ม.มหิดลพัฒนาวัคซีน mRNA สำหรับไวแวกซ์มาลาเรีย

ด้วยเทคโนโลยี mRNA จะทำให้ความหวังแห่งมวลมนุษยชาติที่จะได้เข้าถึงวัคซีนป้องกัน “ไข้มาลาเรีย” หรือ “โรคไข้ป่า” ชนิดไวแวกซ์โดยทั่วหน้ากลายเป็นจริงในเร็ววัน พิสูจน์จากเหตุการณ์วิกฤติ COVID – 19 ที่รอช้าไม่ได้หากไม่รีบ “ตัดตอน” โดยผลิตวัคซีนที่สร้างโปรตีนจากรหัสพันธุกรรมเล็กๆ ดังกล่าว ก่อนฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วปล่อยให้ระบบการสร้างภูมิคุ้มกันทำงานเอง ซึ่งค้นพบโดย 2 นักวิทยาศาสตร์อเมริกันรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์เมื่อปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา

รับประกันด้วยประสบการณ์การเป็นผู้นำด้านการศึกษาและวิจัยโรคเขตร้อนกว่าครึ่งศตวรรษของมหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ที่สามารถศึกษาได้อย่างครบวงจร ถึงการเกิด รักษา และป้องกันไข้มาลาเรีย ซึ่งถือเป็น “วาระของโลก” ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่หลายประเทศทั่วโลก ไม่เพียงจากประเทศในเขตร้อนที่ให้ความสนใจ

ศาสตราจารย์วิจัย ดร.เจตสุมน ประจำศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “แม่ทัพ” ผู้คร่ำหวอดในการวิจัยไข้มาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์ หรือ “ไข้มาลาเรียพีวี” จนทำให้ได้ข้อมูลในเชิงลึกตั้งแต่ลำดับสารพันธุกรรม (Genome Sequence) และชีววิทยาของเชื้อมากพอที่จะร่วมมือกับเครือข่ายนักวิจัยระดับโลกนำเทคโนโลยีซึ่งพลิกประวัติศาสตร์การแพทย์ของโลกในการผลิตวัคซีน mRNA มาต่อยอดเพื่อป้องกันประชากรโลกไม่ให้ป่วยเป็น “ไข้มาลาเรียพีวี”

“ไข้มาลาเรีย” เป็นโรคเขตร้อนที่มักถูกทอดทิ้ง และกล่าวขวัญว่าเป็น “โรคคนจน” เนื่องจากมักเกิดขึ้นกับผู้ด้อยโอกาส ประชากรที่อยู่ใกล้ป่า หรือแถบชายแดน โดยพบตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลกถึง 6 ล้านรายต่อปี และมักไม่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนในการลงทุนด้านยาและวัคซีนเท่าภาครัฐ

“ความน่ากลัว” ของ “ไข้มาลาเรียพีวี” ซึ่งพบมากแถบทวีปเอเชีย และอเมริกาใต้ และเริ่มมีการระบาดในหลายประเทศในแอฟริกาแล้ว อยู่ที่ “ธรรมชาติของการก่อโรค” ซึ่งเมื่อยุงก้นปล่องมีเชื้อพีวีมากัดคน เชื้อจะเข้าสู่ “ตับ” ทันที และอาจหลบอยู่ในตับเนิ่นนาน ก่อนจะทยอยพัฒนาเป็นระยะที่ออกจากตับทำให้คนเกิดอาการป่วยได้หลายครั้งต่อการถูกยุงก้นปล่องกัดครั้งเดียว

ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยวิจัยมหิดลไวแวกซ์ (Mahidol Vivax Research Unit; MVRU) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล – อ๊อกซ์ฟอร์ด (Mahidol – Oxford Tropical Medicine Research Unit; MORU) มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ได้มีการศึกษาการให้อาสาสมัครที่มีร่างกายแข็งแรงถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อ “มาลาเรียพีวี” กัด ทำให้สามารถตรวจพบการเกิดพยาธิสภาพการติดเชื้อพีวีของอาสาสมัคร และการวิจัยนี้จะใช้ทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนพีวีที่กำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน

แม้ “ไข้มาลาเรียพีวี” จะไม่ทำให้เสียชีวิตเช่น “ไข้มาลาเรียฟัลซิปารัม“ หรือ “ไข้มาลาเรียพีเอฟ” ซึ่งพบมากแถบทวีปแอฟริกา แต่อาการของ “ไข้มาลาเรียพีวี” จะเกิดขึ้นและไม่หายขาด หากไม่ได้รับยาจนครบตามกำหนด ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลของภาครัฐทั่วโลกที่ต้องแบกรับอีกเป็นจำนวนมากมายมหาศาลเนื่องจากมีประชากรกลุ่มเสี่ยงอยู่ในหลายทวีปทั่วโลก

มหาวิทยาลัยมหิดล มี “ความพร้อม 360 องศา” มีความได้เปรียบอย่างมากที่สุด ทั้งทางด้านทรัพยากรบุคคล องค์ความรู้ และกลุ่มตัวอย่างจริง ซึ่งจำเป็นในการวิจัย และทดสอบ “วัคซีน mRNA ไข้มาลาเรียพีวี” จากการมีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา และสถานพยาบาลเฉพาะทางโรคเขตร้อน ที่สำคัญและจำเป็นในการพัฒนาวัคซีนได้อย่างสมบูรณ์

“ปัจจุบันทีมวิจัยและพัฒนา “วัคซีน mRNA ไข้มาลาเรียพีวี” และเครือข่ายจากทั่วโลกกำลังทุ่มเทศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้ปลอด “โรคไข้ป่า” ดังกล่าว โดยขณะนี้หนึ่งในวัคซีนที่พัฒนาได้ผ่านการทดลองในหนูทดลอง และกำลังเข้าสู่การทดลองในลิง ซึ่งหมายถึงกำลังเข้าใกล้ความจริงที่จะได้เป็น “ที่แรกของโลก” ในการทดสอบวัคซีน mRNA ไข้มาลาเรียพีวีในอาสาสมัครชาวไทย ก่อนที่จะทดสอบในอาสาสมัครกลุ่มอื่นๆ และพร้อมให้มวลมนุษยชาติได้เข้าถึงโดยทั่วหน้าในทันทีที่ผ่านการทดลองทางคลินิกและมีการรับรองผลการใช้ในมนุษย์

“กว่าจะไปถึงจุดหมายแห่งความสำเร็จดังกล่าว คาดว่าจะก่อให้เกิดการต่อยอดทางการศึกษาไข้มาลาเรียและการพัฒนาวัคซีนที่ยั่งยืน และมีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติ โดยจะสามารถเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะด้านการวิจัยทางการแพทย์ จนถึงระดับดุษฎีบัณฑิต ทั้งที่เป็นลูกหลานชาวไทย และจากประเทศเครือข่ายทั่วโลกได้อีกมากกว่า 20 คน

“ขอให้คนไทยช่วยเป็นกำลังใจให้ทีมวิจัยในการปฏิบัติภารกิจเพื่อมวลมนุษยชาติครั้งนี้ ที่จะทำให้ “วัคซีน mRNA ไข้มาลาเรียพีวี” เห็นผลสำเร็จ-พร้อมใช้ภายใน 5 ปีข้างหน้า“ ศาสตราจารย์วิจัย ดร.เจตสุมน ประจำศรี กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


แบนเนอร์จาก คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author