วิจัยภาวะเลือดออกในถุงน้ำคร่ำเพื่อลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย

สาเหตุส่วนหนึ่งของการคลอดก่อนกำหนด คือ การติดเชื้อและการอักเสบในถุงน้ำคร่ำ การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในถุงน้ำคร่ำแยกจากการติดเชื้อ มีความสำคัญเนื่องจากทำให้สามารถวางแผนการดูแลรักษาและวางแผนการคลอดให้มารดาและทารกปลอดภัย

อาจารย์ ดร. แพทย์หญิงปิยา แช่มสายทอง อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประสบผลสำเร็จจากการศึกษาภาวะเลือดออกในถุงน้ำคร่ำมารดาตั้งครรภ์ในสตรีตั้งครรภ์ที่มาด้วยการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ปากมดลูกสั้น และถุงน้ำคร่ำมีตะกอน

“ถุงน้ำคร่ำ” มีหน้าที่ห่อหุ้มทารกในครรภ์ไม่ให้ได้รับแรงกระแทก อีกทั้งยังประกอบด้วยสารโปรตีนที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ และจำเป็นต่อการทำงานของปอดให้พร้อมทำงานอย่างสมบูรณ์หลังคลอด

โดยปกติน้ำคร่ำมีสีเหลืองใส แต่หากเกิดภาวะติดเชื้อหรือเลือดออก อาจทำให้น้ำคร่ำมีสีขุ่น จนถึงเข้ม การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า ในรายที่มีการติดเชื้อ การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดอาจพบตะกอน (amniotic fluid sludge) หรือปากมดลูกสั้น ซึ่งตะกอนนี้ คือ แบคทีเรียที่จับตัวอยู่ในน้ำคร่ำ ซึ่งทารกสามารถกลืนน้ำคร่ำที่มีแบคทีเรียและส่งผลให้ทารกมีภาวะติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ ดร. แพทย์หญิงปิยา แช่มสายทอง และทีมได้พบว่าก้อนตะกอนนี้สามารถเป็นเลือดได้ โดยปราศจากการติดเชื้อ เนื่องจากได้นำตัวอย่างน้ำคร่ำ และก้อนตะกอนในน้ำคร่ำ มา “ส่องเชื้อ” ประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งทางการตรวจทางจุลชีววิทยา พยาธิวิทยา ระดับโมเลกุล แล้วพบว่า ก้อนตะกอนนี้ คือ เลือดที่ปราศจากการติดเชื้อ

นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้ต่อยอดพัฒนานวัตกรรม “Nanopore” เพื่อใช้ในการตรวจสารพันธุกรรมของแบคทีเรียในน้ำคร่ำ ซึ่งการตรวจวิธีนี้ทำให้สามารถทราบผลได้เร็วกว่าการเพาะเชื้อซึ่งเป็นการตรวจมาตรฐานในปัจจุบัน โดย “Nanopore” สามารถให้ผลเรื่องการติดเชื้อให้ผลได้ภายใน 9 ชั่วโมง ในขณะที่การเพาะเชื้อต้องใช้เวลานานถึง 2 – 3 วัน ซึ่งไม่ทันต่อการวางแผนการรักษามารดาตั้งครรภ์ที่มีอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด

สุดท้ายผู้วิจัยได้กล่าวให้ความเชื่อมั่นแก่มารดาตั้งครรภ์ที่จำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด โดยที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีตู้อบทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่ได้มาตรฐาน สามารถใช้เลี้ยงทารกที่คลอดก่อนกำหนดให้อยู่ในความปลอดภัยได้ต่อไปนานถึง 23 สัปดาห์

ทั้งนี้จะมีการทำงานร่วมมือกันเป็นสหสาขา ทั้งทีมสูติแพทย์ กุมารแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ โดยจุดประสงค์ คือ อยากให้ทารกอยู่ในครรภ์นาน และปลอดภัยที่สุด โดยปราศจากการติดเชื้อ และวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย (individualized medicine)

ผลงานการวิจัยโดยอาจารย์ ดร. แพทย์หญิงปิยา แช่มสายทอง ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Top 1% ของโลก “American Journal of Obstetrics and Gynecology” นับเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจ

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author