วันที่ 9 ธันวาคม 2565 : บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด [mu Space Corp] ผู้ผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ และผู้ให้บริการการสื่อสารผ่านดาวเทียม จัดงานแสดงเทคโนโลยีและสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมดาวเทียมครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่องาน TECHDAY 2022: Connecting you to Space ภายในงานได้นำเทคโนโลยีและสินค้าที่ได้มีการส่งมอบแก่ลูกค้าในปี 2565 ที่ถูกพัฒนาโดยทีมวิศวกรบริษัท มิว สเปซ มาจัดแสดง อาทิ เทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็ก ชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในดาวเทียมขนาดเล็กทั้ง S Band Antenna สายอากาศดาวเทียมเพื่อการสื่อสารระหว่างดาวเทียมและสถานีรับสัญญาณบนพื้นโลก Reaction Wheels อุปกรณ์ควบคุมทิศทางดาวเทียม ตลอดจนสินค้ากลุ่มพลังงานหรือ Power System พร้อมกับนำเสนอความก้าวหน้าด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเทคโนโลยี Solid State Battery โดยงานนี้มีทั้งกลุ่มนักลงทุน ลูกค้า และสื่อต่าง ๆ เข้าร่วม
นายวรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ ได้มีการประกาศถึง 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
- ประกาศการพัฒนาดาวเทียมรุ่นใหม่ mu-B500 โดยพัฒนาต่อยอดจากรุ่นแรกที่เปิดตัวพร้อมราคาไปเมื่อปลายปี 2564 มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่อไปยังเครื่องมือสื่อสารของทุกคนได้โดยตรง และระบบการให้พลังงานแก่ดาวเทียมที่สูงมากขึ้น
- ประกาศแผนการสร้าง Mega Factory โรงงานขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว่า 200,000 ตารางเมตร โดยจะเริ่มดำเนินการวางแผนพัฒนาในปี 2566
ในปี 2565 มิว สเปซ ได้มีการจัดงานเพื่อแสดงสินค้ากลุ่มพลังงานแก่ลูกค้าท่านที่สนใจ พร้อมกับแถลงข่าวแผนการสร้างห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมอวกาศทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อประกาศถึงจุดยืนในการบรรลุเป้าหมายการสร้างห่วงโซ่อุปทานนี้ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดย มิว สเปซ ให้ความสำคัญในเรื่องของการผลิตและการนำทรัพยากรภายในภูมิภาคมาใช้เป็นจำนวน 50 เปอร์เซ็นของการผลิตทั้งหมด และตั้งเป้าหมายผลักดันต่อยอดไปถึง 70 เปอร์เซ็นภายในทศวรรษ โดยจุดเด่นดาวเทียมทุกดวงของ มิว สเปซ อยู่ที่ระบบพลังงานหรือ Power System ที่ได้ประสิทธิภาพและมีพลังงานสูง พร้อมกับการผลิตดาวเทียมขนาดเล็กในราคาที่ถูกกว่าตลาดโลก ซึ่งปัจจุบัน มิว สเปซ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของภาครัฐ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ
ซึ่งงาน TECHDAY ปีนี้ มิว สเปซ ได้เชิญพาร์ทเนอร์รายใหญ่ระดับโลกอย่าง Amazon Web Services หรือ AWS ขึ้นบรรยายบนเวที โดยพูดถึงการร่วมมือกันระหว่าง มิว สเปซ และ AWS ในเรื่องของ AWS Ground Station ซึ่งเป็นเครือข่ายสถานีภาคพื้นดินทั่วโลกที่จะช่วยให้ลูกค้าเชื่อมต่อกับดาวเทียมได้ทุกที่และทุกเวลา
สินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ของ มิว สเปซ ในปี 2565 นี้ได้ผลิตสินค้าชุดแบตเตอรี่เพื่อรองรับการใช้งานต่าง ๆ เช่น ชุดแบตเตอรี่เคลื่อนที่ และแบตเตอรี่สำหรับสถานีโทรคมนาคม โดยภายในปีนี้ได้มีการส่งมอบตัวอย่างสินค้ามากกว่า 10 ตัวอย่าง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี Solid State Battery เพื่อนำไปเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ดาวเทียม โดยเทคโนโลยี Solid State Battery นี้มีจุดแข็งหลัก 3 ประการ ได้แก่ มีอายุการใช้งานที่นาน มีความปลอดภัยและความจุพลังงานที่สูง สำหรับเทคโนโลยี Solid State Battery มิว สเปซ มีเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้โดยสมบูรณ์ในปี 2567
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ มิว สเปซ ได้เริ่มพัฒนาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และได้ถูกนำเสนอในงาน TECHDAY ปีนี้ได้แก่ “ชิป” โดยมุ่งเน้นไปที่การเร่งการประมวลผลสำหรับปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) บนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ระบบไฟฟ้า หุ่นยนต์ และโรงงาน ซึ่งภายในชิปนี้ มิว สเปซได้นำอุปกรณ์ที่เรียกว่า Field Programmable Gate Array หรือ FPGA เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมสำหรับการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น เบื้องต้น มิว สเปซ ได้พัฒนาให้มีกำลังในการทำงานได้มากกว่า 200 กิกะอ็อปส์ต่อวินาทีที่ความถี่สัญญาณนาฬิกาสูงสุดที่ 200 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีแผนเริ่มขยายกำลังการพัฒนาและผลิตในปี 2566 พร้อมกับปรับปรุงประสิทธิภาพต่อไป
ช่วงท้ายของงาน นายวรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ เผยถึงแผนการสร้างโรงงานขนาดใหญ่หรือ Mega Factory ของ มิว สเปซ โดยมีจุดมุ่งหมายในการขยายฐานกำลังการผลิตด้านเทคโนโลยีและสินค้าอวกาศ ซึ่ง Mega Factory จะถูกออกแบบภายใต้แนวคิดการใช้แหล่งพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน รวมไปถึงกระบวนการรีไซเคิล และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นของวัสดุก่อสร้างมาจากท้องถิ่น และ 20 เปอร์เซ็นที่เหลือเป็นวัสดุนวัตกรรมอื่น ๆ โรงงานแห่งนี้วางแผนที่จะครอบคลุมพื้นที่ 200,000 ตร.ม. โดยพื้นที่ 20,000 ตร.ม. แรก จะเริ่มวางแผนในปี 2566 และจะก่อสร้างในปี 2568
ปัจจุบันผู้คนพึ่งพาเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้นด้วยแอปพลิเคชันต่าง ๆ ตั้งแต่การพยากรณ์อากาศ การสื่อสาร และความบันเทิง ไปจนถึงความมั่นคงของประเทศ ด้วยเหตุนี้ มิว สเปซ จึงประกาศชัดในจุดยืนที่จะมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง เพื่อเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับอวกาศได้ง่ายและประหยัดยิ่งขึ้น พร้อมกับสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในประเทศไทย
ชมวิดีโอถ่ายทอดสดย้อนหลังภายในงาน TECHDAY 2022 ได้ที่
Facebook Page: https://fb.watch/hiMVgSxGVH/
YouTube Channel: https://youtu.be/XfvLnPt-eX4