ไม่ว่าผู้ใดก็สามารถเป็นเจ้าของสุขภาพที่ดีได้ด้วยตัวเอง เพียงหมั่นดูแลและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม
รองศาสตราจารย์ ดร.ปาหนัน พิชยภิญโญ
อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการนวัตกรรมสื่อสุขภาวะ แอนิเมชันแนวใหม่เพื่อชีวิตคนไทยห่างไกล NCDs
นวัตกรรมสื่อสุขภาวะ แอนิเมชันแนวใหม่เพื่อชีวิตคนไทยห่างไกล NCDs ที่ง่ายต่อการเข้าถึง และใช้ได้จริงอันเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” จาก มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการผนึกกำลังของแพทย์ พยาบาล นักสาธารณสุขสื่อสารสุขภาวะ-พฤติกรรมศาสตร์ และนักเทคโนโลยีสารสนเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร. มลินี สมภพเจริญ
อาจารย์ประจำภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะผู้จัดทำนวัตกรรมสื่อสุขภาวะ สื่อแอนิเมชันแนวใหม่เพื่อชีวิตคนไทยห่างไกล NCDs
รองศาสตราจารย์ ดร. มลินี สมภพเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะแกนนำของคณะผู้จัดทำนวัตกรรมสื่อสุขภาวะ แอนิเมชันแนวใหม่เพื่อชีวิตคนไทยห่างไกล NCDs กล่าวว่า ยุคสมัยของการสร้างแอนิเมชันเพื่อสุขภาวะเช่นปัจจุบัน ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องคอยชี้แนะ โดยเห็นเพียงหลักการ แต่ไม่อาจเห็นผลในเชิงปฏิบัติ
การสร้างแอนิเมชันด้วยการหยิบยกเอาโจทย์ปัญหาสุขภาวะที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันมาสะท้อนให้ประชาชนค่อยๆ ทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง พบว่าเป็นหนทางที่ทำให้เกิดการเข้าถึงสุขภาวะที่จับต้องได้มากกว่า
รองศาสตราจารย์ ดร. มลินี สมภพเจริญ ได้เล่าถึงเบื้องหลังของนวัตกรรมสื่อสุขภาวะ แอนิเมชันแนวใหม่เพื่อชีวิตคนไทยห่างไกล NCDs ว่า เป็นการจัดทำภายใต้การสนับสนุนโดย ทุน Fundamental Fund สนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งเน้นที่การส่งเสริมการป้องกัน NCDs ที่พบจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในโลก 3 อันดับแรก คือ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
โดยในเบื้องต้นได้จัดทำเพื่อประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในวัยทำงาน และวัยเกษียณ ซึ่งมักพบว่าเป็นวัยที่มีปัญหาโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง จากปัญหาพฤติกรรมการกิน-อยู่มากที่สุด พร้อมติดตามได้ทางเว็บไซต์ในปีหน้า
โดยสะท้อนให้เห็นชีวิตคนเมืองในวัยทำงาน ผ่านตัวละครที่เป็นสาวออฟฟิศต้องเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานก่อนวัยอันควร เนื่องจากนิยมดื่มชานมไข่มุกเป็นประจำ และรับประทานผลไม้รสหวานในช่วงเย็นหวังลดหุ่นแบบผิดๆ ในขณะที่ตัวละครฝ่ายชายหลังเลิกงานมักตั้งวงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการสังสรรค์โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้ ยังได้สะท้อนผ่านพฤติกรรมเสี่ยง NCDs ในครอบครัว แม้มีลูกหลานที่มักเอาอกเอาใจพ่อแม่ปู่ย่าตายายด้วยการให้ของโปรดที่เป็นของหวาน แต่ไม่เคร่งครัดเรื่องการไปพบแพทย์ตามนัด ทำให้ต้องขาดยา และรักษาไม่ได้ผล
ก้าวต่อไปคณะผู้จัดทำเตรียมสร้างเฟสต่อไปให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง NDCs มากขึ้น โดยได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ “สื่อสารสุขภาวะอย่างไรให้ปัง” ว่าจะต้องอยู่บนพื้นฐานแห่ง “ความใส่ใจ” (Emphathy) และ “ความรับผิดชอบ” (Responsibility) ภายใต้หลักการ “TCC” T – Trust “การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ” C – Comprehension “ความเข้าถึงง่าย” และ C – Concise “ความกระชับ”
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210