เสียงดนตรีนอกจากกล่อมโลกให้เกิดสันติสุขแล้ว หากใช้ได้อย่างเหมาะสม จะเป็นเหมือนมนต์วิเศษที่ทำให้ผู้ฟังเกิดแรงผลักดันสู่ความสำเร็จได้ดังใจหวัง
เช่นเดียวกับการเรียนการสอนออนไลน์ หากปล่อยให้เกิด “dead air” หรือไมค์เงียบ โดยที่ไม่มีการใช้เสียง หรือดนตรีใดๆ เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องก็อาจพาบทเรียนล่ม หรือทำให้ผู้เรียนหลุดจากบทเรียนออนไลน์ก็เป็นได้
อาจารย์ ดร.อรปวีณ์ นิติศฤงคาริน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการการศึกษา และหัวหน้าสาขาเปียโน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ ดร.อรปวีณ์ นิติศฤงคาริน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการการศึกษา และหัวหน้าสาขาเปียโน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สอนรายวิชา “Music Application for Online Teaching” ในโครงการพัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลด้านการศึกษา (Mahidol University Academic Development Program; MU-ADP) จัดโดย กองบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ดนตรีเพื่อประกอบการเรียนการสอนออนไลน์โดยชี้ให้เห็นอานุภาพของดนตรีที่มีต่อการพัฒนาสมองของมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัย 5 ขวบ พบว่าเด็กอาจเติบโตขึ้นเป็นอัจฉริยะ หากได้ฟังดนตรีที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นพัฒนาการ
ซึ่งสมองซีกซ้ายที่ใช้ในการคิดคำนวณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์ จะทำงานได้ดีขึ้นหากได้ฟังดนตรีที่มีจังหวะรุกเร้า แต่คงที่ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดแรงผลักดันตัวเองให้สามารถคิดและแก้โจทย์ยากๆ ได้โดยไม่สะดุด ในทางตรงกันข้าม หากใช้ดนตรีที่มีจังหวะช้าจนเกินไป อาจทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้มจนขาดสมาธิ
ในขณะที่สมองซีกขวาจะใช้ในการเรียนศิลปะ ควรหาดนตรีที่ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และสร้างแรงบันดาลใจ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลาที่เรียนศิลปะ
แม้ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ทำให้การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนดนตรีอยู่บ้าง อาทิ การเรียนที่ต้องมีการ coaching หรือการฝึกจัดท่าการเล่นดนตรีที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับผู้เรียน นอกจากนี้ เวลาสอนดนตรีออนไลน์เสียงมาพร้อมกันทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ และที่สำคัญยากที่จะพัฒนาฝีมือการเล่นให้ดีได้ หากขาดการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
ด้วยความพยายามที่จะเอาชนะปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว ที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการออกแบบการเรียนดนตรีตามความสามารถของผู้เรียน อาทิ วิชาเอกเปียโน หากจะให้นักศึกษาเล่นเปียโนคอนแชร์โต หรือการเล่นเปียโนแบบประชันเป็นการบ้านคงไม่ได้ เนื่องจากผู้เรียนอาจไม่สามารถหาเปียโนที่ 2 ในช่วงเรียนออนไลน์ได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมต่อผู้เรียน
ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสอนออนไลน์ สำหรับวิชาดนตรี หรือวิชาใดๆ จะต้องมีการออกแบบการเรียนการสอนที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ หรือ interaction ระหว่างผู้เรียน และผู้สอนด้วย เพื่อเพิ่มบรรยากาศในการเรียนการสอน ซึ่งอาจทำได้ด้วยการสอดแทรกเกม หรือกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้พัฒนาโปรแกรม และเลือกใช้แอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อช่วยให้การเรียนสอนดนตรีออนไลน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา โดยเป็นบทเรียนที่ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนได้จากทุกที่ในโลก และถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ซึ่งที่ผ่านมาทางวิทยาลัยฯ ได้ใช้กับนักศึกษาต่างชาติ จนสามารถเรียนออนไลน์ข้ามประเทศได้อย่างเห็นผล
ในอนาคต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมขยายผลการใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปได้ลงทะเบียนเรียนออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ดนตรีที่ไร้ขีดจำกัด โดยจะเริ่มต้นด้วยวิชาคีย์บอดพื้นฐาน หรือการเล่นเครื่องดนตรีในแต่ละประเภทตามที่ผู้เรียนสนใจ เพื่อเก็บไว้เป็น credit bank ใช้เทียบโอนเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรการเรียนการสอนระบบปกติของวิทยาลัยฯ ได้ต่อไป
ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่ www.music.mahidol.ac.th และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210