ม.มหิดลจับมือนานาประเทศ เสริมพลังเยาวชนไทย ร่วมสืบสานมรดกภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น

กระบวนทัศน์ในการสืบสานมรดกภูมิปัญญาภาษาวัฒนธรรมของชุมชนในสังคมโลก ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เปิดมิติใหม่สู่สหวิทยาการ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุมิตรา สุรรัตน์เดชา อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อยอดความสำเร็จจาก “พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ไทยทรงดำดิจิทัล” ซึ่งสามารถคว้ารางวัลระดับประเทศ “Museum Thailand Awards” เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา สู่การนำชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับนานาชาติร่วมกับชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศไทย และต่างประเทศ ในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ในปัจจุบัน

การขับเคลื่อนงานวิจัยในเครือข่าย Worldwide Universities Network (WUN) ซึ่งเป็น Online Platform สำหรับนักวิจัยท้องถิ่น และนักวิชาการในประเทศต่างๆ ให้เรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาของกันและกัน โดยเปรียบเทียบความแตกต่าง
ระหว่างนโยบายและแนวทางการสืบสานคุณค่า และมูลค่าของมรดกภูมิปัญญาในมุมมองสหวิทยาการที่มีความเหมาะสมกับบริบทสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 10 (SDG10)

หนึ่งในความภาคภูมิใจภายใต้การทำงานกับเครือข่าย WUN และ Tokyo University of Foreign Studies (TUFS) คือการพาแกนนำเยาวชนไทยทรงดำ จังหวัดเพชรบุรี นางสาวเบญจพร หวลระลึก และแกนนำเยาวชนไทยเบิ้ง จังหวัดลพบุรี นางสาวกัญญาวีร์ อ่อนสลุง ไปร่วมแสดงศักยภาพ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวพื้นถิ่น “เกาะโอกิโนเอราบุ” ประเทศญี่ปุ่น ในประเด็นการสืบสานต่อยอดที่นำโดยชุมชน กับชุมชน เพื่อชุมชน ตอบโจทย์ความต้องการในบริบทท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน และตรงจุดผ่านการมีส่วนร่วมของคนทุกวัย

สำหรับชุมชนไทยทรงดำ และไทยเบิ้ง การต่อยอดมรดกภูมิปัญญา นอกจากจะเป็นไปเพื่อการสืบสาน ‘คุณค่า’ ยังนำไปสู่การสร้าง ‘มูลค่า’ ของมรดกภูมิปัญญา พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทยทรงดำสร้างการมีส่วนร่วมผ่านการ ‘เล่น’ ของเด็กๆ ที่นำไปสู่ความสนใจใฝ่รู้ในมรดกภูมิปัญญา สู่การพัฒนาเป็นผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม องค์ความรู้ทางอาหารการเลี้ยงหม่อนทอไหม การแต่งกาย ภาษา ดนตรี การละเล่น และหัตถกรรมไทยทรงดำยังได้รับการบรรจุในหลักสูตรของโรงเรียนวัดหนองปรง (บุญมานุสรณ์)

แกนนำเยาวชนไทยเบิ้งเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพตนเองตั้งแต่ชั้นประถม จัดตั้งกลุ่มเยาวชน ‘ข้าวเปลือก‘ ทำงานร่วมกับคนต่างวัยในการขับเคลื่อนเพื่อสืบสร้าง ‘คุณค่า’ และ ‘มูลค่า’ ในรูปแบบหลักสูตรอบรมท้องถิ่นที่โคกสลุง จัดให้กับบุคคล และชุมชนที่สนใจได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากนี้ชุมชนไทยเบิ้งยังก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่บริหารจัดการโดยชุมชน ในปัจจุบันชุมชนไทยเบิ้งเป็นแหล่งเรียนรู้ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยชุมชน กับชุมชน เพื่อชุมชน โดยมีเป้าหมายในการสร้างสังคมสุขภาวะ

ชุมชนเกาะโอกิโนเอราบุ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อ “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ควบคู่ไปกับ “การสืบสานมรดกภาษาวัฒนธรรม” เนื่องจากล้อมรอบด้วยมหาสมุทร สิ่งแวดล้อมจึงเป็นประเด็นสำคัญ การสร้างความตระหนัก และความรับผิดชอบต่อสังคมของชุมชนในความพยายามรักษาท้องทะเล และชายหาดให้สะอาด บริหารจัดการขยะที่ถูกพัดมาจากที่ต่างๆ รวมถึงขยะอันตราย ขยะเป็นพิษ และไมโครพลาสติก มีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวคุณ Sao และส่งอิทธิพลไปทั่วเกาะโอกิโนเอราบุ รวมถึงเกาะต่างๆ ในญี่ปุ่น

แกนนำเยาวชนจากไทยเข้าร่วมจัดค่ายมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น สำหรับเยาวชนบนเกาะโอกิโนเอราบุแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางในการขับเคลื่อนชุมชนในบริบทพหุภาษา – พหุวัฒนธรรมแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างสายใยระหว่างวัย ที่ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนทุกเพศวัยมีส่วนร่วม ได้รับการรับฟัง ร่วมคิด ร่วมลงมือ ออกแบบสร้างปัจจุบันนำสู่อนาคตของมรดกภูมิปัญญาภาษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง การขับเคลื่อนในรูปแบบนี้จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม และตอบความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

การเดินทางเพื่อการสืบสานมรดกทางภาษาและวัฒนธรรมโลกของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงจะดำเนินต่อไป เพื่อสืบสานปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมทำเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ “ส่งพลัง” ให้ชุมชนได้สืบสานความงดงามแห่งมรดกทางภาษาและวัฒนธรรมเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสู่ความเข้มแข็งของรากฐาน สู่ ‘การลงมือ’ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author