NBT พัฒนาโปรแกรม “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์” ลดเสี่ยงสูญพันธุ์ นำร่องอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย”

NBT พัฒนาโปรแกรม “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์” ลดเสี่ยงสูญพันธุ์ นำร่องอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย”

อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 (ท้ายบทความ)

          “ละองหรือละมั่ง (Eld’s deer)” เป็นสัตว์พื้นเมืองของไทย จัดอยู่ในวงศ์กวาง (Cervidae) เป็นกวางขนาดกลาง มีขนตามลำตัวสีน้ำตาลอมแดงไปจนถึงน้ำตาลเข้ม ตัวผู้มีเขาโค้งยาวเรียกว่า ละอง ส่วนตัวเมียไม่มีเขาเรียกว่า ละมั่งแต่โดยทั่วไปแล้วมักมีการเรียกสัตว์ชนิดนี้รวมทั้งเพศผู้และเมียด้วยชื่อเดียวกันว่า “ละมั่ง” ทั้งนี้ละมั่งมี 3 ชนิดย่อย คือ พันธุ์อินเดีย (Rucervus eldii eldii) พันธุ์เมียนมา (Rucervus eldii thamin) และพันธุ์ไทย (Rucervus eldii siamensis) แต่ปัจจุบันด้วยปัญหาการลดลงของที่อยู่อาศัยประกอบกับการล่าเพื่อนำเขาละมั่งมาจำหน่าย ทำให้สถานภาพของละมั่งสายพันธุ์ไทยอยู่ในสถานการณ์วิกฤต IUCN จัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และ CITES จัดให้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1

          สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) และความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาโปรแกรมช่วย “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์” หนุนลดอัตราเสี่ยงการสูญพันธุ์จากปัญหาโรคทางพันธุกรรม โดยเริ่มเดินหน้าสนับสนุนการอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย” แล้ว

 

NBT พัฒนาโปรแกรม “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์” ลดเสี่ยงสูญพันธุ์ นำร่องอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย”
ละองและละมั่งสายพันธุ์ไทย (Rucervus eldii siamensis) ภาพถ่ายโดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

พัฒนา โปรแกรมการเลือกคู่ ฟื้นฟูประชากร ละมั่งไทย

          ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) สวทช. อธิบายว่า ในอดีตละมั่งเคยมีสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติของประเทศไทยแล้ว แต่ด้วยการเพาะเลี้ยงและนำปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ ประกอบกับการเลี้ยงละมั่งในกรงเลี้ยงโดยการดูแลของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้ปัจจุบันในไทยยังคงมีละมั่งทั้งพันธุ์ไทย และลูกผสมพันธุ์ไทยและพันธุ์เมียนมา อาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนประชากรละมั่งพันธุ์ไทยที่เหลือน้อยในระดับวิกฤต ผู้ดูแลจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเรื่องการผสมพันธุ์ เพื่อไม่ให้เกิดการผสมในเครือญาติใกล้ชิด หรือเลือดชิด (Inbreeding) เพราะจะเป็นการเสี่ยงต่อการจับเข้าคู่ของยีนด้อย ซึ่งจะทำให้ละมั่งอ่อนแอลงและมีแนวโน้มสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

          “เพื่อฟื้นฟูประชากรละมั่งพันธุ์ไทยให้กลับมามีสถานภาพปกติอีกครั้ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ละมั่งพันธุ์ไทยที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ โดยร่วมมือกับศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (National Omics Center: NOC) สวทช. ในการถอดรหัสพันธุกรรมของละมั่งในประเทศ และร่วมกับทีมวิจัยจากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมของละมั่งมาวิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์จากความห่างของสายพันธุกรรม

 

NBT พัฒนาโปรแกรม “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์” ลดเสี่ยงสูญพันธุ์ นำร่องอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย”
ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการ NBT สวทช. (กลาง) และทีมวิจัย

 

One for All “ขยายผลโปรแกรมอนุรักษ์ สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์

 

NBT พัฒนาโปรแกรม “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์” ลดเสี่ยงสูญพันธุ์ นำร่องอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย”
ดร.พงศกร วังคำแหง นักวิจัยธนาคารข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ NBT สวทช.

          ดร.พงศกร วังคำแหง นักวิจัยธนาคารข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ NBT สวทช. อธิบายถึงกลไกการทำงานของโปรแกรมว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศในการวิเคราะห์จับคู่รหัสพันธุกรรม (Genotype) ของสิ่งมีชีวิตประมาณ 30,000 ตำแหน่ง แบบเมทริกซ์ (Matrix) หรือการจับคู่ผสมพันธุ์แบบพบกันทุกตัว เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของรหัสพันธุกรรม เพื่อใช้คัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกันมากที่สุด ซึ่งจะช่วยป้องกันการผสมในเครือญาติใกล้ชิดได้ โดยโปรแกรมนี้จะแสดงผลข้อมูลการจับคู่ให้เห็นเป็นเฉดสีจากสีอ่อนไปเข้ม หรือจากความแตกต่างทางพันธุกรรมมากไปถึงความแตกต่างทางพันธุกรรมน้อย เพื่อให้ผู้ดำเนินงานด้านการขยายพันธุ์นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ต่อสะดวก ซึ่งปัจจุบัน NBT ได้พัฒนาโปรแกรมจนเสร็จสิ้นและส่งมอบชุดข้อมูลผลวิเคราะห์การจับคู่ละมั่งพันธุ์ไทยในประเทศให้แก่ผู้ดำเนินงานด้านการผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว และมีแผนการที่จะใช้สนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดอื่น ๆ อาทิ พญาแร้ง เก้งหม้อ ในอนาคตด้วย

 

NBT พัฒนาโปรแกรม “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์” ลดเสี่ยงสูญพันธุ์ นำร่องอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย”
ภาพการแสดงผลของโปรแกรมช่วย “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์” โดยแสดงผลเป็นเฉดสีจากสีอ่อนไปเข้ม หรือจากความแตกต่างทางพันธุกรรมมากไปถึงความแตกต่างทางพันธุกรรมน้อย

 

NBT พัฒนาโปรแกรม “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์” ลดเสี่ยงสูญพันธุ์ นำร่องอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย”
ภาพบรรยากาศการทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High performance computer: HPC) ของ สวทช. ในการประมวลผล

 

          “ทั้งนี้นอกจากการวิเคราะห์ความห่างของรหัสพันธุกรรมแล้ว โปรแกรมที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้ยังสามารถตอบโจทย์การดำเนินงานด้านอนุรักษ์ได้อีก 2 ด้าน ด้านแรกคือ “การวิเคราะห์สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตว่าเป็นพันธุ์แท้หรือลูกผสม” สำหรับใช้ยืนยันจำนวนประชากรและวางแผนการอนุรักษ์ตามสายพันธุ์ และด้านที่สองคือ “การสืบย้อนหาเครือญาติของสิ่งมีชีวิต” ซึ่งแพลตฟอร์มนี้สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงได้ถึง 3 รุ่น (Generations) ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลสายพันธุกรรม (Pedigree) และการสังเกตลักษณะเด่นและด้อยที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น (ที่ปรากฏให้เห็น) เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนผสมพันธุ์รุ่นต่อไป”

          หลังจากนี้ NBT มีแผนดำเนินงานร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโปรแกรมเข้าสู่ระบบขององค์การสวนสัตว์ฯ เพื่อเปิดให้ผู้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และการผสมพันธุ์สัตว์ในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมร่วมกันต่อไปในอนาคต ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโปรแกรมนี้จะไม่เพียงมีส่วนสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์ในไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานในประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย พร้อมกันนี้ NBT ยังเตรียมจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของสัตว์ในการดูแลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ เพื่อสำรองไว้ใช้ในการฟื้นคืนความหลากหลายในอนาคตหากต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤติด้วย” ดร.พงศกร กล่าวทิ้งท้าย

          ด้วยความพร้อมทางด้านบุคลากร งานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน NBT พร้อมดำเนินงานส่งเสริมหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรที่มีค่าและยกระดับเศรษฐกิจชีวภาพของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

          ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ NBT ได้ที่ www.nationalbiobank.in.th หรือติดต่อสอบถามความร่วมมือด้านงานวิจัยหรือติดต่อขอเยี่ยมชมสถานที่ได้ที่อีเมล nbt.pr@54.169.157.213

 

อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 20 พฤษภาคม 2567

ปัจจุบันพร้อมให้บริการเทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์เพิ่มเติมอีก 3 ชนิด คือ พญาแร้ง เก้งหม้อ และเสือลายเมฆ

About Author