ดวงจันทร์ ที่มาของวันจันทร์

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


 

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว บนท้องฟ้ามีดวงอาทิตย์มากถึง 10 ดวง ทำให้โลกร้อนแล้งไปทั่ว น้ำในแม่น้ำลำคลองแห้งเหือด พื้นดินแห้งแตกระแหง พืชสัตว์และคนล้มตายจำนวนมาก


ภาพโฮ่วอี้ ที่มาภาพ หนังสือ “สตรีจีนในนิทาน แปลโดย วันทิพย์ สำนักพิมพ์สายใจ [25–] หน้า 41

          สวรรค์จึงได้ส่ง “โฮว่อี้ (后羿 Hòu Yì)” นักยิงธนูมายิงดวงอาทิตย์ดับไป 9 ดวง เหลือไว้ 1 ดวง สำหรับส่องแสงสว่างมาจนถึงทุกวันนี้


ภาพฉางเอ๋อ ที่มาภาพ หนังสือ “สตรีจีนในนิทาน แปลโดย วันทิพย์ สำนักพิมพ์สายใจ [25–] หน้า 51

          หลังจากเสร็จภารกิจแล้ว โฮ่วอี้ได้เดินทางต่อไปจนพบสาวสวยชาวบ้านชื่อ “ฉางเอ๋อ (嫦娥 Cháng’é)” ทั้งสองได้รักกันและแต่งงานกัน

          โฮ่วอี้ได้รับรางวัลจากการช่วยโลก เป็นยาวิเศษที่กินแล้วเป็นอมตะไม่มีวันตาย เขาจึงให้ยานั้นแก่ฉางเอ๋อ แต่เนื่องจากยามีเพียงเม็ดเดียว ฉางเอ๋อไม่อยากเป็นอมตะเพียงคนเดียวจึงไม่ยอมกิน

          วันหนึ่งโฮ่วอี้ออกไปล่าสัตว์ ฉางเอ๋ออยู่บ้านเพียงลำพัง “เฝิงเหมิง (逢蒙 Féng Méng)” ลูกศิษย์ของโฮ่วอี้ได้บุกเข้ามาในบ้าน หมายจะเอายาวิเศษไป ฉางเอ๋อไม่ยอมให้ แต่ฉางเอ๋อเป็นหญิง ไม่สามารถสู้แรงชายได้ ฉางเอ๋อจึงตัดสินใจกินยาวิเศษเพื่อไม่ให้เฝิงเหมิงคนร้ายเอาไปได้

          ทันทีที่ฉางเอ๋อกินยาวิเศษเข้าไป ร่างของฉางเอ๋อก็ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าเรื่อยๆ ด้วยความรักที่มีต่อโฮ่วอี้ผู้เป็นสามี ฉางเอ๋อจึงขออยู่บนดวงจันทร์ เพราะใกล้โลก ใกล้สามี

          เมื่อโฮ่วอี้กลับมาถึงบ้านไม่เห็นฉางเอ๋อ มองไปบนท้องฟ้าเห็นฉางเอ๋ออยู่บนดวงจันทร์ ด้วยความรักความคิดถึง โฮ่วอี้จึงได้ทำขนมที่ฉางเอ๋อชอบ เพื่อระลึกถึงฉางเอ๋อ

          ชาวบ้านคนอื่นๆ เมื่อได้ยินเรื่องนี้ต่างก็พากันทำขนมระลึกถึงฉางเอ๋อ เป็นที่มาของขนมไหว้พระจันทร์ (mooncake) และเทศกาลไหว้พระจันทร์ (Moon Festival) ในวัน 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2564


ภาพกระต่ายบนดวงจันทร์ ที่มาภาพ Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Moon_rabbit

          กล่าวกันว่ารูปกระต่ายที่เห็นบนดวงจันทร์คือกระต่ายที่ฉางเอ๋อเลี้ยงไว้

          “ฉางเอ๋อ” ยังเป็นชื่อยานสำรวจดวงจันทร์ของจีน ปัจจุบันมี 4 ลำ คือ ฉางเอ๋อ 1-4 ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2562

          ดวงจันทร์ (Moon) เป็นที่มาของวันจันทร์ (Monday)

          ดวงจันทร์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่สว่างที่สุดในเวลากลางคืน

          ดวงจันทร์เป็นบริวารดวงเดียวของโลก มีลักษณะเหมือนเป็นลูกหินกลมขนาดใหญ่ 1,737 กิโลเมตร หรือเล็กกว่าโลกประมาณเกือบ 4 เท่า

          อากาศบนดวงจันทร์เบาบางมาก เราจำเป็นต้องใส่ชุดอวกาศ

          เนื่องจากชั้นบรรยากาศบางทำให้อุณหภูมิบนดวงจันทร์แตกต่างกันมาก บริเวณที่ได้รับแสงอาทิตย์อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 127 องศาเซลเซียส บริเวณที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์อุณหภูมิต่ำมากจนติดลบถึง -173 องศาเซลเซียส  

          แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์น้อยกว่าโลก 6 เท่า ถ้าเราชั่งน้ำหนักบนโลกได้ 60 กิโลกรัม เมื่อไปชั่งน้ำหนักบนดวงจันทร์จะเหลือแค่ 10 กิโลกรัม

          ระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงจันทร์ประมาณ 384,400 กิโลเมตร เนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์เป็นวงรี ไม่ใช่วงกลม บางช่วงดวงจันทร์จะใกล้โลก ใกล้ที่สุด 356,400 กิโลเมตร และไกลสุด 406,700 กิโลเมตร

          ช่วงดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก (timeanddate.com นิยามว่าใกล้กว่า 360,000 กิโลเมตร) เรียกว่า “ซูเปอร์มูน (supermoon)” เมื่อมองจากบนโลกดวงจันทร์จะใหญ่ขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์ และสว่างขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงไกลโลกหรือ “ไมโครมูน (micromoon)” (timeanddate.com นิยามว่าไกลกว่า 405,000 กิโลเมตร)

          ซูเปอร์มูนครั้งต่อไปคือวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ไมโครมูนครั้งต่อไปคือวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

          ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองพร้อมกับหมุนรอบโลกไปด้วย โดยใช้เวลาหมุนรอบตัวเองเท่ากับหมุนรอบโลกคือ 27.32 วัน ทำให้เมื่อมองจากโลกแล้วดวงจันทร์เหมือนโดนล็อก เราจะเห็นดวงจันทร์เพียงด้านเดียว (คือด้านที่เห็นเป็นรูปกระต่าย) เรียกว่า “ด้านใกล้ (near side)”


ภาพเปรียบเทียบดวงจันทร์ด้านใกล้ (ซ้ายมือ) ที่มองเห็นจากโลก กับด้านไกล (ขวามือ) ที่มองไม่เห็นจากโลก ถ่ายโดยยานอวกาศ Lunar Reconnaissance Orbiter ที่มา Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Moon

          อีกด้านหนึ่งคือ “ด้านไกล (far side)” เราจะไม่สามารถมองเห็นจากโลกได้เลย บางคนเรียกว่า “ด้านมืด (dark side)” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะด้านนี้ก็ได้รับแสงอาทิตย์เหมือนกัน ไม่ได้มืดตลอดเวลา (วันที่เราเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ด้านนี้จึงจะมืด เพราะไม่ได้รับแสงอาทิตย์)

          แต่เนื่องจากโลกก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ไปด้วย ทำให้เมื่อมองจากโลก ดวงจันทร์จะต้องใช้เวลาวิ่งตามเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยกว่าจะหมุนครบ 1 รอบโลก คือเพิ่มจาก 27.32 วัน เป็น 29.53 วัน หรือประมาณเกือบ 30 วัน หรือ 1 เดือน คำว่า “เดือน” ก็แปลว่าดวงจันทร์ ภาษาอังกฤษคำว่า “month” ก็คือ moon ดวงจันทร์เช่นกัน

          เนื่องจากรูปร่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงทุกวัน สังเกตได้ง่าย จึงนำมาใช้บอกระยะเวลา หรือสร้างเป็นปฏิทิน เรียกว่า ปฏิทินจันทรคติ (lunar calendar คำว่า “lunar” แปลว่า ดวงจันทร์)

          แต่ละประเทศอาจมีการกำหนดวันในปฏิทินจันทรคติแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ปฏิทินจันทรคติของไทย ปีปกติมี 12 เดือน เดือนคี่มี 29 วัน (ไม่มีวันแรม 15 ค่ำ) เดือนคู่มี 30 วัน (มีวันแรม 15 ค่ำ)

          ในบางปีจะเพิ่มวันแรม 15 ค่ำ เดือน 7 เรียกว่า “อธิกวาร” หรือบางปีจะเพิ่มเดือนอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือน เรียกว่า “อธิกมาส” เพื่อปรับวันในปฏิทินให้สอดคล้องกับการโคจรของดวงจันทร์ที่มีเศษ 0.53 วัน สอดคล้องกับฤดูกาลจริงๆ และสอดคล้องกับปฏิทินสุริยคติ (solar calendar) หรือปฏิทินหลักที่ปัจจุบันนิยมใช้กันทั่วโลก คือปฏิทินที่แบ่งเป็นเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ฯลฯ เป็นปฏิทินที่สร้างจากการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก

          สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จะกำหนดวันขึ้นเดือนใหม่แต่ละเดือนโดยดูจากดวงจันทร์จริงๆ บนท้องฟ้า (ไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าเหมือนปฏิทินจันทรคติไทย ตัวอย่างเช่น วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2564 กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10)

          สำหรับประเทศไทย สำนักจุฬาราชมนตรีจะมีประกาศให้ชาวมุสลิมจะออกไปดูจันทร์เสี้ยวแรก (هلال hilal ฮิลาล) ในวันที่ 29 ของเดือนอิสลาม หลังดวงอาทิตย์ตก ถ้าเห็นดวงจันทร์ ก็จะเข้าสู่วันที่ 1 ของเดือนใหม่ ถ้าไม่เห็นดวงจันทร์ (ไม่ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด) จะเป็นวันที่ 30 ของเดือนเก่า และวันถัดไปจึงจะเป็นวันที่ 1 ของเดือนใหม่

          การเข้าวันใหม่ของอิสลามจะเริ่มจากหลังดวงอาทิตย์ตก ต่างจากของตะวันตกที่เริ่มหลังเที่ยงคืน หรือของไทยที่เริ่มตอนดวงอาทิตย์ขึ้น

          แสงจันทร์ความจริงคือแสงอาทิตย์สะท้อนพื้นผิวดวงจันทร์แล้วมาเข้าตาเราบนโลก การที่เราเห็นรูปร่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงทุกวันเกิดจากการที่ดวงจันทร์หมุนรอบโลก ทำให้มุมแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบดวงจันทร์เปลี่ยนไป จึงเห็นเป็นข้างขึ้นข้างแรม

          หลุมบนดวงจันทร์เกิดจากอุกกาบาต ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งชนดวงจันทร์ ส่วนพื้นที่สีเข้ม (ที่เห็นเป็นกระต่าย) คือลาวาที่แข็งตัว (คนสมัยก่อนเข้าใจผิดว่าเป็นทะเล และยังคงเรียกชื่อเป็นทะเลมาจนทุกวันนี้)

          ดวงจันทร์เป็นสถานที่เดียวนอกโลกที่มนุษย์เคยไปเยือน โดยเริ่มจากวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2502 ยานลูนา 2 (Luna 2) ของโซเวียต เป็นยานที่ไม่มีคน สามารถสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก (เป็นการพุ่งชน ไม่ใช่การลงจอดแบบนุ่มนวล)

          อีก 10 ปีต่อมา ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) นักบินอวกาศสหรัฐอเมริกา โครงการอพอลโล 11 (Apollo 11) เป็นมนุษย์คนแรกที่ก้าวเหยียบลงบนดวงจันทร์


ภาพนีล อาร์มสตรอง ผู้เหยียบดวงจันทร์คนแรก ที่มา NASA
https://www.nasa.gov/images/content/464436main_S69-31741_full.jpg

          ขณะเมื่อก้าวเท้าลงบนดวงจันทร์นีลได้กล่าวว่า “นั่นเป็นก้าวเล็กๆ ของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” (“That’s one small step for [a] man, one giant leap for mankind.”) ประโยคนี้ได้กลายเป็นประโยคที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

          ปัจจุบันมีมนุษย์เคยลงไปบนดวงจันทร์แล้วทั้งหมดรวม 12 คน (พ.ศ. 2512-2515) และมีโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) ที่จะส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2567 โดยจะมีผู้หญิงคนแรกที่จะได้ลงบนดวงจันทร์ (อาร์ทิมิสเป็นชื่อน้องสาวฝาแฝดของอพอลโลในตำนานกรีก)

          ปรากฏการณ์น่าสนใจเกี่ยวกับดวงจันทร์คือ จันทรุปราคา (lunar eclipse) สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เกิดจากดวงจันทร์เข้าไปในเงาของโลก ทำให้เห็นดวงจันทร์แหว่งหรือมืดคล้ำลงหรือเป็นสีแดง และสุริยุปราคา (solar eclipse) เกิดจากดวงจันทร์ไปบังดวงอาทิตย์ ทำให้เห็นดวงอาทิตย์แหว่งหรือมืดไป

          ในภาษาไทยใช้ได้ทั้งคำว่า “จันทรุปราคา” และ “จันทรคราส” กับ “สุริยุปราคา” และ “สุริยคราส” คำว่า “อุปราคา” แปลว่า ทำให้ดำ หรือ ทำให้มีมลทิน ส่วน “คราส” แปลว่า กิน มาจากตำนานฮินดูเรื่อง พระราหูกินหรืออมพระจันทร์ และพระอาทิตย์ เนื่องจากพระจันทร์และพระอาทิตย์ไปฟ้องพระนารายณ์ว่า พระราหูแอบไปกินน้ำอมฤต พระนารายณ์กริ้วเลยขว้างจักรตัดตัวพระราหูขาดเป็นสองท่อน เนื่องจากพระราหูกินน้ำอมฤตแล้วไม่ตาย เมื่อเจอพระจันทร์หรือพระอาทิตย์ก็จะแก้แค้นด้วยการกินหรืออมไว้ เมื่อชาวบ้านเห็นปรากฏการณ์นี้ก็จะช่วยกันทำเสียงดังไล่พระราหูให้ปล่อยพระจันทร์และพระอาทิตย์

          ในทางวิชาการนิยมใช้คำว่า “จันทรุปราคา” มากกว่า “จันทรคราส” และใช้ “สุริยุปราคา” มากกว่า “สุริยคราส”

          จันทรุปราคาครั้งต่อไปที่เห็นได้ในประเทศไทยคือ วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 บางพื้นที่จะเห็นเป็นจันทรุปราคาบางส่วน  (partial lunar eclipse) เห็นดวงจันทร์แหว่งหรือคล้ำลงบางส่วน (ด้านบน) และจันทรุปราคาเงามัว (penumbral lunar eclipse) ดวงจันทร์มัวลงเล็กน้อย


ภาพดวงจันทร์ตกตรงวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
เป็นภาพต้นฉบับไม่ได้ตัดแต่งใดๆ ถ่ายโดยผู้เขียน จะเห็นเหมือนดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ ความจริงดวงจันทร์มีขนาดเท่าเดิม
แต่เนื่องจากมีอาคารและต้นไม้มาเปรียบเทียบจึงดูเหมือนดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า มายาจันทร์ (moon illusion)

          วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (total lunar eclipse) จะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง

          สุริยุปราคาครั้งต่อไปที่เห็นได้ในประเทศไทยคือ สุริยุปราคาบางส่วน (partial solar eclipse) วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2566 เห็นได้เฉพาะบางจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง เช่น ยะลา ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ 4 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นสุริยุปราคาบางส่วนครั้งต่อไปคือวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2570 กรุงเทพฯ ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ 11 เปอร์เซ็นต์

          สุริยุปราคาวงแหวน (annular solar eclipse) 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2574 เห็นได้เฉพาะบางจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไม่มิด เนื่องจากเป็นช่วงดวงจันทร์ไกลโลก เมื่อมองจากโลกเห็นดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้เห็นดวงอาทิตย์คล้ายวงแหวน

          สุริยุปราคาเต็มดวง (total solar eclipse) 11 เมษายน พ.ศ. 2613 เห็นได้เฉพาะบางจังหวัดในภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออก

          จันทรุปราคาและสุริยุปราคาไม่เกิดทุกเดือนเนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์เอียง 5 องศา เมื่อเทียบกับโลก

          นอกจากโลกแล้ว ดาวเคราะห์อื่นบางดวงก็มีดวงจันทร์เช่นกัน โดย กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) เป็นคนแรกที่ค้นพบดวงจันทร์ 4 ดวง ของดาวพฤหัสบดีด้วยการส่องกล้องโทรทรรศน์เมื่อปี พ.ศ. 2153

          ปัจจุบันมีการค้นพบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะดังนี้คือ (เรียงลำดับจากดวงอาทิตย์) ดาวพุธและดาวศุกร์ไม่มีดวงจันทร์, โลกมีดวงจันทร์ 1 ดวง, ดาวอังคารมีดวงจันทร์ 2 ดวง, ดาวพฤหัสบดี 79 ดวง, ดาวเสาร์ 82 ดวง, ดาวยูเรนัส 27 ดวง และดาวเนปจูน 14 ดวง

About Author