ม.มหิดล คิดค้นนวัตกรรมน้ำยาบ้วนปากจากสารสกัดข้าวไทย เพื่อผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาโรคในช่องปาก และต่อยอดนวัตกรรมเพื่อลดผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ

          จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยสูงอายุมักมีคราบจุลินทรีย์เกาะที่ง่ามรากฟัน ซึ่งทำความสะอาดได้ยากมากกว่าผู้ป่วยปกติ นอกจากการแปรงฟัน เหงือก และลิ้นแล้ว การใช้น้ำยาบ้วนปากที่เหมาะสม ร่วมกับ การขูดหินน้ำลาย และเกลารากฟันโดยทันตแแพทย์ จะช่วยทำให้การทำความสะอาดทั่วถึงขึ้น ในผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่สามารถแปรงฟันได้ถนัด เนื่องจากทักษะในการจับแปรงสีฟัน หรือผู้ที่มีโรคทางสายตา ทำให้เกิดพยาธิสภาพในช่องปากตามมา เช่น การเกิดโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรัง มีกลิ่นปาก การเกิดเชื้อราในช่องปาก ปากแห้ง เหงือก และเยื่อบุช่องปากบาง ง่ายต่อการระคายเคือง เกิดแผลในช่องปากได้ง่าย การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดธรรมชาติที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก และต้านการอักเสบ ร่วมกับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน จึงเป็นความหวังใหม่ในการป้องกันและบรรเทาโรคดังกล่าว

          กว่า 10 ปีที่ได้ทุ่มเทศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนานวัตกรรมน้ำยาบ้วนปากจากสารสกัดข้าวไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ โดยได้มีความร่วมมือกับ ทันตแพทย์หญิงจินตนา โพคะรัตน์ศิริ และทีมงานผู้วิจัย รวมถึงภาคเอกชนช่วยผลักดันสู่ตลาด รองศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิงศรัญญา ตันเจริญ หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ข้าวไทยพันธุ์ต่างๆ ที่มีสี หรือ รงควัตถุ สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาเป็นโภชนเภสัชภัณฑ์ (Nutraceutical) ที่นำเอาสารสกัดซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าเชื้อโรค และป้องกันการเกิดเยื่อบุอ่อนภายในช่องปากอักเสบ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ ด้วยการฉายรังสี หรือได้รับยาเคมีบำบัด มาพัฒนาเป็นน้ำยาบ้วนปากสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาโรคในช่องปาก ที่มีความปลอดภัย และมีสรรพคุณที่เหมาะกับผู้สูงอายุ โดยเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านเกษตรศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ มาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับข้าวไทยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย มาแปรรูปให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล

          นวัตกรรมน้ำยาบ้วนปากที่ได้คิดค้นขึ้นนี้ มีประโยชน์เพื่อป้องกัน และบรรเทาโรคปริทันต์อักเสบสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่สามารถแปรงฟันได้ทั่วถึง ซึ่งนอกจากนวัตกรรมน้ำยาบ้วนปากที่ได้คิดค้นขึ้นนี้ มีสารสกัดจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค และรักษาอาการอักเสบในช่องปากแล้ว ยังมีส่วนทำให้เกิดความชุ่มชื้นในช่องปากด้วย ซึ่งยังไม่มีผู้ใดเคยริเริ่มมาก่อน

          จุดเด่นของนวัตกรรมนอกจากเป็นครั้งแรกที่มีการพัฒนาน้ำยาบ้วนปากเพื่อผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาโรคในช่องปาก ยังมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสารสกัดข้าวไทยที่ปลูกแบบอินทรีย์ (Organic) ซึ่งไร้สารเคมีเจือปน และผ่านมาตรฐานสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) ซึ่งใช้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ทั่วโลก โดยเป็นการใช้เทคโนโลยี “แกล้งข้าว” ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชาที่ใช้หลักการ “เปียกสลับแห้ง” การลอกหญ้าบางส่วนออกจากร่องน้ำในแปลงนา เพื่อให้สะดวกต่อการระบายของน้ำ โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

          จากการทดสอบให้ผู้ป่วยสูงอายุทดลองบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากจากสารสกัดข้าวไทยภายในระยะเวลา 3 เดือนพบว่า ผู้ป่วยสูงอายุไม่มีอาการแสบปาก รู้สึกชุ่มชื้นในลำคอ และช่องปาก รวมทั้งมีความพอใจในรสชาติของน้ำยาบ้วนปากที่มีกลิ่นสมุนไพร และเมื่อทดสอบด้วยเครื่องวัดกลิ่นปากพบว่า ผู้ป่วยสูงอายุมีกลิ่นปากลดลง ซึ่งทีมวิจัยกำลังต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใช้ในช่องปาก เพื่อช่วยลดการเกิดเยื่อบุอ่อนภายในช่องปากอักเสบ รวมถึงอาการปากแห้ง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอต่อไป

          ที่ผ่านมา ผลงานวิจัยสร้างสรรค์นวัตกรรมจากสารสกัดข้าวไทยดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำระดับนานาชาติแล้วรวม 3 ฉบับ และได้ยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 4 เรื่อง ผ่านการดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และกำลังอยู่ในระหว่างการขอเครื่องหมายรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ก่อนวางตลาดในเดือนตุลาคม 2564 นี้

          จากการคำนวณมูลค่าของการนำข้าวไทยมาเป็นวัตถุดิบในการดัดแปลงให้เป็นงานวิจัยนี้ พบว่า สามารถเพิ่มมูลค่าของข้าวไทยได้มากขึ้นถึง 40 เท่า โดยเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไทย ซึ่งเปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของชาติ ให้มีสุขภาวะที่ดีจากการทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี พร้อมมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากการทำให้ข้าวไทยได้มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศชาติ นับเป็น “ภูมิปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้สร้างสรรค์องค์ความรู้เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติได้อย่างแท้จริง

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจได้ที่ www.mahidol.ac.th Facebook: Mahidol University


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author