Headlines

พรรณไม้กับนายเห็ด

รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)


          ที่ใดมี “ต้นยางนา” ที่นั่นมักจะมี “เห็ดระโงก” หลายคนมีคำถามในใจว่า ทำไมสิ่งมีชีวิตทั้งสองนี้มักจะอยู่คู่กัน??  

          คำถามนี้อธิบายได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ก่อนอื่นเลย เราต้องไปทำความรู้จักกับเห็ดระโงกกันก่อน เห็ดระโงกเป็นราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) เป็นราที่อยู่ใต้ดิน อาศัยอยู่ตามรากของต้นไม้ เมื่อพูดถึง รา เชื่อว่าหลายคนรู้สึกไปทางลบว่าเป็นอันตราย แต่ไมคอร์ไรซานั้นไม่ใช่ พวกมันอยู่ร่วมกับต้นไม้ได้อย่างดี มีการพึ่งพาอาศัย แลกเปลี่ยนน้ำและธาตุอาหารที่จำเป็นซึ่งกันและกัน แถมไมคอร์ไรซายังช่วยป้องกันเชื้อก่อโรคที่จะเข้ามาทางรากไม้ได้อีกด้วย ทั้งไมคอร์ไรซาและต้นไม้อาศัยพึ่งพากันไปอยู่อย่างนี้ พอถึงฤดูฝนที่มีความชื้น มีธาตุอาหาร มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จากเส้นใยราที่อยู่ใต้ดิน ก็จะเจริญเป็นดอกเห็ดโผล่ขึ้นมาจากดิน

          ในธรรมชาติมักพบเห็ดระโงกในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าที่มีลักษณะค่อนข้างโปร่ง มีแสงแดดส่องถึงพื้นล่าง และที่สำคัญคือมีไม้วงศ์ยางนา (Dipterocarpaceae) เช่น ยางนา ตะเคียน กระบาก รัง พะยอม ซึ่งเป็นพืชให้อาศัยของเห็ดระโงกขึ้นอยู่ เห็ดระโงกที่พบและนิยมรับประทานกันมี 3 ชนิด คือ เห็ดระโงกเหลือง เห็ดระโงกขาว และเห็ดระโงกแดง ทั้งสามชนิดมีรสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และราคาแพง ในฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูเห็ดระโงก ราคาขายอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 200-300 บาท ถ้าเป็นนอกฤดูนั้น ราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 400-500 บาท

          เมื่อก่อนป่าอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ป่าก็เก็บเห็ดระโงก รวมทั้งเห็ดป่ากินได้อื่นๆ เช่น เห็ดตะไค เห็ดเผาะ มาเป็นอาหาร ในฤดูฝนที่เห็ดขึ้นเยอะก็เก็บขายได้ แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ต้นไม้หาย เห็ดไม่มี วิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกับป่าก็หดหายไปด้วย

          โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม กรมป่าไม้จึงได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่จะฟื้นฟูพื้นที่ป่า โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้วงศ์ยางนา เช่น ยางนา ตะเคียนทอง ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพียงแต่ว่าการปลูกป่านี้ ไม่ได้มีแค่ต้นไม้ ทีมนักวิจัยของโครงการฯ และนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สวทช. ได้เพิ่มเชื้อเห็ดระโงกไปกับต้นกล้ายางนาด้วย โดยได้นำเห็ดระโงกแก่มาขยี้ แล้วผสมกับน้ำ จากนั้นรดที่โคนต้นกล้ายางนา ทิ้งไว้ 4-6 เดือน ก่อนจะนำไปปลูกบนพื้นที่จริง ในช่วงปีสองปีแรก บนพื้นดินเราอาจจะเห็นแค่ต้นยางนาค่อยๆ เติบโตขึ้น แต่ที่ใต้ดินนั้น มีมิตรภาพระหว่าง “รากยางนา” กับ “เส้นใยเห็ดระโงก” ซ่อนอยู่และกำลังรอวันเบ่งบาน  เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม สายใยแห่งความสัมพันธ์นั้นก็จะผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดระโงกสีสันสดใสเข้าแถวเรียงรายอยู่บนพื้นป่าให้เราเห็น

          แม้ว่าที่ผ่านมา โครงการฯ จะเน้นที่ยางนาเป็นหลัก แต่อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า เห็ดระโงกยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไม้วงศ์ยางนาชนิดอื่นๆ ด้วย และก็ยังมีไมคอร์ไรซาอีกหลายตัวที่อยู่ร่วมกับไม้วงศ์ยางนาได้ดีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเห็ดเผาะ ซึ่งเป็นเห็ดป่าราคางามอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งทีมวิจัยเองก็ได้ทำการศึกษาวิจัยและทำโครงการวิจัยต่อยอดที่เกี่ยวข้องกับการปลูกป่า และการเพิ่มผลผลิตเห็ดป่ากินได้ต่อไป โดยหวังว่า ผลสำเร็จที่ได้จะเป็นตัวอย่างที่ดี มีการนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย โดยหากทำได้ นอกจากสิ่งที่จับต้องได้อย่าง “พื้นที่ป่า” และ “เห็ด” จะมีให้เห็นแล้ว เรายังจะได้เห็นความสุขที่ยั่งยืนของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าอีกด้วย


ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก
Facebook: ขุนดง…พันธุ์ไม้ฟรี24ชั่วโมง

About Author