ผู้มีปัญญา แม้จะไปอยู่ ณ ที่แห่งใด ก็จะสามารถทำให้ความรู้ที่ตนสั่งสมมาเกิดความงอกงามได้ในทุกแห่งหน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้มี “ตำรามือถือ” อยู่ในมือ เพียงแค่เปิดแอปพลิเคชัน “MU Press” ก็จะได้พบกับหนทางสู่ “ขุมทรัพย์แห่งปัญญา” ได้ในทุกที่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า กว่าหนึ่งปีที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน “MU Press” ซึ่งได้พัฒนาร่วมกับ บริษัท อุ๊คบี จำกัด ผู้สรรค์สร้างคลังหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-books) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ใช้ได้ทั้งในระบบ iOS และ Android ล่าสุดได้ประเดิมเปิดให้ประชาชนอ่านฟรีแล้ว จำนวน 6 เล่ม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจาก ปาฐกถาเกียรติยศศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 11 เรื่อง “การปรับตัวของมหาวิทยาลัยเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption” โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร สมาชิกวุฒิสภา และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สามารถอ่านฟรีผ่านแอปพลิเคชัน “MU Press” ได้แล้วนั้น ยังมีสารานุกรมสมุนไพร และสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา โดย คณาจารย์ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และตำราทางวิทยาศาสตร์ “ไซยาโนแบคทีเรีย (สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน) และจุลสาหร่าย : พันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลและเทคโนโลยีชีวภาพ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วิภา จึงจตุพรชัย อดีตอาจารย์ประจำสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้เปิดให้เข้าศึกษาค้นคว้ากันอย่างเต็มที่ภายในแอปพลิเคชัน “MU Press” โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ ยังได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่การจัดทำ e-books จากตำราเก่าที่เคยได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่อย่างกว้างขวางแล้วนั้น ต้องใช้เวลาในการดำเนินการอยู่พอสมควร เนื่องจากตามนโยบายของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ MU Press เน้น “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” โดยจะคัดสรรเฉพาะตำราที่ทรงคุณค่า และได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ประพันธ์หลัก และผู้ประพันธ์ร่วม โดยมีลิขสิทธิ์ถูกต้องอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น
นอกจากตำราเก่าแล้ว MU Press ยังได้ส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลแต่งตำรา e-books เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ และมอบองค์ความรู้อันทรงคุณค่าสู่ประชาชน ตามปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ข้อที่ 4 ซึ่งว่าด้วยการศึกษาเท่าเทียม (Quality Education)
ซึ่งปัจจุบันประชาชนสามารถติดตามอ่าน e-books ผ่านแอปพลิเคชัน “MU Press” ได้แล้ววันนี้รวม 13 เล่ม โดยสามารถอ่านฟรีจำนวน 7 เล่มดังที่ได้กล่าวแล้ว รวมถึง Free Magazine “รายงานประจำปีสภามหาวิทยาลัยมหิดล” และ “มหิดลสาร” ซึ่งเป็นวารสารของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 46 ปี
สำหรับตำรา New Arrival ที่หาอ่านยาก และควรค่าต่อการซื้อหามาดาวน์โหลดเก็บไว้ มีทั้งตำราภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ได้แก่ “การจัดการชายฝั่ง : การบูรณาการสู่ความยั่งยืน” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการแต่งตำรา ปีการศึกษา 2555 ซึ่งเขียนด้วยองค์ความรู้จากประสบการณ์การจัดการชายฝั่งทั้งในระดับชาติและนานาชาติกว่า 20 ปี โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการชายฝั่งที่สมบูรณ์เล่มแรกของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีตำราอื่นๆ ที่ควรค่าต่อการซื้อหามาดาวน์โหลดเก็บไว้ อีกหลายเล่ม อาทิ “สารานุกรมเพลงไทย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล “เรียนรู้สู่ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System : TPS) : เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์ & ระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “พลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณโดยวิธีปริมาตรจำกัด”โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต สุวรรณจำรัส อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “หลักวิทยาการระบาดพื้นฐาน” โดย รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิงกุลยา นาคสวัสดิ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุคนธา ศิริ ภาควิชาระบาดวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “การพยาบาลครอบครัว” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยุพา จิ๋วพัฒนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ “Behavioral Game” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล
เพื่อการก้าวสู่ระดับนานาชาติตามวิสัยทัศน์ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลก ต่อไปมหาวิทยาลัยมหิดลจะส่งเสริมให้ผลิตตำรา e-books ที่เป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เพื่อให้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยมหิดลได้แผ่ขยายประโยชน์ออกไปอย่างไร้ขีดจำกัด โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดฝึกอบรมทักษะการแต่งตำราทางวิชาการให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อวางรากฐานไว้รองรับการผลิตและพัฒนาตำรา e-books ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องในอนาคต
“เราพร้อมจะเป็น “ขุมทรัพย์แห่งปัญญา” เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามค้นหาองค์ความรู้ที่จะนำพาไปสู่ “การเติบโตทางความคิด” เพื่อพัฒนาสู่สังคมคุณภาพที่ยั่งยืนสืบไป” ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210