ม.มหิดล จัดประกวดออกแบบพัฒนา “ตลาดศาลายาแนวใหม่” รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน

          โลกในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและเต็มไปด้วยการแข่งขัน หากไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ แต่ปล่อยให้ชีวิตผ่านไปวันๆ คงไม่ทันการ

          จะเป็นอย่างไร เมื่ออนาคตมาเคาะประตูบ้าน แต่คนในบ้านยังไม่พร้อมเปิดรับ เช่นเดียวกับการวางผังเมืองในโลกยุคใหม่ที่ทุกคนบนโลกจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรแต่เท่าที่จำเป็นเพื่อให้โลกคงอยู่ต่อไปได้ จึงต้องมีการวางระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาดมารองรับเพื่อการลดมลพิษ แต่คนในบ้าน หรือชุมชนยังไม่พร้อม อนาคตก็คงไม่มีวันเกิด

          รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน-ศาลายา เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ทุกคนในชุมชนเฝ้ารอ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า จะด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้โลกแทบหยุดหมุน หรือปัจจัยใดๆ ก็ตาม ไม่สำคัญเท่าการได้เห็นว่าคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมเตรียมพร้อมเพื่อให้อนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้เป็นไปในทิศทางใด

          นับเป็นครั้งแรกที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับภาคส่วนเอกชนในชุมชน ซึ่งได้แก่ ตลาดศาลายา และพื้นที่โดยรอบซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาให้เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน-ศาลายาในอนาคต จัดกิจกรรมการประกวดแนวคิดการออกแบบเมือง หัวข้อ “ตลาดศาลายายุคใหม่ เชื่อมต่อรถไฟฟ้า เพื่อชุมชนน่าอยู่และการท่องเที่ยวยั่งยืน” โดยหวังให้เกิดแรงกระเพื่อมสู่การมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวของคนในชุมชนศาลายา ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดลในส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่จะเป็น “ผู้ใช้ตัวจริง” ต่อไป

          รองศาสตราจารย์ ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในแกนนำผู้ริเริ่มจัดกิจกรรมการประกวดแนวคิดการออกแบบเมือง หัวข้อ “ตลาดศาลายายุคใหม่ เชื่อมต่อรถไฟฟ้า เพื่อชุมชนน่าอยู่และการท่องเที่ยวยั่งยืน” ในครั้งนี้ กล่าวว่า โครงการจัดประกวดดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการดำเนินงานวิจัยของทีมฯ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางรองรับการขยายตัวของเมือง ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ.2559 ด้วยทุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และปี 2563 ด้วยทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

          โดยได้มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการระดมความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง จนมาในปีนี้ได้ริเริ่มจัดประกวดเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อการแสดงความคิดเห็นออกแบบพื้นที่ดังกล่าว

          การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทำให้เมืองมีความเป็นเมืองมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรลืมเรื่องสิ่งแวดล้อม และรากเหง้าของชุมชน ซึ่งทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้

          “ตลาดศาลายา” เป็นธุรกิจท้องถิ่นซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานอยู่คู่ชุมชน โดยในอดีตเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของการขนส่งทางเรือสู่รถไฟ เมื่อต่อไปในอนาคตจะได้รับการพัฒนาต่อยอดเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า

          จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า จะทำอย่างไรให้ “ตลาดศาลายา” ซึ่งเป็น “ลมหายใจ” ของท้องถิ่นยังคงอยู่รอดต่อไปอย่างยั่งยืน

          ติดตามรายละเอียด และส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ตั้งแต่บัดนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2565 ทาง Facebook: Mahidolrail

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author