โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์
ชนิดที่ 2 ปลาบู่กุดทิง Neodontobutis aurarmus (Vidthayanon, 1995) ปลาบู่น้อยของพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญ
ครั้งหนึ่งในระหว่างการไปเก็บตัวอย่างที่ตลาดเช้าบึงกาฬกับแขกนักวิจัยญี่ปุ่น Dr. Midori Kobayakawa ก็ได้เจอปลาบู่น้อยนี้ 2-3 ตัว ปนอยู่ในแผงแม่ค้ากุ้งฝอย เลยเก็บตัวอย่างมา เจ้าปลานี้ดูเผินๆ ก็คือลูกปลาบู่นั่นเอง แต่ดีที่ได้ข้อสังเกตจากปรมาจารย์ปลาบู่ของไทย ท่าน อ.ประจิตร วงศ์รัตน์ แห่งคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้นำว่ามันไม่ใช่ลูกปลาบู่นึ่งซีอิ๊วธรรมดานะ มันคล้ายๆ กับปลาที่พบในเอเชียตะวันออกถึงรัสเซียทีเดียว ซึ่งปลาสกุลนี้ไม่เคยพบในเขตร้อนอย่างเรา ใกล้สุดก็่จะมีในจีนหรือเกาหลี
ต่อมาในช่วงที่ผู้เขียนเดินทางกลับประเทศไทยมาเก็บตัวอย่างปลาในภาคอีสานเพื่อทำปริญญาเอกนั้น ก็ยังตามล่าตัวอย่างที่สมบูรณ์กว่าของเจ้าปลาบู่น้อยนี้อยู่ โดยได้กลับไปที่ตลาดเดิมอยู่อีกราว 2-3 ปี ก็คว้าน้ำเหลวทุกครั้งเพราะแม่ค้ากุ้งไม่มาขาย จนครั้งสุดท้ายเจอเจ้าตัวก็เลยถามแหล่งจับกุ้ง ก็พบว่ามันมาจากกุดทิง จึงไปตามจับมาได้สิบกว่าตัวเล็กๆ ซึ่งยังไม่เหมาะในการทำเป็น holotype/type specimens นัก
การลักลอบขนสัตว์ข้ามประเทศเลยเกิดขึ้น โดยปนมันไปในขวดที่มีพืชน้ำ พอถึงด่านศุลกากรที่นาริตะ ก็สำแดงว่าเป็นพืชน้ำจะเอาไปใส่ตู้ที่ Tosuidai (Tokyo University of Fisheries) จ้า เจ้าหน้าที่ต้องเปิดค้นตำราพักนึงว่ามันเป็น Invasive alien specie (ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน) ต้องห้ามไหม ซึ่งข้าพเจ้ารู้อยู่แล้วว่าไม่เป็น (อิๆ ทำการบ้านมาก่อน) เจ้าปลาเลยได้มาพักที่แล็บได้ร่วมปีจนโตเต็มที่และจับคู่วางไข่อีก จึงจับมันมาถ่ายรูป/วาดทำ holotype
แต่ตัวอย่างชนิดเปรียบเทียบของเจ้าปลาบู่น้อยนี่ก็หาไม่ได้ง่ายนัก เพราะเป็นปลาของเขตหนาวในจีน รัสเซีย มองโกเลีย เกาหลี โชคดีที่ตอนเอาข้อมูลไปเสนอในการประชุมประจำปีสมาคมมีนวิทยาญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงร่วมฟังและพระราชทานข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มากมาย และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปใช้ตัวอย่างของแล็บในพระราชวังอิมพีเรียลที่มีปลาบู่เกือบทุกสกุลของโลกอีกด้วย
จากข้อคิดเห็น (พระราชวินิจฉัย) ดังกล่าวจึงใช้ชื่อสกุลว่า Odontobutis เหมือนกับที่พบใน จีน เกาหลี และญี่ปุน และตั้งชื่อชนิดว่า aurarmus ก็คือ แขน (รักแร้) สีทอง ตีพิมพ์ใน J. of Ichthyological Exploration of Freshwater แต่ภายหลังมีการวิเคราะด้วย DNA โดย Chen, Kottelat & Wu 2002 ก็พบว่ามันเป็นคนละสกุลกัน จึงมีชื่อสกุลใหม่ว่า Neodontobutis
เดิมคิดว่าปลาบู่กุดทิงพบเฉพาะในประเทศไทย แต่ต่อมาก็พบว่ามันกระจายพันธุ์ในหนองบึงที่สภาพดีเท่านั้น จึงพบได้ทั่วลุ่มน้ำโขงทั้งไทย ลาว และกัมพูชา