นาโนเทค ร่วมกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีนดูดซึมทางเหงือกและเกาะติดเยื่อเมือกแบบแช่ แก้ปัญหาโรคระบาดและควบคุมโรคติดเชื้อในปลานิล ลดการใช้ยาและสารเคมี ช่วยเพิ่มมูลค่าแก่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทย
ปลานิล เป็นปลาที่ประชาชนนิยมบริโภคกันเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สำคัญของไทย แต่ปัญหาที่พบก็คือ การเกิดโรคติดเชื้อในปลานิล ซึ่งที่ผ่านมาแก้ปัญหาด้วยวิธีฉีดยาแก่ปลาทีละตัว ซึ่งก่อความยุ่งยาก เพราะต้องใช้เวลาและแรงงานไม่น้อย อีกทั้งมีต้นทุนสูง
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมมือกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีน ในรูปของอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติดูดซึมทางเหงือกและเกาะติดเยื่อเมือก ทดแทนการฉีดแบบเดิม ซึ่งนับว่าได้ผลดี นาโนวัคซีนสามารถควบคุมโรคติดเชื้อในปลานิลได้ดี แก้ปัญหาโรคระบาดในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลานิล โดยใช้ได้กับปลานิลทุกขนาด ครั้งละจำนวนมาก ทำให้ใช้ต้นทุนต่ำ ประหยัดเวลาและแรงงาน อีกทั้งช่วยให้ปลาแข็งแรง ลดการใช้ยาและสารเคมี ได้เนื้อปลาที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงปลาและผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ ได้มีการทดสอบแล้วที่ณันต์ธชัยฟาร์ม อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เปิดเผยว่า งานวิจัยนาโนวัคซีนแบบแช่ มีโจทย์มาจากผู้ประกอบการที่ต้องการวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดที่สร้างความเสียหายร้ายแรงกับปลานิลเศรษฐกิจ โดยทีมวิจัยได้ทำการออกแบบ สังเคราะห์นาโนวัคซีนและลงมือศึกษาความเป็นไปได้ในการป้องกันโรคในปลานิลทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับภาคสนาม ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จ ทำให้ได้นาโนวัคซีนแบบดูดซึมทางเหงือกและเกาะติดเยื่อเมือก เพื่อใช้ในการให้วัคซีนแบบแช่ สามารถใช้ได้กับปลาทุกขนาดและครั้งละจำนวนมาก เมื่อเทียบกับวิธีแบบเดิมที่ใช้ฉีดด้วยเข็มทีละตัวทั้งบ่อ ซึ่งวิธีใหม่นี้จะมีต้นทุนที่ต่ำ ประหยัดเวลา และแรงงานมาก โดยงานวิจัยนี้สามารถขยายผลและต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณประโยชน์ได้ เพื่อลดความเสียหายจากการเกิดโรคระบาดในปลานิล โดยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของปลาต่อโรค และลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะเชื้อดื้อยาอีกด้วย
ผศ. น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้าน ผศ. น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาวัคซีนแบบแช่ในปลาเริ่มต้นจากการพยายามหาวิธีการที่สามารถให้วัคซีนปลาได้แบบง่ายๆ เนื่องจากวิธีการฉีดแบบเดิมค่อนข้างยุ่งยาก จำเป็นต้องวางยาสลบปลาและจับปลามาฉีดวัคซีนทีละตัว ปลาค่อนข้างเครียดและบอบช้ำ ทำให้การทำวัคซีนแบบนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร จึงได้หันมาให้ความสนใจกับการแช่ปลาด้วยแอนติเจนของเชื้อที่เคลือบไว้ด้วยอนุภาคนาโนที่สามารถเกาะติดกับเยื่อเมือกของปลาได้ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ปลาได้เป็นอย่างดี เพราะปลามีระบบภูมิคุ้มกันแบบเยื่อเมือกอยู่หลายแห่งทั่วร่างกาย นับว่านาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาวัคซีนได้หลายชนิด จึงเกิดการทำวิจัยร่วมกันระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ นาโนเทค สวทช. ตามโจทย์และสมมุติฐานที่ตั้งขึ้น เพื่อให้ได้วัคซีนนาโนต้นแบบที่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการได้ด้วยนาโนเทคโนโลยี จนปัจจุบันมีผลงานทางวิชาการทั้งอนุสิทธิบัตรและผลงานวิจัยตีพิมพ์ร่วมกัน
“จากการเริ่มต้นที่การผลิตวัคซีนต้นแบบจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเหงือกเน่าในปลานิลหรือโรคคอลัมนาริส ต่อไปคิดว่าจะมีการยกระดับการผลิต (Up scale) ไปสู่เชิงพาณิชย์ (Commercial scale) โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชน นอกจากนี้ ก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆ ในปลานิลด้วยนาโนเทคโนโลยี เช่น วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในกระแสโลหิตจากเชื้อ Aeromonas วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ Franciscella วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในกระแสโลหิตจากเชื้อ Edwardsiella เป็นต้น รวมถึงยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดไปพัฒนาวัคซีนในปลาอื่นๆ ด้วย เช่น ปลากระพง ปลาเก๋า และปลาคาร์ฟ” ผศ. น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว
นายธีระชัย นาคเกิด เจ้าของณันต์ธชัยฟาร์ม
ขณะที่ นายธีระชัย นาคเกิด เจ้าของณันต์ธชัยฟาร์ม เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้เพาะเลี้ยงปลานิล ใน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ณันต์ธชัยฟาร์มทำการเพาะเลี้ยงปลานิลเป็นหลัก โดยเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป พร้อมทั้งจำหน่ายปลาเนื้อทั้งขายส่งตลาดและขายปลีกบางส่วน ในฐานะเกษตรกรคนรุ่นใหม่ เห็นว่า การใช้นวัตกรรมนาโนหรือเทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญ เช่น งานวิจัยนาโนวัคซีน เพราะในปัจจุบันการเลี้ยงปลายังไม่มีการใช้วัคซีนกันอย่างแพร่หลาย คงใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะกันอยู่ ส่งผลต่อสุขภาพปลาเนื้อและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้วัคซีนดังกล่าวจะช่วยให้ปลาแข็งแรง ลดการใช้ยาและสารเคมีได้ ทำให้อัตราจำนวนปลาเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยง และที่สำคัญได้เนื้อปลาที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงปลาและผู้บริโภคปลาโดยตรง