เทคโนโลยีและนวัตกรรมสิ่งทอสืบสานพระราชปณิธาน สร้างคุณค่า “ผ้าทอพื้นเมือง”

เรื่องโดย กองบรรณาธิการ


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สนพระราชหฤทัยผ้าทอพื้นเมืองของไทยเป็นอย่างยิ่งและทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทย โดยตลอดระยะเวลากว่า 6 ทศวรรษ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงอุทิศกำลังพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจส่งเสริมงานหัตถศิลป์ผ้าทอในท้องถิ่นของไทย เพื่ออนุรักษ์และสืบสานมรดกภูมิปัญญาผ้าทอไทยควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้พสกนิกรไทยสามารถประกอบอาชีพและมีรายได้ด้วยภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสิ่งทอของนักวิจัย สวทช. ให้แก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้า ตลอดจนหน่วยงานด้านสิ่งทอในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และสุรินทร์ รวม 14 กลุ่ม ภายใต้โครงการการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Model พื้นที่นำร่องทุ่งกุลาร้องไห้ (2567-2571) เพื่อเพิ่มคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มของผ้าทอพื้นเมืองตั้งแต่กระบวนการเตรียมเส้นใยด้วยการใช้เอนไซม์เอนอีซ (ENZease) ซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติที่ช่วยทำความสะอาดและลอกแป้งออกจากเส้นใยในขั้นตอนเดียว ทำให้ย้อมสีธรรมชาติได้ดีขึ้น สีสวย สม่ำเสมอ ช่วยลดต้นทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสกัดสีธรรมชาติจากวัสดุและพืชในท้องถิ่น รวมทั้งการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษด้วยนาโนเทคโนโลยี เพื่อป้องกันและลดปัญหาการเสื่อมสภาพของสิ่งทอ และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยคุณสมบัติสะท้อนน้ำ กันรังสียูวี ยับยั้งแบคทีเรีย ให้กลิ่นหอม และสัมผัสนุ่มลื่น


สวทช.ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสิ่งทอให้แก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าในพื้นที่นำร่องทุ่งกุลาร้องไห้

“ผ้าไหมมัดหมี่ลายอุ่มแสง” ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าบ้านอุ่มแสง ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ คือหนึ่งในผลงานหัตถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่เกิดขึ้นจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสิ่งทอของ สวทช.

แสงมณี โคตรเจริญ หรือ แม่แสง ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านอุ่มแสง กล่าวว่า ผ้าไหมมัดหมี่ลายอุ่มแสงได้รับการพัฒนาและออกแบบจาก สวทช. โดยใช้จุดเด่นของ “ใบต้นแสง” พืชอัตลักษณ์ของชุมชนที่ขึ้นอยู่ตามหัวไร่ปลายนารอบหมู่บ้านอุ่มแสง มาสกัดสี (ให้สีเขียวจาง) แล้วนำไปผสมกับสีจากพืชชนิดอื่น ได้แก่ ใบสัก (ให้สีชมพู) เปลือกประดู่ (ให้สีน้ำตาล) ยอป่า (ให้สีเหลือง) และดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ทำให้ได้เฉดสีที่แตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มฯ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า นอกจากนี้ยังใช้เอนไซม์เอนอีซ ทำความสะอาดเส้นไหมก่อนนำไปย้อม ได้เส้นไหมคุณภาพที่พร้อมสอดประสานตามลวดลายที่ออกแบบไว้ อาศัยความเพียรพยายามและใจรักทดลองทอผ้าอยู่หลายผืนจนได้ “ผ้าทอลายอุ่มแสง” ที่สวยสมบูรณ์ และที่สุดแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มฯ คือได้นำ “ผ้าทอลายอุ่มแสง” ทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 19 (NAC2024) เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เอนไซม์เอนอีซเป็นเทคโนโลยีทำความสะอาดเส้นใยผ้าที่ผลิตจากเอนไซม์ธรรมชาติในจุลินทรีย์ ช่วยกำจัดสิ่งสกปรกบนเส้นใยผ้าได้หมดจด ทำให้ผ้าย้อมสีติดง่าย สีสวย สม่ำเสมอ ประหยัดเวลาการเตรียมเส้นไหมสำหรับการย้อมสีได้มากกว่าร้อยละ 50 ช่วยให้ติดสีมากขึ้นและลดระยะเวลาย้อมสีจากเดิม 1 วัน เหลือเพียง 1-2 ชั่วโมง เพิ่มมูลค่าผ้าทอไทยให้คงเสน่ห์ความเป็นธรรมชาติ ปลอดภัยต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ สวทช.ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่สนับสนุนและถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสิ่งทอให้ชุมชนบ้านอุ่มแสงเพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของกลุ่มฯ ให้มีความทันสมัย มีลวดลายอัตลักษณ์ที่ชัดเจน สามารถบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและภูมิปัญญาผ่านการทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติจากดินเหนียวในทุ่งนาที่มีลักษณะพิเศษกว่าพื้นที่อื่นคือติดทนและให้สีสวยงาม มาผสมกับสีจากใบต้นแสง พืชในหัวไร่ปลายนา และสีจากฟางข้าวที่เหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยว จากการพัฒนาทุกกระบวนการตั้งแต่การเตรียมเส้นไหมจนถึงการออกแบบลวดลายสร้างสรรค์ด้วยความประณีตเกิดเป็น “ผ้าทอศรีกุลา” ที่การันตีคุณภาพด้วย “มาตรฐานนกยูงสีทอง”

แต่ก่อนเราก็ทอผ้าตามภูมิปัญญา ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง ทอผ้ากันทุกบ้าน ลายที่ทอก็เป็นลายธรรมดาพื้นบ้าน ใช้สีเคมีย้อมเส้นไหม ทอเสร็จก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ขายก็ไม่มีราคา ขายได้ผืนละ 300-700 บาท เท่านั้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมสิ่งทอจาก สวทช. เข้ามาช่วย ทำให้ทุกคนต่างมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เปิดใจรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้า มีการปลูกพืชให้สีในชุมชนมากขึ้น ซึ่งทุกคนล้วนตระหนักว่า หากนำพืชมาใช้ประโยชน์ก็ต้องปลูกเพื่อทดแทนและอนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไปจากชุมชน มีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น และผ้าไหมของกลุ่มในปัจจุบัน เพิ่มมูลค่าได้ถึง 3,500-4,000 บาทต่อผืน

About Author