ม.มหิดลร่วมพัฒนานวัตกรรม AI ติดตามสุขภาพผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี IIoT

ในขณะที่ IoT (Internet of Things) เนรมิตโลกแห่งความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ด้วยการเชื่อมต่อการทำงานของทุกอุปกรณ์ดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน แต่ IIOT (Industrial Internet of Things) ช่วย “ออกแบบชีวิต” ของผู้คนบนโลกให้ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น

อาจารย์ ดร.ณัฐฐ หอมดี อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมและชีวการแพทย์สารสนเทศ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (Virginia University) สหรัฐอเมริกา ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ติดตามสุขภาพผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี IIoT ที่เชื่อมต่อทุกอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ให้เหมือนมี “ผู้ช่วย“ ที่คอยดูแลตั้งแต่การรับประทานยาตามเวลาและอาการที่เหมาะสม ตลอดจนปรับสภาพแวดล้อมให้ไม่ส่งผลต่ออาการของผู้ป่วย

จากการทดลองติดตามผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับ “ความเจ็บแบบเฉียบพลัน” (Breakthrough Pain) ซึ่งมีระดับที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี IIoT คอยติดตามว่าเกิดในช่วงใด และมีปัจจัยแวดล้อมอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับทีมแพทย์ในการให้คำแนะนำที่เหมาะสม

ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้อาการกำเริบ อาจเป็นได้ทั้งจากแสง เสียง และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ฯลฯ จนส่งผลให้เกิด “ความเครียด” ที่อาจส่งผลทำให้อาการของโรคมะเร็งทวีรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ โดยเป็นเฟสแรกของงานวิจัยที่จะขยายผลไปสู่การออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหา (Intervention) ได้อย่างตรงจุดในก้าวต่อไป ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก National Institute of Health (NIH) สหรัฐอเมริกา จนคาดว่าจะสามารถใช้เป็น “แพลตฟอร์ม“ ออกแบบชีวิตให้กับผู้ป่วยโรคอื่นๆ อาทิ ไมเกรน ภูมิแพ้ และโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลที่ต่อเนื่องได้ต่อไปในอนาคต

นอกจากนวัตกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG3 เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน (Good Health & Well – being) และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG17 (Partnerships for the Goals)

ด้วยภารกิจที่มุ่งมั่นผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมและชีวการแพทย์สารสนเทศ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็น “ศูนย์กลางข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ” ที่เปิดกว้างให้ทุกสถาบันที่เกี่ยวข้องได้เข้าถึงองค์ความรู้จากห้องปฏิบัติการที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างไร้ขีดจำกัดทางโลกออนไลน์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตาม SDG10 (Reduced Inequalities) ต่อไปในอนาคต

วงการแพทย์กำลังให้น้ำหนักต่อการพัฒนาเทคโนโลยี IIoT เนื่องจากมีความสำคัญต่อโลกยุคใหม่ที่แข่งขันกันด้วย “ศักยภาพแห่งโซลูชันส์” สู่ทางออกของปัญหา ด้วยนวัตกรรม AI ติดตามสุขภาพผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี IIoT ที่ออกแบบไว้อย่างครอบคลุมทุกความต้องการดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยระยะท้าย โดยรับการดูแลโดยแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันผ่าน ”สมองอัจฉริยะ“ ของ AI ที่สร้างขึ้นด้วยสมองและสองมือของมนุษย์

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ภาพจาก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author