เรื่องโดย ธนาคารเมล็ดพรรณพืช ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ
ประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น อุดมไปด้วยพืชพรรณที่หลากหลาย แต่จากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีความแปรปรวนมากขึ้น รวมถึงกิจกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ส่งผลเสียกับธรรมชาติ อาจทำให้ความหลากหลายเหล่านี้สูญหายไปในไม่ช้า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของพรรณพืช การเจริญเติบโต การออกดอก การติดผล และการกระจายพันธุ์ ซึ่งมีผลทำให้เกิดการสูญพันธุ์ไปในที่สุด การเก็บรักษาเมล็ดในระยะยาวเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมของพรรณพืช
ธนาคารเมล็ดพรรณพืช ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ คำนึงถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณในประเทศไทย จึงได้รวบรวมและศึกษาเกี่ยวกับการเก็บรักษาเมล็ดพรรณไม้ในระยะยาว ด้วยการเก็บรักษาเมล็ดภายใต้สภาพเยือกแข็งเพื่อลดอัตราการหายใจและลดกระบวนการทำงานภายในเมล็ด ซึ่งช่วยให้ความเสื่อมของเมล็ดเกิดช้าลง โดยได้ดำเนินการเก็บรักษาเมล็ดด้วยกระบวนการมาตรฐานในการจัดการเมล็ดที่จำเพาะของพรรณพืชแต่ละชนิด ตามโครงสร้าง องค์ประกอบ รวมถึงปริมาณสารเคมีภายในเมล็ดที่ต่างกัน หากวันใดวันหนึ่งมีพรรณพืชบางชนิดสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ เราก็ยังคงมีแหล่งสำรองพันธุกรรมเมล็ด เป็นการสร้างความมั่นคงด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชรูปแบบหนึ่ง
ธนาคารเมล็ดพรรณพืชยังมีการประเมินสถานภาพการอนุรักษ์ของชนิดที่ถูกคุกคามตามหลักเกณฑ์ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เพื่อทราบถึงสถานะความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ และใช้เป็นการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนในการอนุรักษ์ เช่น พรรณพืชที่มีสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ VU (vulnerable) ใกล้สูญพันธุ์ EN (endangered) ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง CR (critically endangered)
นอกจากนี้ยังมีการจำแนกกลุ่มพรรณพืชตามสถานะ ได้แก่ ชนิดหายาก (rare plant) คือชนิดที่มีประชากรขนาดเล็ก ในธรรมชาติมีจำนวนจำกัด ยังไม่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นชนิดใกล้สูญพันธุ์ได้ และชนิดที่มีสถานะเป็นพรรณพืชถิ่นเดียว (endemic plant) คือ ชนิดที่พบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในเขตภูมิศาสตร์เขตใดเขตหนึ่งของโลก และเป็นชนิดที่มีเขตกระจายทางภูมิศาสตร์ค่อนข้างจำกัด ในพื้นที่ที่มีความจำเพาะต่อระบบนิเวศเฉพาะ เพื่อการดำรงอยู่และแพร่กระจายพันธุ์
จากการจัดทำบัญชีรายการพรรณพืชที่ถูกคุกคามในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2560 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าพรรณพืชถิ่นเดียวในประเทศไทยจำนวนมากอยู่ในบัญชีรายการชนิดที่ถูกคุกคาม แบ่งเป็นพรรณพืชถิ่นเดียวที่มีสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) จำนวน 406 ชนิด พรรณพืชถิ่นเดียวที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ (EN) จำนวน 168 ชนิด พรรณพืชถิ่นเดียวที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) จำนวน 24 ชนิด ซึ่งขณะนี้ธนาคารเมล็ดพรรณพืช จัดเก็บพันธุกรรมพรรณพืชถิ่นเดียวในประเทศไทยในรูปแบบธนาคารเมล็ดเพื่อการอนุรักษ์ในระยะยาวไปแล้วมากกว่า 100 ชนิด และมีเป้าหมายที่จะขยายผลในการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมเมล็ดให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรขับเคลื่อนและดำเนินงานรักษาความมั่นคงด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้คงอยู่และใช้ประโยชน์เพื่อคนไทยได้อย่างยั่งยืน
พรรณพืชถิ่นเดียวในประเทศไทยที่น่าสนใจ
ช้องเจ้าฟ้า
Buxus sirindhorniana W. K. Soh, M. von Sternburg, Hodk. & J. Parn.
สถานะ : หายาก
เทียนปีกผีเสื้อ
Impatiens patula Craib
สถานะ : หายาก
ผักอีเปา
Peucedanum siamicum Craib
สถานะ : หายาก
พิษนาศน์ดอยหัวหมด
Sophora huamotensis Mattapha, Suddee & Rueangr.
สถานะ : หายาก
Justicia leucostachya (Bremek.) V. A. W. Graham
สถานะ : มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU)
ชาฤาษีดอยตุง
Paraboea doitungensis Triboun & D.J.Middleton
สถานะ : ใกล้สูญพันธุ์ (EN)
ศรีสยาม
Paraboea siamensis Triboun
สถานะ : ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR)
ชาฤาษีเมืองตาก
Paraboea takensis Triboun
สถานะ : ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR)
เกี่ยวกับธนาคารเมล็ดพรรณพืช (Seed Bank)
ธนาคารเมล็ดพรรณพืช อยู่ภายใต้การดำเนินงานของธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายของพรรณพืชในระยะยาว รวมถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ซึ่งเกิดขึ้นนอกแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (ex situ conservation) โดยดำเนินการจัดเก็บเมล็ดด้วยกระบวนการที่มีมาตรฐาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำสูง วิธีนี้ใช้กับเมล็ดประเภทที่สามารถลดความชื้นให้ต่ำลงได้ หรือที่เรียกว่า “orthodox seed” โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในระดับชาติ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และระดับโลก เช่น ธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งสหัสวรรษ (Millennium Seed Bank Partnership: MSBP)