เรื่องและภาพโดย “ไอซี” วริศา ใจดี
กลับมาอีกแล้วกับสาระวิทย์ในศิลป์ฉบับการ์ตูน ก่อนที่เราจะไปอ่านต่อว่าเขาตรวจจับนิวทริโนกันอย่างไรนั้น ฉันขอเล่าความเป็นมาที่ฉันได้รู้จักกับเจ้านิวทริโนสักหน่อย เนื่องจากนิวทริโนเป็นอนุภาคที่อยู่รอบตัวเรา หากแต่น้อยคนมากที่จะรู้จักมัน เหมือนว่าใกล้หากแต่ห่างไกลยิ่งนัก ฉันเองก็เคยคิดเช่นนั้น และที่ฉันจับปากกาขึ้นมาวาดการ์ตูนเจ้านิวทริโน ก็เพราะต้องการรู้จักมันให้มากยิ่งขึ้น
ฉันเริ่มสนใจเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนอยู่มัธยมศึกษาตอนปลาย ตอนที่ฉันค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับสสารมืด หรือ dark matter เพื่อทำรายงานส่งอาจารย์ อ่านไปเขียนไปก็ยิ่งสนุก และก็ได้เรียนรู้ว่าการไขข้อสงสัยเกี่ยวกับจักรวาลอันยิ่งใหญ่ไพศาลสามารถอธิบายได้ด้วยการศึกษาอนุภาคที่เล็กกระจิ๋วหลิว
พอเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยปี 1 ฉันจึงเริ่มเข้าร่วมทำงานวิจัยในสาขานี้กับทางมหาวิทยาลัย ทำให้ได้รู้จักกับเจ้านิวทริโนเป็นครั้งแรก และในปีต่อมาก็ได้ทำความคุ้นเคยกับมันด้วยการได้รับโอกาสเข้าไปฝึกงานกับทางห้องปฏิบัติการเครื่องเร่งอนุภาคระดับชาติแฟร์มีแล็บ (Fermi National Accelerator Laboratory: Fermilab) ซึ่งเป็นแหล่งรวมอุปกรณ์และงานวิจัยเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคโดยเฉพาะ ตั้งอยู่ที่รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก ๆ และฉันก็ทำต่อในปีการศึกษาถัดมา จนในที่สุดเจ้านิวทริโนได้กลายเป็นหัวข้องานวิทยานิพนธ์ในการเรียนปี 4 ของฉัน ใช่แล้ว ! ฉันจะเรียนจบหรือไม่อยู่ในกำมือของเจ้านิวทริโนตัวจิ๋วเหล่านี้ เส้นทางยังอีกยาวไกลนัก ขอให้เพื่อน ๆ นักอ่านติดตามตอนต่อไป อาจเอื่อยเฉื่อย หรือรวบรัดบ้าง แต่ฉันจะบอกเล่าเท่าที่จะทำได้ และต้องขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก Short-Baseline Near Detector, Fermilab