟ้าพญาลอ แต่ระยะหลังมานี้พบไก่ฟ้าพญาลอขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่ที่มอสิงโต ขณะที่ไก่ฟ้าหลังขาวย้ายถิ่นขึ้นไปอยู่บริเวณที่สูงขึ้นและมีให้เห็นน้อยลง โดยทีมวิจัยจะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปทำการศึกษาเพื่อเป็นองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต”  น.ส.อนุตตรา กล่าว

          อย่างไรก็ตามองค์ความรู้จากการทำแปลงศึกษาวิจัยมอสิงโต นับว่าทีมวิจัยได้องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์จำนวนมาก ทั้งความหลากหลายพันธุ์พืชและสัตว์ พืชอาหารที่เป็นประโยชน์ของสัตว์ป่า ความสมดุลของต้นไม้และพันธุ์พืชอื่นๆ ในแปลง เช่น ต้นไม้ใหญ่กับเถาวัลย์ที่เติบโตอยู่ในพื้นที่เดียวกันและสร้างสมดุลพืชได้ดี ทั้งนี้หากพื้นที่ป่าอื่นๆ ในประเทศไทยจะทำแปลงศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้แปลงวิจัยมอสิงโตเป็นต้นแบบ ทีมวิจัยเห็นว่าน่าจะได้ประโยชน์และจะได้มีองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าเขตร้อนในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ของป่าเขตร้อน สร้างเสถียรภาพด้านภูมิอากาศ และเป็นทางออกของปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน

 

About Author