Headlines

หมูเด้ง กับ “ฮิปโปตัวแรกบนดวงจันทร์”

เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


ในตอนที่กำลังเตรียมต้นฉบับเรื่องนี้ บก.เบ้งแอบกระซิบบอกผมว่า “อาจารย์น้องป๋วยครับ ฉบับนี้ อยากให้จับกระแสอวกาศกับ World Space Week สักนิด” เจอประโยคนี้เข้าไป เล่นเอาผมสตั๊นทำอะไรไม่ถูกไปสองวิ เพราะช่วงนี้ไม่ค่อยได้ตามข่าวอวกาศ มัวแต่ไปคลิกไลก์ให้ “หมูเด้ง” อยู่

ก็เลยต้องมาคิดดูว่าจะเขียนอะไรดี ข่าวอวกาศที่น่าตื่นเต้นที่ได้ยินล่าสุดก็เรื่องเทหวัตถุ “2024 PT5” ที่ตอนนี้เข้ามาสวมบทบาท “พระจันทร์จิ๋ว (minimoon)” ดวงใหม่ของโลกแบบชั่วคราวอยู่ราว 2 เดือน และมีแผนจะจากเราไปในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้

แม้จะฟังน่าตื่นตาตื่นใจแค่ไหน มินิมูนดวงนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงแค่ราว 10 เมตรเท่านั้น ประมาณก็แค่ใหญ่กว่ารถมินิบัสนิดหน่อย ซึ่งถือเล็กจิ๋วมากเกินกว่าที่กล้องโทรทรรศน์ของนักดูดาวทั่วไปจะมองเห็นได้

เปลี่ยนใจ เลยมานั่งหาดูว่าตอนนี้มีอะไรน่าสนใจเกี่ยวกับฮิปโปบ้าง เผื่อจับกระแสหมูเด้งฟีเวอร์ แต่พอลองเข้าไปขุดดูก็พบว่างานนี้อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยความที่ฮิปโปเป็นสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในแอฟริกา ในพื้นที่ที่ยากสำหรับนักวิจัยทั่วไปจะเข้าไปถึงได้ นิสัยดุร้าย อีกทั้งยังมีวิถีชีวิตที่เป็นปริศนา ส่วนใหญ่อยู่แต่ในน้ำ ขึ้นมาก็แต่กลางคืน ถ้าไปส่องดูตอนกลางวันที่พอจะมองเห็นได้ ก็มีแค่หัว จมูก กับลูกกะตาที่โผล่มาพ้นน้ำ ดูเผิน ๆ เหมือนหัวของม้าตัวอ้วน ๆ ลอยไปลอยมาจนได้รับการขนานนามว่า “ฮิปโปโปเตมัส” ที่แปลว่า “ม้าแม่น้ำ” หรือ “ม้าน้ำ” ส่วนหมูเด้งนั้นเป็น “ฮิปโปโปเตมัสแคระ” ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกันกับฮิปโปโปเตมัสแต่คนละสกุล (genus)

ประเด็นก็คืองานวิจัยสัตว์ยักษ์ที่ทรงพลังอย่าง “ฮิปโปโปเตมัส” อาจจะน่าสนใจและสามารถปลุกความกระหายใคร่รู้ของนักวิจัยหลายคนได้ แต่คำถามก็คือวิจัยไปแล้ว จะเอามาทำประโยชน์อะไรได้บ้างนอกจากได้รู้ในสิ่งที่อยากรู้ เมื่อมันไม่ชัดเจนว่าจะมีมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร แหล่งทุนก็เลยไม่ค่อยที่จะสนใจสนับสนุนงานวิจัยฮิปโปสักเท่าไหร่นัก และนั่นทำให้นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องฮิปโปอย่างแท้จริงนั้นหายากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทร


หมูเด้ง ซูเปอร์สตาร์สาวแห่งสวนสัตว์เขาเขียว

ครั้นไปเสิร์ชหาข่าวก็เจอข่าวเก่า ๆ ที่ไม่ค่อยน่าสนใจ ข่าวที่ใหม่หน่อยก็มีแต่ข่าวหมูเด้ง ครอบครัวหมูเด้ง ดรามาหมูเด้ง และหมูเด้งสวบพี่เลี้ยง และพอหันไปเสิร์ชดูคลิปใน Reels และใน YouTube ก็ยังเจอแต่น้องหมูเด้งที่เด้งอยู่ตลอดในแทบทุกเวลา พร้อมสวบในแทบทุกอิริยาบถ ยกเว้นก็แต่ตอนนอน แต่ที่ประหลาด ครีเอทิฟ และเรียกเสียงฮาได้ เห็นจะเป็นคลิปที่คอมเมเดียน โบเวน หยาง (Bowen Yang) สวมชุดหมูเด้งนั่งโวยวายช้งเช้งอยู่กับผู้ประกาศข่าวในรายการ Saturday Night Live ในช่อง NBC

ที่จริงก่อนหน้านี้ไม่นาน ประมาณสักเดือนที่แล้ว ผมเพิ่งจะเขียนเรื่องราวของฮิปโปลอยได้ ที่เป็นงานวิจัยจากจอห์น ฮัตชินสัน (John Hutchinson) และเอมิลี พริงเกิล (Emily Pringle) จากวิทยาลัยสัตวแพทย์หลวง (The Royal Veterinary College) ในสหราชอาณาจักร ลงในมติชนสุดสัปดาห์ไป (คอลัมน์ทะลุกรอบ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 กันยายน พ.ศ. 2567)

เรื่องของเรื่องคือจอห์นสนใจว่าฮิปโปนั้นมีแบบแผนในการก้าวย่างเป็นอย่างไรกันแน่ วิ่งเหยาะ ๆ อย่างสง่างามเหมือนม้า พุ่งทะยานปานเสือชีตาห์ หรือว่าค่อย ๆ กระเตื้องไปข้างหน้าเหมือนสลอท จอห์นคาดเดาว่าสไตล์การวิ่งของฮิปโปนั้นน่าจะคล้ายคลึงกับสัตว์ใหญ่อย่างช้างหรือว่าแรด

ด้วยน้ำหนักตัวที่ตันตึกเบ่งบานขนาดสามสี่ตัน จะให้ก้าวย่างอย่างสง่า ท่วงท่าราวราชสีห์ ก็น่าจะไม่ใช่  แต่จะรู้ชัดได้อย่างไรถ้าไม่พิสูจน์ ด้วยความอยากรู้หาคลิปออนไลน์ฮิปโปวิ่งใน YouTube มาวิเคราะห์ เท่านั้นยังไม่พอ ยังไปหากล้องมาอัดฮิปโปวิ่งมาเพิ่มอีก รวมแล้วหลายสิบคลิป ขนาดรวมกว่า 5 กิกะไบต์

ที่น่าสนใจคือผลออกมาทำให้พวกเขาเซอร์ไพรส์ เพราะฮิปโปนั้นไม่ได้เดินเตาะเเตะ แต่เดินแบบสมชื่ออาชา พวกมันเยื้องย่างอย่างรวดเร็วด้วยท่าม้าย่อง ในยามเร่งสปีด ร่างของพวกมันดีดขึ้นมาเหนือพื้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ มีหลายช่วงที่สี่ขาของพวกมันลอยอยู่เหนือพื้น ซึ่งไม่เป็นไปอย่างที่คิดแม้แต่น้อย

ด้วยรูปร่างที่อ้วนอวบและน้ำหนักที่มโหฬารปานรถยนต์คันใหญ่ ๆ ดูอย่างไรเท้าน้องก็ไม่น่าที่จะลอยขึ้นมาจนหมดทั้งสี่บาทาพร้อมกัน เพราะนั่นหมายถึงแรงถีบตัวที่ต้องใช้แบบมากมายมหาศาล และที่จริงถ้าดูเวลาในการวิ่งทั้งหมด จะมีช่วงเวลาที่ขาทั้งสี่ของพวกมันไม่ติดพื้นเลยถึง 15 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นน่าสนใจขึ้นกับว่าคุณนิยามการลอยตัวหรือการบินว่าอย่างไร เพราะถ้าคำนิยามของคุณคือทั้งร่างไม่ติดพื้น นั่นหมายความว่าฮิปโปนั้นลอยตัวหรืออาจจะบินได้อยู่แทบตลอดเวลาที่เร่งสปีด แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ แค่ไม่ถึงวินาทีก็ตาม

หรือจริง ๆ มองอีกมุมจะบอกว่า “ฮิปโปเด้งได้ !!!!” ก็คงไม่ผิด

ในมุมของจอห์นสิ่งนี้เป็นอะไรที่พลิกความเชื่อของเขาไปอย่างสิ้นเชิง แบบแผนในการวิ่งของพวกมัน แสดงให้เห็นถึงว่า เป็นไปได้ไหมที่ฮิปโปอาจจะไม่ได้นอนแช่ปลักทำสปาโคลนไปวัน ๆ ยามเย็นก็เดินขึ้นมาเคี้ยวต้วม ๆ แล้วก็กลับลงไปนอนอืดอยู่ในโคลนใหม่ บางทีฮิปโปอาจจะมีวิถีชีวิตที่แอกทิฟมากกว่าที่เราเคยจินตนาการกันในอดีตก็เป็นได้

ผมนึกย้อนไปถึงคลิปของฟิโอนา (Fiona) ฮิปโปสาวสุดเริงร่าแห่งสวนสัตว์ซินซินนาติ (Cincinnati Zoo) ที่โดดเด้งเริงระบำราวกับโลมาด้วยท่วงท่าที่ร่าเริงคล่องแคล่วว่องไวอยู่ในบ่อ จนบางคนตั้งสมมติฐานว่าบางทีน้องอาจจะนึกว่าตัวเองเป็นโลมา มิใช่ฮิปโป จนมีคนถ่ายคลิปแชร์กระจายไปมากมายเป็นไวรัลออนไลน์อยู่พักใหญ่

ในโลกออนไลน์ สาวน้อยผู้เริงร่า “ฟิโอนา” ได้สมญาว่า “ฮิปโปนักบัลเลต์ (Fiona the ballerina)”

 


ฟิโอนา ซูเปอร์สตาร์สาวแห่งสวนสัตว์ซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา (ภาพถ่าย พ.ศ. 2561)
ที่มาภาพ : Wikipedia

คำถามคือถ้าฮิปโปแอกทิฟขนาดนั้น เป็นไปได้ไหมที่ใครสักคนบ้าพอจะมีแนวคิดอยากส่งฮิปโปไปดวงจันทร์ รู้ทั้งรู้ว่ามันเป็นไอเดียที่แปลกประหลาด แต่ไม่แน่บางทีเสน่ห์ม้าน้ำร่างตุ้ยอาจจะต้องใจนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรอวกาศบางคนก็ได้

อยากรู้ต้องค้นคว้า ผมตัดสินใจลองขุดคุ้ยเรื่องฮิปโปในอวกาศดู แล้วก็ไปพบหนังสือเด็กเล่มหนึ่งซึ่งเขียนโดยนักแต่งนิทานเด็กชื่อดัง เดวิด วิลเลียมส์ (David Williams) ที่ชื่อว่า “The First Hippo on the Moon (ฮิปโปตัวแรกบนดวงจันทร์)“

หลังจากลองสืบค้นดู หนังสือเล่มนี้พูดถึงการแข่งขันของฮิปโปสองตัว คหบดีฮิปโปผู้มั่งคั่ง เฮอร์คิวลิส วาลดอร์ฟ แฟรงคลินที่สาม  (Hercules Waldorf-Franklin III) และชีเลีย (Shelia) ฮิปโปสาวผู้ไขว้คว้าตามล่าฝัน ทั้งคู่มีเป้าหมายชีวิตแบบเดียวกันคืออยากเป็นฮิปโปตัวแรกที่ไปเหยียบฝากรอยเท้าไว้บนดวงจันทร์ และท้ายที่สุดก็ได้โบยบินขึ้นไปถึงที่ฝันไว้ทั้งคู่ เดวิดแต่งเรื่องนี้ได้อย่างตลกขบขันแอบแฝงมุกเสียดสี ประชดประชัน ค่อนแคะระบบทุนนิยมเล็ก ๆ แต่ก็สอนแนวคิดที่ดีในเรื่องความมุ่งมั่น และการทำงานเป็นทีม

“ฮิปโปตัวแรกบนดวงจันทร์” โด่งดังมากถึงขนาดนำไปทำเป็นละครหุ่นแสดงในโรงละครมารีนาในเมืองโลว์สตอฟต์ (Lowestoft) ในประเทศอังกฤษเลยทีเดียว

เดวิดเผยว่าในเรื่องนี้เขาได้แรงบันดาลใจมาจากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในสมรภูมิการบุกเบิกอวกาศของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียในยุคปี 60s ก็เลยอยากจะเขียนเรื่องราวนั้นขึ้นมา และเพื่อให้ตลกขบขัน เขาเลือกเอาสิ่งมีชีวิตที่น่าจะมีความเป็นไปได้น้อยที่สุดที่น่าจะถูกส่งขึ้นไปดวงจันทร์มาเป็นตัวเอก ซึ่งก็คือ “ฮิปโปโปเตมัส” ซึ่งเป็นอะไรที่เจ็บปวดมากสำหรับเอฟซีหมูเด้งและผองเพื่อน

ก็คงจะจริง คนสติดีที่ไหนกันที่จะมีความคิดแผลง ๆ อยากส่งฮิปโปที่หนักเป็นพันกิโลขึ้นไปบนอวกาศ เพราะถ้าส่งขึ้นไปจริง งบประมาณคงจะบานเบอะใช่ย่อย กระนั้นก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าถ้ามีใครสักคนเกิดฮึดอยากส่งฮิปโปไปดวงจันทร์ขึ้นมาจริง ๆ จะเกิดอะไรขึ้น ?

ด้วยแรงโน้มถ่วงบนดวงจันทร์ที่น้อยลงไปกว่าบนโลกถึงหกเท่า บางทีบนสนามเด็กเล่นแห่งใหม่บนดวงจันทร์ หมูเด้งอาจจะดีดเด้งมากกว่าบนโลกได้อีกหลายเท่าก็เป็นได้

แต่น่าจะสวบขาพี่เลี้ยงยากหน่อย  เพราะติดหมวก (นักบินอวกาศ) !

About Author