โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer
วัดบรมนิวาสเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของไทยทั้งในด้านดาราศาสตร์และด้านศิลปะ แต่กลับเป็นเรื่องแปลกที่น้อยคนจะรู้จักวัดนี้
วัดบรมนิวาสตั้งอยู่ใกล้ตลาดโบ๊เบ๊ แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อ “วัดบรมสุข” สร้างโดยชาวบ้าน แล้วถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงรับเป็นพระอารามหลวง
ภาพด้านนอกของโบสถ์วัดบรมนิวาส ถ่ายโดยผู้เขียน
รัชกาลที่ 3 ทรงถวายต่อให้พระวชิรญาณภิกขุซึ่งต่อมาได้ทรงลาผนวชแล้วขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2494
พระวชิรญาณทรงสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดให้สมกับเป็นพระอารามหลวง ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 ในสมัยรัชกาลที่ 3 จนแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร”
สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทรงสั่งคือโปรดให้ขรัวอินโข่งยอดจิตรกรแห่งรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3-4 วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดบรมนิวาส
ขรัวอินโข่งเป็นศิลปินหัวก้าวหน้า เป็นจิตรกรไทยคนแรกที่ประยุกต์ผสมผสานศิลปะการวาดภาพแบบไทยและตะวันตกเข้าด้วยกัน ใช้ลักษณะจิตรกรรมประเพณีของไทย ร่วมกับฉากหลังที่มีระยะใกล้ไกลสมจริงแบบตะวันตกที่เรียกว่า ทัศนมิติ (perspective) ผลงานโดดเด่นของขรัวอินโข่งอยู่ในโบสถ์วัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาส
ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดบรมนิวาสมีอยู่ทั้ง 4 ด้าน เริ่มจากล่างสุดเป็นลายดอกกุหลาบ เหนือขึ้นไปตรงช่องระหว่างหน้าต่างเป็นกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ และภาพอสุภกรรมฐาน พิจารณาซากศพแบบต่าง ๆ เพื่อให้ปลง เหนือหน้าต่างเป็นภาพปริศนาธรรม 12 ภาพ และบนสุดเกือบติดเพดานเป็นภาพดาวต่าง ๆ
ภาพวาดดวงอาทิตย์ในโบสถ์วัดบรมนิวาส
ที่มาภาพ : หนังสือ ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง หน้า 188
ดาวภายในโบสถ์วัดบรมนิวาสมีทั้งหมด 9 ดวง แต่ละดวงไม่มีชื่อกำกับไว้ แต่มี 4 ดวง ที่เราสามารถบอกได้ว่าเป็นดาวอะไร คือ
- ดวงอาทิตย์ เป็นกระจกวงกลมสีขาว มีรัศมีสีส้มเหลืองแผ่ออกมาโดยรอบ อยู่ทางด้านหลังพระประธาน มีจารึกใต้ภาพว่า “พระอาทิตย์เปรียบเหมือนพระพุทธเจ้า”
- ดวงจันทร์ เป็นวงกลมสีเหลือง อยู่เหนือประตูทางเข้าโบสถ์
- ดาวพฤหัสบดี เป็นวงกลมสีเหลือง มีเส้นแถบแนวนอน 2 แถบใหญ่ ที่เรียกว่า เข็มขัด เป็นเอกลักษณ์ของดาวพฤหัสบดี และมีจุด 4 จุด ล้อมรอบ นั่นคือดวงจันทร์บริวารทั้ง 4 ดวง ของดาวพฤหัสบดี ที่ค้นพบในสมัยนั้น
- ดาวเสาร์ เป็นวงกลมสีน้ำตาล มีวงแหวนขนาดใหญ่ล้อมรอบดาว เป็นเอกลักษณ์ของดาวเสาร์
ภาพดาวพฤหัสบดีในโบสถ์วัดบรมนิวาส ถ่ายโดยผู้เขียน
ลักษณะภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ที่วาดเหมือนจริงเหมือนเห็นจากกล้องดูดาว (กล้องโทรทรรศน์) นั้นนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะก่อนหน้านี้จะวาดดาวต่าง ๆ เป็นจุด
ภาพดาวเสาร์ในโบสถ์วัดบรมนิวาส ถ่ายโดยผู้เขียน
ส่วนดาวที่เหลืออีก 5 ดวง เป็นปริศนาว่าคือดาวอะไรบ้าง?
ผมสันนิษฐานว่า ตำแหน่งดาวที่ปรากฏอาจไม่ได้เรียงสะเปะสะปะตามความชอบใจ แต่เป็นตำแหน่งดาวในวันสำคัญที่มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ถ้าเราทราบว่าเป็นวันไหน อาจช่วยพอให้ทราบว่าดาวอีก 5 ดวง คือดาวอะไรบ้าง
ที่สันนิษฐานเช่นนี้เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ทรงสนพระทัยในดาราศาสตร์อย่างมาก
ภาพวาดคนส่องกล้องในโบสถ์วัดบรมนิวาส
ที่มาภาพ : หนังสือ ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง โดย วิไลรัตน์ ยังรอต และ ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์ สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส 2559 หน้า 197
โชคดีที่มีภาพหนึ่งอาจเป็นกุญแจไขปริศนานี้ได้ นั่นคือภาพคนกำลังส่องกล้องดูดาว เป็นภาพที่อยู่ทางซ้ายหลังองค์พระประธาน
สิ่งที่น่าสนใจมากคือ คนกำลังเล็งกล้องดูดาวไปที่ภาพดวงอาทิตย์ ปกติเราจะไม่เอากล้องดูดาวส่องดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันคือแผ่นกรองแสงอาทิตย์ (solar filter) ถ้าไม่มีแผ่นนี้แล้วใช้กล้องดูดาวส่องดวงอาทิตย์อาจทำให้ตาบอดได้ เนื่องจากกล้องดูดาวจะรวมแสงอาทิตย์ให้แรงขึ้น อาจนึกถึงแว่นขยายที่รวมแสงอาทิตย์แล้วทำให้กระดาษลุกไหม้
นักดาราศาสตร์มักใช้กล้องดูดาวส่องดวงอาทิตย์เมื่อมีปรากฏการณ์สุริยุปราคา ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นาน ๆ จะเกิดสักครั้ง
นอกจากภาพคนส่องกล้องดูดาวแล้ว เหนือภาพดวงอาทิตย์ยังมีภาพดาวเป็นวงกลมสีดำ ลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคา
ดังนั้นภาพดาวต่าง ๆ ในโบสถ์วัดบรมนิวาสอาจเป็นตำแหน่งดาวขณะเกิดสุริยุปราคาครั้งใดครั้งหนึ่ง
เมื่อพิจารณาจากสุริยุปราคาทั้งหมดที่เห็นในประเทศไทยในช่วงตั้งแต่เริ่มบูรณะวัดบรมนิวาสจนถึงสิ้นสมัยรัชกาลที่ 4 คือปี พ.ศ. 2377-2411 ใช้แอปดูดาวจำลองภาพตำแหน่งดาวขณะเกิดสุริยุปราคาเวลาที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มากที่สุด แล้วเปรียบเทียบกับตำแหน่งดาวต่าง ๆ ในโบสถ์วัดบรมนิวาส พบว่าสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2400 ซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ตำแหน่งดาวในแอปดูดาวและตำแหน่งดาวในโบสถ์วัดบรมนิวาสมีความใกล้เคียงกัน
ยิ่งกว่านั้นยังมีเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญคือ ประกาศมหาสงกรานต์ พ.ศ. 2399 ว่าจะเกิดสุริยุปราคาตอนสิ้นเดือน 10 (ตามปฏิทินจันทรคติไทย) ในปี พ.ศ. 2400 นับเป็นประกาศทางราชการฉบับแรกของไทยที่แจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเรื่องการเกิดสุริยุปราคา เอกสารนี้ช่วยย้ำว่าสุริยุปราคาครั้งนี้มีความสำคัญ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงสันนิษฐานว่าตำแหน่งดาวในโบสถ์วัดบรมนิวาสอาจเป็นตำแหน่งดาวขณะเกิดสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2400
ทำให้ได้ชื่อดาวต่าง ๆ ตามลำดับจากด้านหลังองค์พระประธานเวียนย้อนเข็มนาฬิกาไปรอบโบสถ์ (มาทางซ้ายของพระประธาน) ดังนี้คือ 1. ดวงอาทิตย์ 2. ดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคา 3. ดาวพุธ 4. ดาวอังคาร 5. ดาวเสาร์ 6. ดาวยูเรนัส 7. ดวงจันทร์ 8. ดาวเนปจูน 9. ดาวพฤหัสบดี
ดาวทั้งหมดนี้เป็นดาวในระบบสุริยะ (solar system) ดังนั้นจึงทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดบรมนิวาสมีความสำคัญอย่างมากคือ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปดาวในระบบสุริยะครั้งแรกของไทย
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และยังมีปัญหาบางอย่างเช่น ไม่มีดาวศุกร์ ซึ่งเป็นดาวที่สว่างมากอันดับ 3 รองจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
รายละเอียดข้อมูลและภาพประกอบเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากบทความเรื่อง “จุดเปลี่ยนจักรวาล ภาพจิตรกรรมฝาผนังระบบสุริยะแห่งแรกของไทยในโบสถ์วัดบรมนิวาส” โดย พงศธร กิจเวช ตามลิงก์แรกที่ปักหมุดไว้ใน Facebook Page คนดูดาว stargazer
อ่านออนไลน์ นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 123 เดือนกรกฎาคม 2566
คอลัมน์เปิดโลกดาราศาสตร์ หน้า 43-47